กรมการแพทย์ย้ำ! ขั้นตอนเข้าสู่กระบวนการรักษาโควิด-19 หากตรวจ ATK เป็นบวก เข้าระบบรักษาได้ทันทีตามประเมินอาการ ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR สามารถเข้าระบบรพ.รัฐ และเอกชนที่ร่วมมือ ชี้หากตรวจ ATK เป็นบวกโทร 1330 หากไม่ติดแอดไลน์หรือเว็บไซต์ สปสช. หากในกทม.โทรสำนักงานเขต 50 เขต ส่วนตจว.มีเบอร์เฉพาะพื้นที่ แต่หากอาการรุนแรงฉุกเฉินโทร 1669 ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์และการบริหารจัดการเตียงในกทม. กล่าวว่า ข้อมูล 1 เดือนที่ผ่านมามีผู้ป่วยโควิดที่รักษาใน รพ.ทั้งหมดกว่า 1.6 แสนราย โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 2 เท่า อย่างไรก็ตาม แต่เตียงรองรับยังเพียงพอ ประกอบกับมีการปรับระบบการรักษา หากไม่มีอาการสามารถเข้ารักษาในระบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) ส่วนมีอาการหรือมีความจำเป็นต้องเข้ารพ. ก็มีเตียงรองรับ
"ขณะนี้ความสามารถรองรับผู้ป่วยโควิดที่ HI ในกรุงเทพมหานครนั้น ทุกสังกัดมีศักยภาพรับใหม่วันละ 5,540 ราย โดยผู้ป่วยสะสมทุกสังกัดกว่า 4.3 หมื่นรายต่อวัน ส่วนศูนย์พักคอยหรือ CI มีจำนวน 31 เตียง มีเตียง 3,981 เตียง ครองเตียงแล้ว 1,717 ราย ยังเหลืออีก 2,065 เตียง ที่สำคัญอยู่ระหว่างเตรียมเปิดอีก 9 แห่งจำนวน 970 เตียง" นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สถานการณ์โควิด19 ล่าสุดเตือนภัยระดับ 4 ยังพบ "ผู้สูงอายุ - โรคประจำตัว" อาการรุนแรงเสียชีวิต)
นพ.ณัฐพงศ์ ยังย้้ำกรณีแนวทางการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล ว่า ระบบกระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้ว่า หากสงสัยติดเชื้อ และมีอาการหนักโทร. 1669 หากอยู่กทม.ก็จะติดที่ศูนย์กทม. ถ้าต่างจังหวัดก็จะมีศูนย์ต่างจังหวัด แต่หากไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย หากไปตรวจที่รพ. ผลเป็นบวก ทางรพ.จะประสานระบบรักษาให้ แต่หากตรวจ ATK ที่บ้าน หากผลเป็นบวกให้ติดต่อ 1330 ซึ่งสปสช.เพิ่มคู่สาย 1,000 คู่สาย และยังสามารถติดต่อ Line@ สปสช. กรอกข้อความ ทิ้งเบอร์ไว้จะมีผู้ติดต่อกลับไป หรือผ่านเว็บไซต์สปสช. จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อภายใน 6 ชั่วโมง หากประเมินอาการสามารถรักษา HI ก็จะเข้าสู่ระบบ มีทีมแพทย์ติดตามอาการตลอด มีอาหารส่งให้ 3 มื้อ หากไม่สามารถอยู่ HI ก็จะส่งไปยังศูนย์พักคอย CI ได้ แต่หากอาการหนักก็จะมีทีมนำส่งรพ. ขอให้มั่นใจระบบการรักษาไม่ว่าจะเป็น HI หรือ CI มีมาตรฐานทางการแพทย์หมด
"ที่สำคัญหากตรวจ ATK เป็นบวก ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ สามารถเข้าสู่ระบบบริการของภาครัฐ และเอกชนที่ร่วมมือได้ จึงไม่ต้องไปตรวจ RT-PCR ยกเว้นไปตรวจโรงพยาบาล ที่เรียกว่า ARI Clinic บางรายเท่านั้นที่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR แต่ส่วนใหญ่ไม่ต้อง" รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
สำหรับเบอร์ติดต่อผู้ป่วยโควิดในกรุงเทพฯ มีสายด่วน 1330 หากมีอาการฉุกเฉินโทรสายด่วน 1669 ขณะเดียวกันสำนักงานเขตกทม.ทั้ง 50 เขตมีเบอร์ติดต่ออีกเช่นกัน ซึ่งโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนต่างจังหวัดจะมีเบอร์เฉพาะ แต่สามารถยึดเบอร์โทร 1330 ได้เช่นกัน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 4920 views