กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ ยึดประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก วัคซีนทุกชนิดและทุกสูตรที่ฉีดให้กับประชาชนผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก อย.ประเทศผู้ผลิต อย.ไทย และมีผลการศึกษายืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย
วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2565) ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน รัฐสภา กทม. นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิงวค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวชี้แจงกรณีข้อสงสัยประสิทธิภาพของวัคซีนที่นำมาใช้ในเด็ก
โดยนายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากการอภิปรายเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีบางประเด็นที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจนอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้ารับวัคซีนของประชาชนได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประเทศไทยเป็นไปบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ โดยยึดประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ
ด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 2564 และถึงขณะนี้เราฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 120 ล้านโดส โดยส่วนหนึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการบริจาคจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน บริจาควัคซีนซิโนแวค จำนวน 3 ล้านโดส ประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีใต้ เยอรมัน ที่บริจาควัคซีนแอสตร้าเซเนก้า รวมจำนวน 3 ล้านโดส และประเทศสหรัฐอเมริกา ไอซ์แลนด์ ที่บริจาควัคซีนไฟเซอร์ ประมาณ 1.6 ล้านโดส และประเทศสหรัฐอเมริกายังได้บริจาควัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 1 ล้านโดสและประเทศฝรั่งเศสจะบริจาควัคซีนให้เพิ่มอีก
ซึ่งจากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา คาดประมาณว่า การฉีดวัคซีนของประเทศไทย ช่วยลดการเสียชีวิตของประชาชนได้กว่า 25,000 คน ในช่วงการระบาดหนักตั้งแต่ช่วงเมษายนจนถึงปลายปี 2564 อีกทั้งช่วยลดการป่วยหนักและลดการเข้า รพ. กว่า 100,000 คน ทั้งนี้ วัคซีนทุกชนิดที่กระทรวงสาธารณสุขนำมาฉีด ให้กับประชาชน ต้องผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศผู้ผลิต รวมถึง อย.ไทย โดยคำนึงถึง 1) ความปลอดภัย
ซึ่งจากการติดตามการให้วัคซีนซิโนแวคในเด็กประมาณ 235 ล้านโดส พบผลข้างเคียงไม่รุนแรงเพียง 1.9 หมื่นราย และเป็นอาการข้างเคียงเล็กน้อยที่หายได้เอง ส่วนวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ก็พบว่ามีความปลอดภัยเช่นกัน 2)ประสิทธิภาพ จากการศึกษาวิจัยการสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนในห้องปฏิบัติการและการศึกษาประสิทธิผลจากการใช้ในสถานการณ์จริงในไทย พบว่า วัคซีนทุกชนิดที่ไทยใช้ รวมถึงวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพดี โดยเฉพาะในสายพันธุ์ที่ระบาดในช่วงต้นปี 2564 ที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนในไทย
สำหรับวัคซีนสูตรไขว้ได้มีการทบทวนและพิจารณาข้อมูลทางวิชาการจากผลการศึกษาต่าง ๆ ทั้งการศึกษาวิจัยของต่างประเทศ, ในประเทศ, การใช้จริงในพื้นที่และการศึกษาโดยคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ที่ศึกษาการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ในเด็ก อายุ 12-17 ปี พบว่าระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสูงกว่าการฉีดวัคซีนสูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม นอกจากนี้ การใช้วัคซีนสูตรไขว้ โดยเริ่มจากวัคซีนเชื้อตาย ยังมีข้อดีคือ เป็นการปูพื้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันก่อน เมื่อตามด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น จะเร่งภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับสูงและสามารถฉีดครบโดสได้เร็ว 4 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับวิธีฉีดปกติที่ต้องใช้เวลา 8 สัปดาห์
“ประเทศไทย มีการจัดหาวัคซีนที่เพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ เพราะเป็นการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะหากเกิดการระบาดขึ้น และวัคซีนที่จัดหาได้นำไปฉีดให้กับประชาชนทุกคนอย่างคุ้มค่า ไม่มีวัคซีนเหลือทิ้งและยังสามารถบริจาควัคซีนให้กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ที่ขาดแคลนวัคซีน เพื่อให้ทุกคนบนโลกปลอดภัย หากท่านใดยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือฉีดครบ 2 เข็ม เกิน 3 เดือนแล้ว ขอให้ไปรับวัคซีนได้ ณ สถานพยาบาลของรัฐรวมถึง รพ.สต.ใกล้บ้าน” นายแพทย์โอภาส กล่าว
ด้านนายแพทย์ไพศาล กล่าวว่า อย.ยืนยันวัคซีนซิโนแวคในเด็ก 6-17 ปี มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดในกลุ่มเด็ก อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการ ซึ่งวัคซีนโควิดในเด็กทุกชนิดจะอ้างอิงการศึกษาที่เก็บในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า สำหรับข้อมูลด้านความปลอดภัย พิจารณาจากผลการใช้จริงในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 235 ล้านโดสในประเทศจีน โดยจากการติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้วัคซีน
โดยกรมควบคุมโรคของประเทศจีน ในกลุ่มเด็ก 3-17 ปี ในช่วงเดือน พฤษภาคม – ธันวาคม 2564 พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ การแพ้รุนแรง เป็นต้น ประมาณ 0.071 รายต่อผู้ใช้ 1 แสนราย ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ไม่รุนแรง ได้แก่ ปวดบวมที่ฉีด ไข้ เป็นต้น พบประมาณ 10 รายต่อผู้ใช้ 1 แสนราย
สำหรับข้อมูลด้านประสิทธิภาพ จากการศึกษาโดยกระทรวงสาธารณสุขชิลี ในการฉีดวัคซีนซิโนแวคในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปจำนวน 1.9 ล้านคน ช่วงเดือน กันยายน – ธันวาคม 2564 สามารถลดการติดเชื้อได้ถึง 74% ลดการเข้าโรงพยาบาล 90% ลดการเข้าไอซียู และลดการเสียชีวิตได้ถึง 100% สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงพิจารณาให้มีการให้วัคซีนซิโนแวคในเด็กอายุ 6-17 ปีได้
ด้านนายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า ช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ใช้กลไกการประกาศเป็นโรคฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ทั้งในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน แต่ขณะนี้เป็นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง รวมถึงมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มสีเขียวสามารถรักษาที่บ้านได้ กระทรวงสาธารณสุขได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นชอบตรงกันให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ยังคงได้รับการรักษาฟรี
เมื่อรักษาในโรงพยาบาลรักษาตามสิทธิที่มีอยู่เดิม ได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ รวมถึงกองทุนต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมากขึ้น ต้องใช้ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจ ได้เตรียมออกประกาศกำหนดให้เป็นสิทธิ UCEP PLUS มีผล 1 มีนาคมนี้เช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถรักษาฟรีได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งการปรับให้ผู้ป่วยโควิด 19 รักษาฟรีตามสิทธิที่มีอยู่เดิมจะทำให้ระบบสามารถกลับมาให้บริการผู้ป่วยอื่น ๆ ได้ตามปกติและมีประสิทธิภาพ
- 54 views