ประธานราชวิทยาลัยสูติฯ ตั้งทีมเชี่ยวชาญศึกษาการรักษาผู้มีบุตรยาก ควรจัดชุดสิทธิประโยชน์ใดในการรักษาให้เหมาะสม   ขณะที่หมอสูติฯ ศิริราช แนะ 3 แนวทางหนุนคนอยากมีลูก เปิดสถานเลี้ยงเด็กอ่อนเสริมพ่อแม่วัยทำงาน รัฐช่วยจ่าย “คนละครึ่ง” ค่าของใช้เด็กอ่อน ลดภาษีจูงใจ 

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565  ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดทำรายละเอียดแนวทางการทำหัตถการเพื่อรักษาโรคมีบุตรยาก เพื่อส่งเสริมการเกิดในประเทศไทย แก้วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อย ว่า  จากนโยบายดังกล่าว ล่าสุดจึงมีการตั้งกรรมการที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช และพิจารณาว่าควรจัดการรักษาผู้มีบุตรยากอะไรบ้างให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์การรักษาโรค ซึ่งมีตั้งแต่ขั้นตอนง่ายๆ ไปจนถึงขั้นตอนที่ยุ่งยาก โดยจะมีความสัมพันธ์กับเรื่องของค่าใช้จ่ายในแต่ละรายการด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการรักษาผู้มีบุตรยาก 100 คน จะสำเร็จประมาณ 30 คน ขณะที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงตั้งแต่หลักแสนบาท ไปจนถึงหลักล้านบาท

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์

ด้าน รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ อาจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การรักษาโรคมีบุตรยากอาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มอัตราการเกิด เพราะคนที่มีปัญหานี้มีประมาณ 10-15% เท่านั้น ขณะที่ค่ารักษาโรคมีบุตรยากนั้นอยู่ที่ว่าจะรักษาอะไร บางอย่างค่ารักษาไม่สูง เช่น การให้ยากระตุ้นการตกไข่ การฉีดอสุจิผสมเทียม เป็นต้น แต่หากใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น เด็กหลอดแก้ว จะมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% อีกทั้งสถานพยาบาลที่ทำเด็กหลอดแก้วยังมีน้อย ส่วนใหญ่กระจุกตัวในกทม. และจังหวัดใหญ่เท่านั้น ที่สำคัญคือ 90 % เป็นสถานพยาบาลเอกชน

จึงต้องทบทวนว่าจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นตามอายุของผู้หญิงที่เข้ามารับการรักษา ตรงกันข้ามอัตราความสำเร็จก็จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 30 ปี โอกาสสำเร็จมากกว่า 50 % แต่หากอายุ 40 ปี โอกาสสำเร็จไม่ถึง 5-10 % ดังนั้น ต้องคำนวณว่าการได้เด็ก 1 คน จากการทำเด็กหลอดแก้วนั้นจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งในประเทศอิสราเอลมีการศึกษาพบว่าเด็กที่เกิดจากเด็กหลอดแก้ว 1 คน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาท แล้วประเทศไทยก็ต้องถามว่าเราต้องการเด็กหลอดแก้วจำนวนเท่าไหร่ที่จะเพียงพอต่อการเพิ่มอัตราการเกิด ดังนั้นต้องมีการคิดอย่างรอบคอบ เพราะเป็นการลงทุนที่สูง ที่สำคัญคือเข้าได้กับบริบทของประเทศไทยหรือไม่   

ดังนั้น ต้องมามองว่าปัญหาจริงๆ ของการเกิดน้อยในประเทศไทยอยู่ที่ตรงไหน แต่ปัญหาที่ทำให้เด็กเกิดน้อย คือเรื่องค่านิยมที่ไม่อยากมีลูก ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหามีลูกยากเลย ดังนั้น หากต้องการให้เกิดพลัง และสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องมาดูว่าคนเหล่านี้ไม่พร้อมมีลูกเพราะอะไรแล้วเข้าไปให้การส่งเสริม ช่วยเหลือ เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการเกิดในประเทศไทยได้ ส่วนการมีลูกยากก็เป็นเพราะว่าไม่พร้อมจะมีลูกในวัยที่สมควร เช่น วัย 20-30 ปี ที่เป็นวัยที่มีความพร้อมทางด้านร่างกายมากที่สุด แต่กว่าจะพร้อมมีลูกจริงๆ เมื่ออายุ 39-40 ปี ขึ้นไป จึงเป็นปัญหาสะสมเรื้อรัง

รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์

รศ.นพ.สุภักดี กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้น ต้องปรับค่านิยมให้เริ่มคิดมีครอบครัวที่สมบูรณ์ในวัยที่เหมาะสม 30 ปี ต้นๆ ขณะเดียวกันภาครัฐ และเอกชนต้องสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ พร้อมจะมีลูกในวัยเหมาะสม เช่นที่ตนอยากเสนอคือ 1. สร้างสถานเลี้ยงเด็กให้เพียงพอ และมีคุณภาพ ไว้ใจได้ เพื่อให้สามารถพาลูกมาฝากเลี้ยงในช่วงเวลาทำงานได้ นี่จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า 2. ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งของใช้เด็กปัจจุบันมีราคาแพงมาก ไม่ว่าจะเป็นนม เสื้อผาเด็กอ่อน และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้หากมีการสนับสนุน เช่น นโยบายคนละครึ่ง ค่านมคนละครึ่ง ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปคนละครึ่ง ของใช้เด็กอ่อนคนละครึ่ง เพื่อแบ่งบาภาระทำให้คนอยากจะมีลูกมากขึ้น เป็นต้น 3. จูงใจด้วยนโยบายลด หรือละเว้นภาษีสำหรับคนที่มีลูกในช่วงอายุที่เหมาะสม ต่อเนื่องกี่ปี หรือมีสิทธิพิเศษสำหรับคนมีลูกเล็ก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายโรงเรียนอนุบาลเอกชนแพงมากหากมีโรงเรียนอนุบาลของรัฐที่มีคุณภาพ จะทำให้คนไม่ต้องเสียเงินพาลูกเข้าโรงเรียนเอกชนราคาแพง

“การลดภาระในการมีลูกนั้นจะเป็นการกระตุ้น ส่งเสริมอัตราการเกิดในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน ส่วนการรักษาโรคมีบุตรยากนั้นยังต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่า บริบทประเทศไทยพร้อมที่จะลงทุนหรือไม่ สถานพยาบาลสามารถรองรับได้มากแค่ไหน แล้วจริงๆ คนที่รักษาภาวะมีลูกยาก ส่วนหนึ่งมีฐานะที่จะซับพอร์ตตรงนี้ได้อยู่แล้ว” รศ.นพ.สุภักดี กล่าว 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org