สูตินรีแพทย์ เตือนคนอยากมีลูกหยุดสูบบุหรี่ เหตุเสี่ยงเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งคุณภาพอสุจิแลไข่ เผยปัญหาการมีบุตรยากพบราว 10% ของคู่สมรส ส่วนใหญ่เป็นสาเหตุกายภาพ โดย 50% มาจากผู้หญิง เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ ไข่ไม่ตกบ้าง ฯลฯ อีก 50% มาจากผู้ชาย เช่น น้ำเชื้อไม่ดี ฯลฯ ล่าสุดคณะกรรมการวิชาการ ในบอร์ดอนามัยการเจริญพันธุ์เตรียมพิจารณรายละเอียดรักษาผู้มีบุตรยาก
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงบุหรี่ไฟฟ้ากับผลกระทบต่อการเจริญพันธุ์หรือการมีลูก ว่า ข้อมูลยังไม่ชัดเจน เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งออกมาประมาณ 10 ปี แต่ถ้าเป็นบุหรี่มวนธรรมดามีผลต่อให้สมรรถภาพทางเพศแย่ลง เพราะทำให้หลอดเลือดแย่ลง ทำให้คุณภาพอสุจิในผู้ชายลดลง ทั้งปริมาณน้ำเชื้อ การเคลื่อนไหวของอสุจิวิ่งดีหรือไม่ ความสามารถการเจาะไข่ลดลง ดังนั้น คนมีบุตรยากเราจึงแนะนำให้เลิกบุหรี่ ส่วนผู้หญิงบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก คุณภาพไข่แย่ลง คนที่อยากมีลูกก็ควรหยุดบุหรี่ไปเลย "อยากมีบุตรให้หยุดบุหรี่ ทั้งผู้หญิงผู้ชาย" เราต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่เราเคยเห็นในจอว่า สูบบุหรี่หลังมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องเท่
นพ.โอฬาริก กล่าวว่า ส่วนปัญหาการมีบุตรยากพบว่ามีประมาณ 10% ของคู่สมรส สาเหตุส่วนใหญ่เป็นสาเหตุกายภาพ โดย 50% มาจากผู้หญิง เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ ไข่ไม่ตกบ้าง ท่อนำไข่ไม่ดีจากการติดเชื้อมาก่อน อีก 50% มาจากผู้ชาย เช่น น้ำเชื้อไม่ดี เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มอยากมีบุตร สปสช.ให้สิทธิประโยชน์การรักษามีบุตรยาก ส่วนรักษาอะไรได้บ้าง ยังรอทางคณะกรรมการวิชาการ ของคณะกรรมการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติจะให้อะไรบ้าง ถึงระดับไหน เช่น ฉีดเชื้อ เด็กหลอดแก้ว ผ่าตัดช็อกโกแลตซีสต์รักษามีบุตรยาก รวมถึงเราจะเสนอเป็นสิทธิในการประเมินว่ามีโรคที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากเหล่านี้ด้วยหรือไม่ และจะคุยประกันชีวิตว่าคิดเห็นเป็นอย่างไร เพราะต่างประเทศประกันเอกชนก็เบิกเรื่องการมีบุตรยากได้ นอกจากนี้ เราต้องฟังภาคประชาชนด้วยว่าอยากได้สิทธิอะไรบ้าง อย่างการรักษามีบุตรยากถือเป็นวันลา โดยข้อเสนอต่างๆ จะเสนอภายในปีนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนเข้ามา เพราะเป็นปัญหาระดับชาติ
สำหรับข้อเสนอที่ภาครัฐควรสนับสนุนคนที่อยากมีลูก เช่น กรณีขอให้หญิงโสดอยากมีลูกมีได้ไหม เราเคยไปดูงานที่เดนมาร์ก พบว่าสามารถเดินมาขออสุจิบริจาคมีลูกฉีดได้เลย ไม่ผิดกฎหมาย เขามีธนาคารอสุจิ ไทยเราก็แพลนจะทำธนาคารอสุจิ ธนาคารไข่ ที่นั่นบอกว่าการแต่งงานมีปัญหายิ่งกว่าเดิม แต่งงาน หย่า ลูกเป็นของใคร ใครมีสิทธิเลี้ยงดู เขาตัดปัญหานี้ไปเลย เพราะลูกเป็นของเขาคนเดียว ในเดนมาร์กมีลักษณะความสัมพันธ์ของครอบครัว 27 แบบ เช่น ผู้หญิงคนเดียว ชายชาย หญิงหญิง ชายหญิง ทรานส์ ฯลฯ ส่วนกังวลว่าจะรับจ้างอุ้มบุญหรือไม่ หากทำระบบการแทร็กที่ดีไม่น่ามีปัญหา เช่น บางรัฐสหรัฐอเมริกาทำอุ้มบุญได้ ของไทยก้มีคนไปทำอุ้มบุญต่างประเทศ กลับมาก็มีลูกที่น่ารักของครอบครัว แต่ในไทยต้องรอผ่าน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถึงเข้าสู่การรักษาได้ เพราะใน พ.ร.บ.อุ้มบุญระบุว่าต้องเป็นสามีภรรยาถูกต้องตามกฎหมาย
นพ.โอฬาริกกล่าวว่า ความเป็นไปได้ของธนาคารอสุจิธนาคารไข่ในประเทศไทย มี 2 ประเด็นคือ เทคโนโลยี ความเป็นไปได้ 100% เราทำได้อยู่แล้ว แพทย์ไทยเก่งเรื่องการทำมีบุตรยา และด้านกฎหมาย ก็มีความเป็นไปได้เยอะ ปัจจุบันเรามี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.อุ้มบุญ) ซึ่งจะมีการปรับปรุงกฎหมายอยู่ ก็มีการพูดเรื่องนี้ ดูแนวโน้มน่าจะเป็นในทางบวก โดยธนาคารอสุจิธนาคารไข่มีกลุ่มไหนบ้างที่อยากให้เข้าถึง คือ 1.กลุ่มที่เป็นโรค ผู้ชายที่ไม่มีอสุจิ หรือตอนเด็กเคยเป็นโรคคางทูม ติดเชื้อที่อัณฑะ ผู้หญิงอายุมากไข่ฝ่อหมดแล้ว 2.กลุ่มที่เคยรับการรักษาและทำให้เซลล์สืบพันธุ์เสียไป เช่น เคยรับยาเคมีบำบัดตอนเด็ก เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวก็มาขอได้ 3.กลุ่มทรานส์เจนเดอร์ อาจเก็บอสุจิเก็บไข่ไว้ก่อน และ 4.กลุ่มที่ทำ Social Freezing คือแช่แข็งเก็บอสุจิเก็บไข้เอาไว้ เช่น ผู้หญิงอายุ 25 ปีคิดว่าจบปริญญาเอกอายุ 40 ปี ไข่คงฝ่อก็เลยฟรีซไข่ไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมาใช้
"เคยไปดูธนาคารอสุจิที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป เขามีจุดให้เก็บอสุจิ 5 ที่ในโคเปนเฮเกน ปั่นจักรยานไปเก็บได้เลย ได้เงินด้วยประมาณ 1,500 บาท พอเก็บถ้าอสุจิผ่านเกณฑ์จะได้รับการซักประวัติ มีโรคติดเชื้อไหม สุขภาพแข็งแรงดีไหม คนหนึ่งบริจาคถ้าพร้อมทำได้แค่ 10 ครอบครัว ก็เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเลือดชิด ถ้าอยากได้ Exclusive ไม่ให้ครอบครัวอื่นก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งแบบนี้มี 4 ที่ทั่วยุโรป คือ ลอนดอน ฮัมบูร์ก อัมสเตอร์ดัม และโคเปนเฮเกน ยุโรปค่อนข้างเปิดกว้าง" นพ.โอฬาริกกล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-หมอสูติฯ ชี้กรณี “นิ่ม” ตัวอย่างแม่วัยใสท้องไม่พร้อม ปัญหาสังคมเรื่องใหญ่
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2352 views