ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยออกคำแนะนำฉีดวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ เป็นลำดับแรกในเด็ก 5 ปีขึ้นไป เข็ม 2 ชนิดเดียวกันห่าง 3-12 สัปดาห์ ส่วนสูตรไขว้ "ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม+ไฟเซอร์" ควรฉีดต่อเมื่อเข็มแรกรับชนิดเชื้อตายมาก่อนแล้ว ขณะที่เข็มกระตุ้นไม่แนะนำฉีด! ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว ภูมิต้านทานต่ำ
ตามที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แนะนำฉีดวัคซีนโควิดสูตรไขว้"ซิโนแวค+ไฟเซอร์" สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี เหตุมีผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันภายหลังฉีดเข็มสองขึ้นเทียบเคียงไฟเซอร์ 2 เข็ม ชี้เป็นทางเลือก ประกอบกับจะมีการพิจารณาฉีดวัคซีนไขว้ "ซิโนแวค+ไฟเซอร์" ในกลุ่มอายุ 6-11 ปีเร็วๆนี้
(ข่าวเกี่ยวข้อง : : วัคซีนสูตรไขว้ "ซิโนแวค+ไฟเซอร์" อีกคำแนะนำทางเลือกเด็กอายุ 12-17 ปี )
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ปรับการรายงานผู้ป่วยโควิด เน้นป่วยหนักเสียชีวิต หวังสร้างความเข้าใจมากขึ้น)
ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าววันที่ 11 ก.พ. 2565 ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้ออกคำแนะนำล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา โดยขอให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดชนิด mRNA หรือไฟเซอร์ เป็นลำดับแรกในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป โดยให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 เข็ม สามารถฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 3-12 สัปดาห์ ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 เป็น 8-12 สัปดาห์จะดีกว่า 3-4 สัปดาห์ ในที่นี้แนะนำที่ 8 สัปดาห์ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติ เช่น อายุ 12 ไม่เกิน 18 ปี ฉีดห่างกัน 8 สัปดาห์ระหว่างเข็ม 1 และ 2 ส่วนอายุ 5 ปีไม่เกิน 12 ปี ฉีดห่างกัน 8 สัปดาห์
"กรณีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิฯ แนะนำให้ฉีดสูตรไขว้อายุ 12-17 ปี "ซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม+ไฟเซอร์" นั้นก็สามารถทำได้ เป็นอีกทางเลือก แต่หากวัคซีนไฟเซอร์เพียงพอ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนมาก ควรฉีดเข็มแรกเป็นไฟเซอร์ และต่อด้วยไฟเซอร์เข็มที่ 2 ทั้งนี้ขอยืนยันว่า ข้อมูลที่ผ่านมาเด็กฉีดไฟเซอร์มีความปลอดภัยสูง แต่ก็สามารถฉีดไขว้ได้ในกรณีคนที่ฉีดซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มมาเข็มแรก ก็สามารถฉีดเข็มที่ 2 เป็นไฟเซอร์" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามกรณีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิฯ เตรียมศึกษาฉีดสูตรไขว้เด็กอายุ 6-11 ปี เป็น "ซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม เข็มแรก และเข็ม 2 เป็นไฟเซอร์" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ก็เหมือนกัน แนะนำเข็มแรกควรเป็นชนิด mRNA หรือไฟเซอร์ แต่หากฉีดเข็มแรกเป็นเชื้อตายมาแล้ว ก็สามารถฉีดเข็ม 2 เป็นไฟเซอร์ ทั้งนี้ ทางที่ดีที่สุดคนที่ยังไม่ฉีดเข็มแรก ขอให้ฉีดเป็นชนิด mRNA และตามด้วยเข็ม 2 ชนิดเดียวกัน ยกเว้นก่อนหน้านี้ฉีดเชื้อตาย อย่างซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม ก็ต้องฉีดเข็ม 2 เป็นไฟเซอร์ ซึ่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ได้ออกคำแนะนำไว้แล้ว
เมื่อถามถึงกรณีการฉีดเข็มบูสเตอร์โดสในเด็ก ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆเราไม่ได้แนะนำให้ฉีดบูสเตอร์ในเด็กช่วงนี้ ยกเว้นกรณีเด็กที่มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นตามช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งสามารถปรึกษาแพทย์ที่ดูแลได้ อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่าการฉีดวัคซีนเด็ก ยังคงเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง
ทั้งนี้ การแนะนำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปี ที่เคยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มอย่างน้อย 4-6 เดือน อีก 1 เข็มด้วยวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วงขนาด 30 ไมโครกรัม โดยแนะนำให้ฉีดกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยงเกิดโรค ดังนี้ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัมนาการช้า ส่วนเด็กที่เคยรับวัคซีนชนิดเชื้อตาย ทั้งซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มา 2 เข็ม แนะนำกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยใช้ขนาดที่รับรองให้ฉีดตามกลุ่มอายุห่างจากฉีดวัคซีนเชื้อตายอย่างน้อย 4 สัปดาห์
"ส่วนเด็กที่ไม่มีโรคประจำตัวยังไม่แนะนำฉีดกระตุ้น" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนความกังวลเรื่อง mRNA แล้วเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงว่าจะเกิดการตกค้างนั้น ปัจจุบันมีข้อมูลจากสหรัฐฯ และ แคนนาดา พบว่า ฉีดไฟเซอร์เต็มโดสในเด็ก 2 เข็มห่างกัน 8 สัปดาห์ ภูมิฯ ขึ้นดีกว่าการฉีดห่าง 4 สัปดาห์ถึง 10 เท่า และช่วยลดการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ด้วย แทบจะไม่มีเลย ซึ่งทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ก็แนะนำเช่นนี้
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการฉีดสูตรไขว้ในเด็กยังมีการศึกษาน้อย แต่สำหรับไฟเซอร์ 2 เข็มมีเป็นล้านๆ คนแล้ว พบว่า mRNA ที่หลายคนกังวลว่าจะตกค้างในร่างกาย ซึ่งต้องย้ำว่าวัคซีนชนิดนี้ไม่คงที่ เก็บในอุณหภูมิ -70 องศายังเก็บได้ยาก และอีกอย่างคือ mRNA ไม่ใช่พันธุกรรม DNA ของไวรัส ดังนั้นจึงเข้าไปในระดับพันธุกรรมของคนไม่ได้ เทียบได้กับการติดเชื้อก็จะมี RNA เดียวกับการฉีดวัคซีน ฉะนั้น จึงมีความปลอดภัย
เมื่อถามว่ากรณีโลกออนไลน์แชร์วิธีการแก้ไขภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเด็กหลังฉีดวัคซีนด้วยยาแอสไพริน หรือยาทัมใจ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่แนะนำอย่างยิ่ง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะและภาวะเรย์ซินโดรม(Reye's syndrome) ปัจจุบันเราก็ไม่แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินในผู้ใหญ่ด้วย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 830 views