กรมอนามัยเผยจุดเสี่ยงใน "ตลาด" จุดไหนต้องระวังสัมผัสเชื้อโควิด19 มีข้อมูลอนามัยโพลจากการสังเกตผู้ไปใช้บริการตลาดเมื่อวันที่ 1-7 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา พบพฤติกรรมการสวมหน้ากากถูกต้องมี 81%  ไม่ถูกต้อง 19%  ยังพบบางตลาดต้องปรับปรุง

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 9 ต.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวประเด็น “ตลาด – จับจ่ายปลอดภัย ด้วยมาตรการ COVID Free Setting” ว่า  จุดเสี่ยงใตลาดที่อาจทำให้ติดโควิด คือ 1.การสัมผัสธนบัตร และเศษเหรียญ เพราะหากมีผู้ติดเชื้อและมีสารคัดหลั่งปนเปื้อนพื้นผิว และมีการจับจ่ายใช้สอย และเปลี่ยนเงินก็เสี่ยงติดเชื้อได้ 2. การสัมผัสผักและผลไม้ 3. การสัมผัสเนื้อสัตว์ 4. มีเชื้อโรคปะปนกับถุงพลาสติก และ5.ไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างใช้บริการ อย่างไรก็ตาม หากผู้ค้าผู้ขายที่ค้าขายในตลาดมีการล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสจุดเสี่ยงต่างๆ ก็จะลดโอกาสเสี่ยงได้ ที่สำคัญขอให้สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในตลาดตลอดเวลา

 

สำหรับสถานการณ์การเข้ามาประเมินตนเองและผลการประเมินของตลาดสด หรืออาหารริมบาทวิถี หรือกิจการคล้ายคลึงกัน พบว่า มาตรการที่ทำได้มากที่สุด คือ การทำความสะอาดแผงจำหน่ายอาหารทุกวัน และล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาล 1 ครั้งต่อสัปดาห์  รองลงมาจัดให้มีการระบายอากาศที่เพียงพอ มีการกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด กำหนดทางเข้าออกและจุดคัดกรอง และมีการทำทะเบียนแผงค้า ผู้ขายผู้ช่วยขายที่เข้ามาจำหน่ายสินค้า ซึ่งหลายตลาดทำเรื่องนี้ได้ดี

ส่วนมาตรการที่ยังดำเนินการได้ไม่ดีมาก พบว่า เป็นเรื่องการคัดกรองความเสี่ยงผู้รับบริการด้วย Thai Save Thai หรือแอปฯอื่นๆ ซึ่งตรงนี้ยังไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติ นอกจากนี้ กรณีการกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบกำกับ ติดตามไทม์ไลน์ผู้ขายทุกรายและจัดพนักงานควบคุม ทั้งนี้ จากประสบการณ์กรณีการระบาดเมื่อครั้งตลาดที่สมุทรสาคร และอีกหลายตลาด พบว่า เวลามีการติดเชื้อของคนในตลาด ซึ่งหากไม่มีการติดตามไทม์ไลน์ ย่อมตอบสนองต่อเหตุการณ์ ในการระบุผู้ติดตามเสี่ยงสูงได้ครอบคลุมและทันเวลา ประเด็นนี้จึงต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการกำหนดให้มีผู้ติดตามไทม์ไลน์ เพราะจะมีประโยชน์มาก

"ถัดมายังพบว่าการจัดพนักงานควบคุมในการจำกัดจำนวนคนไม่ให้แออัด คือ ไม่เกิน 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร แต่ทางปฏิบัติในบางแผงการตลาด บางเวลายังมีความแออัด แต่บางตลาดก็มีการเตือนให้สลับ ให้เว้นระยะห่าง แต่มีบางตลาดก็ละเลยตรงนี้ ไม่ได้เข้มรักษาระยะห่าง 1-2 เมตร และยังพบการชำระเงินด้วยธนบัตรและเหรียญ แต่หลายตลาดที่ดี หรือร้านริมบาทวิถีก็ใช้วิธีชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งช่วงนี้รัฐบาล นำโดยท่านนายกรัฐมนตรี ยังช่วยการชำระเงินผ่านระบบแอปฯ โครงการคนละครึ่ง ซึ่งจะลดความเสี่ยงการสัมผัสระหว่างการซื้อขายได้" นพ.สุวรรณชัย กล่าว และว่า ขอย้ำว่า ตลาดที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ขอให้รีบปรับปรุงจะได้ผ่านเกณฑ์มากขึ้น

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ มีข้อมูลอนามัยโพลจากการสังเกตผู้ไปใช้บริการตลาดเมื่อวันที่ 1-7 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 7,000 คน พบว่า พฤติกรรมการสวมหน้ากากถูกต้องมี 81% แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องสื่อสารคือ ยังมีส่วนหนึ่งสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้อง 19%  ขณะที่การปฏิบัติมาตรการต่างๆ พบว่า ทำได้ดีถึง 78.12% ด้วยการกำหนดจุดเข้าออกชัดเจนและวัดอุณหภูมิ และอีก 51.22% มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ และ 46.03% มีการประชาสัมพันธ์ให้สวมหน้ากากตลอดเวลาอย่างถูกต้อง 

ส่วนที่ต้องปรับปรุงจากการสังเกตของประชาชนที่ตอบแบบสำรวจพบว่า 15.68% ควรแสดงใบประกาศ COVID Free Setting ที่ตลาดให้ชัดเจน และ17.75% ต้องมีภาชนะรองรับขยะมีฝาปิดมิดชิด รวมทั้ง 20.26% มองว่าต้องมีการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัดและเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร

"ขอให้ปฏิบัติมาตรการCOVID Free Setting  3 ด้าน ได้แก่ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ด้านผู้ให้บริการและด้านผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งให้มีการกำกับติดตาม และดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อ เพื่อให้สามารถควบคุมได้ในขอบเขตของพื้นที่ตลาดลดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัดเสตอร์ซ้ำ และการดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ โควิดในตลาด  ต้องมีการซักซ้อม สร้างความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งการปิดตลาดก็ต้องดำเนินการตามแนวทาง ไม่ใช่ปิดหมด ต้องดำเนินการตามความจำเป็น เพราะหากปิดหมด อาจยิ่งทำให้ผู้ขายที่เสี่ยงอาจกระจายตัวไปยังตลาดพื้นที่อื่นๆได้" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

 ด้าน นายเก่งกาจ คุปต์อัครภิญโญ ผู้แทนสมาคมตลาดสดไทย กล่าวว่า ทางตลาดได้มีการจัดระเบียบตลาดช่วงสถานการณ์โควิด และยังมีการอบรมให้ผู้ค้าเข้าใจแนวปฏิบัติป้องกันโควิดในตลาด นอกจากนี้ ยังมีการตรวจ ATK กับผู้ค้าทุกสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ค้าในตลาดได้รับวัคซีนป้องกันโควิดค่อนข้างมาก อย่างน้อย 2 เข็ม สำหรับการล้างทำความสะอาดตลาดปกติจะ 1 ครั้งต่อเดือน แต่ปัจจุบันทำมากขึ้นอย่างบางแห่งทุก 15 วัน ทั้งนี้ สมาคมตลาดสดไทยพยายามดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting  และขอเชิญชวนบางตลาดที่อาจขาดความรู้ ทำได้ไม่ดีพอ ขอให้เชิญชวนทุกท่านร่วมมือปฏิบัติตามแนวทางรัฐบาล 

"ตลาดทุกแห่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เหตุการณ์ครั้งนี้เราได้เข้าถึงชุมชนมากขึ้น มีการประชาสัมพันธ์การฉีดวัคซีน ไม่ใช่แค่ผู้ค้าในตลาด แต่รวมถึงรอบบริเวณชุมชน เพราะตลาดอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากลูกค้าที่มาจับจ่ายใช้สอยก็จะเป็นคนอยู่ในชุมชนใกล้ๆตลาด จึงต้องประชาสัมพันธ์รวมทั้งลูกค้าและผู้ค้าในตลาด" นายเก่งกาจ กล่าว  

(ข่าวอื่นๆ  : เปิดวิธีปฎิบัติคู่รัก คู่สามีภรรยา ร่วม "วาเลนไทน์" อย่างไรห่างไกลโควิด)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org