สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมตำรวจ ปคบ. กองระบาดวิทยา สสจ. ลงพื้นที่ชลบุรีตรวจจับแหล่งผลิตไส้กรอกผสมไนไตรท์ปริมาณมาก ทำเด็กหลายรายเข้ารพ.เหตุหายใจลำบาก มีภาวะพบสารจับเม็ดเลือดแทนออกซิเจน สั่งปิดโรงงานแล้ว พร้อมเอาผิดตามกม. ขณะที่สสจ.แต่ละจังหวัดพบกรณีนี้อีกหลายแห่ง
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากจากกรณีพบเด็กหลายรายเข้ารับการรักษาตัวในรพ.หลังรับประทานอาหารแล้วมีอาการซีด เขียว หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ซึ่งเข้าได้กับภาวะที่มีสารไปจับในเม็ดเลือดแทนออกซิเจน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนนั้น ซึ่งจากประวัติพบว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการบริโภคไส้กรอก ที่มีส่วนผสมของไนไตรท์ที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุกันเสีย แต่ใส่ในปริมาณมากเกินไปทำให้ไนไตรทไปแย่งจับออกซิเจน ซึ่งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับ อย. ร่วมกับกองระบาดวิทยาและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่มีผู้ป่วย พบว่าน่าจะมีแหล่งผลิตที่จังหวัดชลบุรี ดังนั้น อย. ร่วมกับ ปคบ. และสสจ.ชลบุรีจึงได้ ลงพื้นที่โรงงานเป้าหมายที่อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี พบนางสาวรักทวี ขุนแพง แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นสถานที่ที่ไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตผลิตภัณฑ์ แต่ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ เป็นต้น โดยวันนี้ที่เข้าไปไม่พบว่ามีการผลิต แต่พบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จแล้วอยู่ในถังแช่แข็งเพื่อรอจำหน่าย ทางเจ้าหน้าที่สอบถามเพิ่มเติม เจ้าของโรงงานรับว่าเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไส้กรอกตามที่เป็นข่าวจริง แต่หลังเป็นข่าวก็ได้เลิกผลิตแล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นสถานที่ผลิต พบฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอก และวัตถุดิบหลายรายการ โดยฉลากดังกล่าวไม่ได้แจ้งเลขสารบบอาหาร ถือเป็นฉลากไม่ถูกต้อง ส่วนสถานที่ผลิตก็ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GMP ได้คะแนนการประเมินเพียง 16.6% เท่านั้น มีข้อบกพร่องหลายเรื่อง
“กรณีมีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร เนื่องจากพบปริมาณไนไตรท์เกินมาตรฐาน พบว่า มีการใช้แรงงานคนตักสารไนไตรท์โดยการกะเกณฑ์คร่าวๆ ไม่ได้มีการชั่ง ตวงหรือวัดตามมาตรฐาน แต่ตักใส่ๆ ทำให้ปริมาณไนไตรท์เกินค่าความปลอดภัย ขณะนี้สั่งปิดโรงงาน และอายัดผลิตภัณฑ์อาหารไว้ทั้งหมดและจากการสอบถามเพิ่มเติม พบว่ามีการส่งผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ไปที่จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะกระจายไปยังทั่วประเทศต่อ แต่ไม่ได้มีการซัดทอดว่ามีแหล่งผลิตที่อื่นอีก แต่ก็ได้ผลิตมานานแล้ว" นพ.วิทิต กล่าว
ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิต 11 แรงม้า พนักงาน 8 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม และไม่เข้าข่ายการขอขึ้นทะเบียนอาหารของอย. เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความผิด 3 ประเด็นคือ 1. เรื่องสถานที่ผลิตไม่ผ่าน GMP ปรับ 1 หมื่นบาท 2. การใช้ฉลากไม่ถูกต้อง ไม่มีอย.ปรับ 3 หมื่นบาท และ 3. เก็บสินค้าส่งตรวจแล็บเพื่อตรวจหาสารเคมีปนเอน ทั้งไนไตรท์ เบนโซอิกแอซิด และสีผสมอาหาร หากพบว่ามีค่าเกินมาตรฐานก็จะมีความผิดเรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท
อย่างไรก็ตาม ได้ให้สสจ.แต่ละจังหวัดไปตรวจสอบทั่วประเทศก่อนหน้านี้แล้ว ก็พบอีกหลายแห่ง และดำเนินการสืบหาแหล่งผลิต สำหรับประชาชนการสังเกตรูปลักษณ์อาจจะเห็นความผิดปกติยาก จึงขอให้ดูฉลากผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่มักเขียนระบุว่าเป็นไส้กรอกอะไร มีรูปพรีเซ็นเตอร์ แต่ไม่มีตรา หรือเลขสารบบอย. จึงขอให้สังเกต เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ อาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
- 655 views