ในช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวของข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งสร้างความสับสนแก่ประชาชน ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงรวบรวมข้อเท็จจริงสรุปเป็น 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1) กลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ต้องการปลดล็อคบุหรี่ไฟฟ้าและนำมาควบคุมให้ถูกกฎหมาย จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการสูบบุหรี่ ช่วยให้คนในสังคมห่างไกลอันตรายจากควันบุหรี่ โดยบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้
ข้อเท็จจริง : ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าสามารถมาขอขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ หากมีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน 95% ตามที่กลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามีการกล่าวอ้าง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติที่เป็นผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ารายใดมาขอขึ้นทะเบียน ถ้ากลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควบคุมสำหรับการใช้เลิกสูบบุหรี่เท่านั้น เหตุใดกลุ่มผู้สนับสนุนจึงไม่ไปเรียกร้องให้อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้ากับ อย.
แต่กลับไปเรียกร้องกับ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงดีอีเอส เหมือนที่อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ ยื่นเอกสารขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US-FDA) โดยในเอกสารบ่งบอกและยอมรับว่า ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า iQQS เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่มีหลักฐานว่าการเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่มวนมาใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า iQQS ลดความเสี่ยงจากโรคภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่มวนได้
ประเด็นที่ 2) บุหรี่ไฟฟ้าสามารถลดอันตราย (harm reduction) ต่อสุขภาพได้มากกว่าบุหรี่มวน
ข้อเท็จจริง : รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ระบุว่า มีงานวิจัยใหม่ ๆ ที่เป็นปัจจุบัน ได้บ่งชี้ถึงผลเสียและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นและชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบแบบเฉียบพลันต่อสุขภาพของมนุษย์ในหลาย ๆ อวัยวะสำคัญ อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต ลมชัก โรคหืด ภูมิแพ้ ปอดอักเสบ (EVALI) และภาวะหายใจล้มเหลว เป็นต้น
ในขณะที่ ผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพก็เริ่มมีข้อมูลมากขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดภัยต่อชีวิตของมนุษย์อย่างที่ธุรกิจยาสูบกล่าวอ้าง รายงานทางการแพทย์จำนวนมาก พบว่า สารเคมีต่าง ๆ ในบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นนิโคติน หรือสารปรุงแต่งกลิ่นรส และตัวทำละลายต่าง ๆ ล้วนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างถาวรในระดับดีเอ็นเอของเซลล์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นของการเกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ และยังก่อให้เกิดโรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มอัตราการเสียชีวิตของทารก
นอกจากนี้ ไอของบุหรี่ไฟฟ้ายังส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองในครอบครัว ไอบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองล่าช้าหรือด้อยกว่าเด็กทั่วไป มีน้ำหนักตัวน้อย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตายของทารก
นอกจากนี้ การใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังทำให้เด็กเสพติดนิโคตินได้ง่ายขึ้น ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นประตูเชื่อม (gateway) ให้เยาวชนไปสู่การเสพติดบุหรี่มวนและยาเสพติดอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพราะ นิโคตินที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินสังเคราะห์ สามารถดูดซึมได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นมากกว่านิโคตินตามธรรมชาติ และยังก่อให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินหายใจส่วนต้นน้อยกว่านิโคตินแบบเดิมอีกด้วย ทำให้เด็ก ๆ สามารถเริ่มทดลองและเสพติดได้ง่ายมาก เพราะอาการไม่พึงประสงค์ของการสูบบุหรี่แบบเดิมได้หมดไปแล้ว
นอกจากนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก (บางรายงานระบุว่า มากกว่า 80%) เมื่อใช้ไประยะหนึ่งจะหวนกลับมาใช้บุหรี่แบบเดิมควบคู่ไปด้วย กลายไปเป็น dual users คือใช้ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่แบบเดิม ในเวลาเดียวกัน ซึ่งบุคลลกลุ่มนี้ย่อมเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงเป็นทวีคูณไปด้วย ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จึงสามารถเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่เครื่องมือที่ช่วยในการเลิกบุหรี่ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ การเลิกบุหรี่ที่แท้จริงคือต้องเลิกขาดทั้งบุหรี่แบบเดิมและบุหรี่ไฟฟ้า เพราะไม่ว่าจะเป็นบุหรี่แบบเดิมหรือบุหรี่ไฟฟ้าล้วนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิดอย่างแสนสาหัสทั้งสิ้น
ประเด็นที่ 3) การอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกกฎหมาย สามารถป้องกันการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนได้
ข้อเท็จจริง : ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย ในปี ค.ศ. 2007 ต่อมาได้เริ่มสำรวจ ปี ค.ศ. 2011 พบว่า มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนมัธยมปลายจาก 1.5% เพิ่มขึ้นเป็น 27.5% ในปี ค.ศ. 2019 นับเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ คือ เพิ่ม 18 เท่า ในเวลาเพียง 8 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ในปีเดียวกัน พบเพียง 3% เท่านั้น
จนนิตยสารไทม์ ฉบับเดือนกันยายน ค.ศ.2019 ได้ขึ้นปกว่า บุหรี่ไฟฟ้านับเป็นสารเสพติดชนิดใหม่ทางสาธารณสุข ซึ่งคุกคามนักเรียนอเมริกัน ส่วนการสำรวจโดยสำนักงานสถิตแห่งชาติ ปีพ.ศ.2564 พบว่า มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยซึ่งห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ของเยาวชนไทย อายุ 15-19 ปี 5,179 คน (1.9%) ในขณะที่ WHO ประเทศไทย รายงานว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กนักเรียนไทย อายุ 13-15 ปี เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปีพ.ศ.2558 เป็น 8.1% ในปีพ.ศ.2564 ดังนั้นมีความเป็นห่วงว่าถ้าประเทศไทยอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ ยิ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดได้อย่างสหรัฐฯ
ประเด็นที่ 4) กว่า 60 ประเทศ อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า ประเภทให้ความร้อนได้ เช่น iQQS ได้
ข้อเท็จจริง : ผศ.ดร.นพ.วิชช์ อ้างถึง ข้อมูลการวิเคราะห์จาก Euromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก ระบุว่า กว่า 60 ประเทศที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า ประเภทให้ความร้อน เช่น iQOS ได้นั้น ประเทศเหล่านี้มีมาตรการควบคุมยาสูบอย่างเข้มงวด ส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่มวนของประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติจึงส่งผลิตภัณฑ์ iQOS ไปขายเพื่อให้ประชากรในประเทศเหล่านี้กลับมาเสพติดนิโคตินอีก
เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ มิใช่เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของประชากร ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติและเครือข่าย ได้โฆษณาชวนเชื่อว่า ประเทศที่มี iQOS ขาย ทำให้ประชากรในประเทศเหล่านี้สูบบุหรี่มวนลดลง ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณะ เพราะประเทศเหล่านี้สูบบุหรี่มวนลดลงอยู่แล้ว
“ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวสรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนอย่างที่กลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าพยายามโน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจที่ผิด โดยนอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังมีอันตรายและไม่ได้เป็น harm reduction ต่อสุขภาพ แต่ปรุงแต่งทำให้เด็กและเยาวชนเสพติดได้ง่าย
ทั้งนี้อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติและเครือข่าย มีความพยายามในการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบในทุกประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยบ่งชี้ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติและเครือข่าย มีความพยายามอย่างหนักหน่วงในการแทรกแซงนโยบายให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฏหมายเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายควบคุมยาสูบ ต้องตีแผ่ข้อเท็จจริงถึงกลยุทธ์การแทรกแซงนโยบายของอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติและเครือข่าย ต่อประชาชนและเยาวชนไทย และคงกฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามขาย บุหรี่ไฟฟ้า ในประเทศไทยต่อไป”
- 3818 views