ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขติดตามการผลักดันตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” หลังสป.ขอข้อมูลเพิ่มก่อน 4 ก.พ. ชี้ให้ข้อมูลแล้ว พร้อมติดตามความก้าวหน้า หากล่าช้าเตรียมเคลื่อนไหว เหตุมีพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ.2556 มา 8 ปี แต่ยังไม่มีวิชาชีพของตนเอง
เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีหนังสือจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามโดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ.ถึงนายกสภาการสาธารณสุขชุมชน เรื่องการขอข้อมูลการขอกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข เป็นสายงานเพิ่มใหม่ของกระทรวงฯ ลงวันที่ 17 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา เข้าใจว่าหนังสือดังกล่าวมาจากกองบริหารทรัพยากรบุคคล ที่นำเสนอข้อมูลต่อท่านนพ.สุระ ซึ่งการขอข้อมูลมานั้น ข้อเท็จจริงทางสภาการสาธารณสุขชุมชนได้ให้ข้อมูลแก่กองบริหารทรัพยากรบุคคลไปแล้ว จึงไม่แน่ใจว่า ยังขาดข้อมูลอะไร ทำให้การเดินเรื่องช้าออกไป
นายริซกี กล่าวอีกว่า ข้อมูลที่ขอมานั้น ประกอบด้วย 1 เรื่องแผนการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข ในกรณีที่ ก.พ. จัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งดังกล่าวแล้ว 2.ผู้มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข มีจำนวนเท่าใด และ 3.นักวิชาการสาธารณสุขที่ไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขได้ สภาการสาธารณสุขชุมชนจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร โดยระบุว่า ให้ส่งข้อมูลดังกล่าวภายในวันที่ 4 ก.พ.2565 เพื่อจะได้เสนอต่อ อ.ก.พ. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาต่อไป
“จากหนังสือดังกล่าวที่ขอข้อมูลเพิ่มเติม แสดงว่าเรื่องนี้อาจล่าช้าหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ทางสภาฯจะมีการติดตาม เนื่องจากข้อมูลที่ขอ อย่างแผนการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเคยให้ไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนกรณีนักวิชาการสาธารณสุขมีจำนวนท่าไหร่นั้น กองบริหารทรัพยากรบุคคลมีข้อมูลอยู่ และกรณีที่ว่าหากนักวิชาการสาธารณสุขไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขได้ สภาฯ จะดำเนินการอย่างไร เรื่องนี้เราจะไปลงโทษไม่ได้ เพราะการเข้าสู่ตำแหน่งวิขาชีพได้หรือไม่ มีหลักเกณฑ์ระเบียบรองรับอยู่แล้ว และหากมีคนที่ขาดคุณสมบัติ ก็ยังอยู่ในตำแหน่งเดิมได้ คงไม่กระทบคนกลุ่มนั้น และไม่ใช่บทบาทสภา ที่จะไปกำหนดบทลงโทษคนที่ไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้น ที่สำคัญ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมามีการประชุม อ.ก.พ.สป. แต่กลับไม่เรียกผู้แทนสภาวิชาชีพเข้าไปหารือเลย ทั้งๆที่พวกเรารออยู่ตั้งแต่เช้าถึงเย็น” นายริซกี กล่าว
นายริซกี กล่าวว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ทำให้ทางสภาฯ และนักวิชาการสาธารณสุขหลายคนกังวลว่า จะยิ่งล่าช้าหรือไม่ เพราะเห็นว่า สป.สธ.จะทำเรื่องไปยังกรมต่างๆ ว่ากำหนดตำแหน่งมีผลกระทบอะไรหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีพ.ร.บ.แล้ว ซึ่งเคยชี้แจงแล้วว่า เป็นการใช้ตำแหน่งเดิม แต่ปรับมาตรฐานขึ้น แต่การจะไปสอบถามเหมือนไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เหมือนเป็นการประชาพิจารณ์ ทั้งที่การผลักดันตำแหน่งนักสาธารณสุขเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ.2556 ซึ่ง 8 ปีมาแล้ว แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้เลย
“จึงต้องรอว่า การประชุม อ.ก.พ.สป. ในเดือนก.พ.นี้ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ถ้าไม่คืบหน้าก็จะมีการเคลื่อนไหวจากนักวิชาการสาธารณสุขทั่วประเทศ เราดำเนินการเรื่องกำหนดตำแหน่ง ทำตามขั้นตอนมาตลอด เป็นเด็กดี แต่กลับล่าช้าก็ต้องมีการติดตามเเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่ทำตามกฎหมายก็ถือว่า ละเว้นการปฏิบัติตามม.157” นายริซกี กล่าว
แฟ้มภาพจากชมรมนักวิชาการสาธารณสุข
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 240 views