รพ.สมุทรปราการ เริ่มดำเนินการ “30 บาทรักษาทุกที่” เข้ารักษาที่หน่วยปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว พร้อมซักซ้อมเจ้าหน้าที่-ระบบไอที ระบุตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 มีผู้ใช้บริการแล้ว 250 ราย
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินการโครงการ “ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ หรือ 30 บาทรักษาทุกที่” ณ โรงพยาบาลสมุทรปราการ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยมี นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการให้การต้อนรับ
นพ.จเด็จ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป ประชาชนที่ไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่เกิดเจ็บป่วยในต่างพื้นที่ที่ใดก็ได้ในประเทศไทย สามารถขอเข้ารับบริการที่หน่วยปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลจังหวัดที่มีบริการปฐมภูมิได้ ซึ่งจะแตกต่างจากกติกาเดิมที่ประชาชนจะต้องมีหน่วยบริการประจำของตนเองผ่านการลงทะเบียน หากเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินก็ต้องไปใช้บริการที่หน่วยบริการประจำ
“ฉะนั้นวันนี้เราก็ออกกติกาขึ้นมาใหม่ว่า กรณีที่ประชาชนไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่เมื่อไปต่างพื้นที่แล้วเกิดการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น ครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นไข้หวัด แล้วเข้ารับบริการที่หน่วยบริการ โดยที่หน่วยบริการที่ให้บริการไม่ต้องให้ประชาชนกลับไปเอาใบส่งตัวเพื่อมาเก็บเงิน แต่ให้หน่วยบริการเรียกเก็บเงินมาที่ สปสช. ซึ่ง สปสช. ก็จะจ่ายเงินค่ารักษาให้ในราคาที่ตกลงกันไว้แล้ว ฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีใครตามมาจ่าย” นพ.จเด็จ ระบุ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาก็ได้มีการทดลองนำร่องในเขตภาคอีสาน และกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยเริ่มจากเขตสุขภาพที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง ภายหลังก็ได้กระจายไปทั่วภาคอีสาน ซึ่งก็พบว่าประชาชนที่เข้ารับบริการนอกเขตพื้นที่หรือนอกเขตจังหวัดรอยต่อนั้นมีเพียงร้อยละ 4 ของผู้เข้ารับบริการ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่
“ก็มีความมั่นใจที่จะขยายไปทั่วประเทศ เราให้สิทธิ์ท่านแต่ท่านจะใช้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของการไปใช้บริการ ก็อยากให้พี่น้องประชาชน มั่นใจว่าหากมีความจำเป็น กรณีเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินท่านจะไปขอรับบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ที่อาจจะไม่ใช่หน่วยที่ท่านลงทะเบียน ไว้ สปสช. ก็จะทำหน้าที่ในการส่งเงินค่ารักษา ไปให้กับโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ให้บริการ” นพ.จเด็จ ระบุ
นพ.นำพล กล่าวว่า โรงพยาบาลสมุทรปราการก็ได้ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลว่ารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายให้ประชาชนที่เจ็บป่วยสามารถใช้บริการได้ทุกที่จากเดิมที่ใช้ได้เฉพาะกรณีฉุกเฉินที่ถึงแก่ชีวิตเท่านั้น เพื่อที่จะได้สามารถแจ้งสิทธิให้กับประชาชนได้ทราบและได้รับความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการ รวมไปถึงระบบไอทีที่มีความทันสมัยเพียงพอเพื่อเชื่อมับระบบฐานข้อมูลใหญ่ ซึ่งในส่วนนี้ก็สามารถทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น
สำหรับการให้บริการรักษาทุกที่ของโรงพยาบาลสมุทรปราการนั้นจะให้บริการอยู่ 4 เรื่องใหญ่ เช่น การรักษาต่อเนื่อง ทันตกรรม การทำแผล หรือการฉีดวัคซีน เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมาโรงพยาบาลสมุทรปราการก็ได้ให้บริการผู้ป่วยไปแล้ว 250 ราย
- 10067 views