กรมควบคุมโรคประมวลผลศึกษาวัคซีนทุกสูตรที่ใช้เดือน ส.ค.- ธ.ค. 64  ย้ำ!  ประสิทธิผลป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต ทุกสายพันธุ์คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะฉีดสูตรปกติ ฉีดสูตรไขว้ หรือบูสเตอร์ได้ประมาณ 90-100%  พร้อมแจงลำดับการฉีดวัคซีนแต่ละชนิด สูตรไหนก่อนหลัง ขอปชช.มั่นใจวัคซีนมีเพียงพอ โดยเฉพาะไฟเซอร์ปี 65 ล่าสุดครม.อนุมัติ 30 ล้านโดส

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 ม.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด ว่า ขณะนี้ฉีดวัคซีนสะสมไปแล้วกว่า 108 ล้านโดส และในเดือนม.ค.2565 ตามแผนที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ศบค. จะฉีดอย่างน้อย 9 ล้านโดส ซึ่งผ่านไปครึ่งทางเป็นไปตามเป้า อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคใหม่ วัคซีนก็ชนิดใหม่ การติดตามประเมินผลติดตามวัคซีนเป็นระยะจึงมีความสำคัญมาก โดยการประมวลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิดตั้งแต่ส.ค.- ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ ข้อมูลเบื้องต้น ณ วันนี้ พบว่า ในพื้นที่ภูเก็ต เชียงใหม่ กาฬสินธุ์ กรุงเทพฯ นั้น

นพ.โอภาส กล่าวว่า หากสังเกตการสำรวจข้อมูลติดตาม ในเดือน ส.ค. มีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา ที่กรุงเทพฯ เดือน ก.ย.-ต.ค.มีการระบาดของอัลฟา และเดลตาอย่างมาก ส่วนเชียงใหม่ มีการระบาดสายพันธุ์เดลตาเดือน ธ.ค. และล่าสุดสายพันธุ์โอมิครอน มีการระบาดในคลัสเตอร์ร้านอาหารที่กาฬสินธุ์ จะพบว่าแต่ละช่วงเวลา เชื้อจะแตกต่างกัน อย่างกรณีภูเก็ต พบว่า วัคซีนเชื้อตายป้องกันการติดเชื้อ 27% ป้องกันป่วยหนักเสียชีวิตได้ 90%  ส่วนกรุงเทพฯ ป้องกันการติดเชื้อได้ 66%  สังเกตจากข้อมูลจะเห็นว่าประสิทธิผลการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต ทุกสายพันธุ์ได้คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะฉีดสูตรปกติ ฉีดสูตรไขว้ หรือบูสเตอร์ได้ประมาณ 90-100% ด้วยซ้ำไป
ประการที่สองประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ จะเห็นว่าแต่ละสูตรมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ดีพอสมควร แต่บางสูตรเห็นว่าน้อย ต้องนำเรียนว่าปัจจัยหนึ่งคือ ระยะเวลาการฉีด โดยการฉีดใหม่ๆ ช่วง 2-3 เดือนแรกค่อนข้างสูง แต่ผ่าน 3 เดือนไปจะลดลง แต่เมื่อสังเกตว่า เมื่อมีการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อจะสูงขึ้น

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นระยะ พบว่า การฉีดวัคซีนทุกประเภท ทุกสูตรมีประสิทธิผลสูงมาก 90-100% การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มประเภทเดียวกันหรือสูตรไขว้ มีประสิทธิผลสูงพอสมควร ในการป้องกันติดเชื้อ โดยประสิทธิผลจะลดลง ส่วนการฉีดเข็มสาม ในผู้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือสูตรไขว้เพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อให้สูงขึ้นและช่วยควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม การกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ มีประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตได้สูงไม่แตกต่างกัน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้น ทั้งสูตรแอสตร้าหรือไฟเซอร์ ป้องกันโอมิครอนได้ถึง 80-90% 

 

ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นนโยบายสำคัญ โดย 1. ผู้ที่ถึงกำหนดรับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะประกอบดังนี้ 

-ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าฯ ครบในเดือน ส.ค.-ต.ค.64 ให้ฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เป็นหลัก
-ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้า ครบ 2 เข็มในเดือน ส.ค.- ต.ค.64 ให้ฉีดกระตุ้นด้วยไฟเซอร์
-ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็มตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เป็นหลัก 
"ขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ และกระจายไปให้ถึงรพ.สต. พี่น้องประชาชนสามารถสอบถาม รพ.สต.หรือรพ.ใกล้บ้านได้" นพ.โอภาส กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เตรียมพิจารณาลดระดับเตือนภัยโควิด พร้อมเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 พื้นที่ SandBox)

2.การให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่มีประวัติการเติดเชื้อ ให้ฉีดแอสตร้าฯ กระตุ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ หรือครบตามเกณฑ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ  

"ขอย้ำว่า คนที่ฉีดวัคซีนครบเข็ม 2 ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. 64 ที่ผ่านมา ให้ไปฉีดกระตุ้นในเดือน ธ.ค.64 ส่วนคนที่ฉีดก.ย.-ต.ค.64 ให้กระตุ้นเดือน ม.ค. 65 และคนที่ฉีดครบเดือนต.ค.-พ.ย. 64 ที่ผ่านมาให้ฉีดกระตุ้นในเดือน ก.พ. 65 ส่วนคนฉีดครบเดือน พ.ย.-ธ.ค.64 ให้ฉีดเดือน มี.ค.65 ตรงนี้จะทำให้สามารถควบคุมการระบาด โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนได้" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีมีประชาชนส่วนหนึ่งกังวลเรื่องวัคซีน ว่า หากฉีด mRNA แล้วเข็มต่อมาจะไม่สามารถฉีดชนิดอื่น หรือแอสตร้าได้ เพราะต้องฉีด mRNA เท่านั้นหรือไม่  รวมทั้งข้อกังวลว่า ปี 65 วัคซีนไฟเซอร์จะเพียงพอในการฉีดหรือไม่  นพ.โอภาส  ตอบประเด็นนี้ ว่า การฉีดวัคซีนโควิดจะไล่เรียงจากวัคซีนชนิดเชื้อตาย คือ ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม จากนั้นจะฉีดวัคซีนชนิดไวรัลแวกเตอร์ เป็นเข็มกระตุ้นหรือเข็มแรก คือ แอสตร้าเซนเนก้า  และค่อยมาเป็นชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา 

ที่ผ่านมา สธ.ได้ดำเนินการฉีดตามสูตรที่แจ้งไปแล้ว ทั้งสูตรปกติ สูตรไขว้ หรือเข็มกระตุ้น โดยปี 2565 ทางครม.อนุมัติให้สธ.จัดซื้อวัคซีนจำนวน 90 ล้านโดส ในจำนวนนี้มีไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ซึ่งมีเพียงพอ และขอให้มั่นใจว่า การฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ประสิทธิภาพไม่แตกต่างในการป้องกันโรค และลดการเสียชีวิต ขอให้ฉีดตามสูตร หรือวิธีการที่ สธ.กำหนด ยืนยันมีวัคซีนเพียงพอ

ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ลดวันกักตัวกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงเหลือ 7 วัน  รอกรมควบคุมโรคประกาศทางการ!

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org