แม้ฟันจะอยู่ไกลหัวใจ แม้จะเจ็บและไม่ทำให้ถึงกับเสียชีวิต แต่ก็อยู่ในช่องปากซึ่งเป็นหนึ่งในประตูสำคัญสู่อวัยวะส่วนอื่น ๆ ภายในร่างกาย
กว่า 2 ทศวรรษที่ ศูนย์ทันตกรรมพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการตามรอยพระยุคลบาท เพื่อผู้ป่วยยากไร้ และอยู่ห่างไกล ได้เข้าถึงบริการทางทันตกรรม คิดเป็นจำนวนประมาณ 300 ครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละครั้ง
บนเส้นทางของการมุ่งสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลกตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น คณะทันตแพทยศาสตร์เป็นหนึ่งในองคาพยพที่สำคัญ สู่การเป็นองค์กรชั้นเลิศทางทันตกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะได้รับการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ HA (Hospital Accreditation) ขั้นที่ 2 และมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO (International Organization for Standardization) แล้ว ยังได้อุทิศเพื่อประชาชน ประเทศชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความมุ่งมั่นสูงสุดในการเป็นองค์กรชั้นนำ โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงการต่อยอดการเรียนรู้ และนวัตกรรม ไปดำเนินการเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคม ภายใต้หลักจริยธรรมและการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งดำเนินงานศูนย์ทันตกรรมพระราชทานเพื่อแก้ปัญหาทันตสาธารณสุขของประเทศ
เรามีการใช้นโยบายการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความเป็นอัตลักษณ์ที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การเป็นองค์กรทางทันตกรรมที่เป็นเลิศ
ตามภารกิจหลักของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นงานด้านส่งเสริมสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เป้าหมาย SDGs จึงเน้นหนักไปที่ข้อ 3 ซึ่งว่าด้วย Good Health and Well-being โดยไม่ลืมที่จะใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการมุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมาย SDGs ข้อ 7 ซึ่งว่าด้วย Affordable and Clean Energy
ซึ่งตาม SDGs ข้อ 3 เพื่อส่งเสริมสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบจัดการข้อมูลทันตสุขภาพและการดูแลสุขภาพช่องปากทางไกลอัจฉริยะ หรือ Smart Tele - dental Application เพื่อประชาชนในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะได้ไม่ขาดการดูแลสุขภาพช่องปาก และยังได้ผลิตหนังสือเพื่อผู้พิการทางสายตาให้ได้ใช้อักษรเบรลล์ เพื่อการสามารถเข้าถึงสื่อส่งเสริมสุขภาวะช่องปากซึ่งออกแบบเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษในกลุ่มดังกล่าว เตรียมแจกจ่ายให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ
และโครงการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงวัยตามชุมชนห่างไกล ที่ในระยะแรก คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกับ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เหมือนเป็นกำลังเสริมด้านทันตกรรม มาบัดนี้ได้ลงพื้นที่อย่างเต็มตัวแล้ว ด้วย "รถทันตกรรมเคลื่อนที่" เพื่อใช้ในภารกิจดังกล่าวโดยเฉพาะถึง 2 คัน
และตาม SDGs ข้อ 7 ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการรณรงค์ใช้ซ้ำอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อที่บุคลากรทางการแพทย์ และทันตแพทย์ทั่วประเทศจำเป็นต้องใช้เป็นจำนวนมหาศาลในช่วงวิกฤติ COVID-19 อาทิ การนำชุด PPE หรือชุดกันเปื้อนสารคัดหลั่งที่ทำมาจากพลาสติกซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนานนับศตวรรษ มาใช้เสื้อกันน้ำที่สามารถทำความสะอาดกำจัดเชื้อแล้วใช้ซ้ำได้อีกนับ 20 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังได้นำเอาหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งมีราคาสูง และมักขาดแคลน มาทำความสะอาดกำจัดเชื้อด้วยแสงยูวี แล้วใช้ซ้ำได้อีกประมาณ 5 ครั้งต่อชิ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดปริมาณขยะแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และประหยัดงบประมาณของประเทศชาติได้อย่างคณานับอีกด้วย
เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมต่อไป คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะขยายขอบเขตออกไปเพื่อการบรรลุ SDGs ให้ครบทั้ง 17 ข้อ โดยพยายามจะบรรจุลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการปลูกฝังและพัฒนานักศึกษาของคณะฯ ต่อไปอีกด้วย" รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
- 166 views