เป็นที่ทราบกันดีว่ากว่าจะพัฒนายารักษาโรคขึ้นใหม่ในละแต่ชนิดต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี แต่ในสถานการณ์ COVID-19 ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่องนี้ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้รอนานถึง 10 ปี ไปพร้อม ๆ กับมีอัตราการสูญเสียทั้งทางสุขภาวะ และเศรษฐกิจที่เท่าทวีคูณตามไปด้วย
ด้วยแนวคิดของสาธารณสุขแนวใหม่ ที่ส่งเสริมให้มี "การป้องกัน" ไปพร้อม ๆ กับ "การรักษา" เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้ร่วมกับ หน่วยวิจัยโรคเขตร้อน Mahidol - Oxford Tropical Medicine Research Unit (MORU) ริเริ่มโครงการระดับโลก ที่มุ่งวิจัยเพื่อการประเมินและเปรียบเทียบประสิทธิภาพยาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการใช้ยาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 750 ตัวอย่างทั่วโลก
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจของคณะฯ ที่ได้ทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อการประเมินและเปรียบเทียบประสิทธิภาพยาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่ใช้ระเบียบวิธีวิจัย "Adaptive Platform Clinical Trial" ซึ่งสามารถปรับรูปแบบและขั้นตอนการวิจัยแบบเป็นระบบในระหว่างการศึกษาวิจัย
และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำยาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 หลายชนิดมาศึกษาเปรียบเทียบร่วมกับผลทางคลินิกในผู้ป่วยจริง จุดมุ่งหมายหลักเพื่อการสร้างองค์ความรู้ที่จะสามารถนำไปต่อยอดพัฒนายาป้องกันและรักษาโรค COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น โดยเน้นยาที่มีใช้อยู่ในประเทศไทย
การวิจัยเพื่อการประเมินและเปรียบเทียบประสิทธิภาพยาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่ผ่านมา มักศึกษาเฉพาะประสิทธิภาพของยาตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งให้ผลที่ไม่ครอบคลุม และเพียงพอต่อการนำไปขยายผลในระดับมหภาค โดยยาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่ใช้อยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันมีทั้ง "ยากิน" ซึ่งบางชนิดสามารถผลิตได้เอง และ "ยาฉีด" ซึ่งยังไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ
ด้วยแนวคิดสาธารณสุขแนวใหม่ที่ส่งเสริมให้มีการป้องกันควบคู่ไปกับการรักษา ตลอดจนการมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาป้องกันและรักษาโรค COVID-19 ขึ้นใช้เอง รวมทั้งขยายผลสู่การพัฒนายาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่มีคุณภาพในระดับโลกได้ต่อไปในอนาคต คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ใช้องค์ความรู้ บุคลากร ทรัพยากร ตลอดจนเครือข่ายที่มีอยู่ทั้งภายในประเทศ และนานาชาติ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ ด้วยการริเริ่มโครงการวิจัยดังกล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงวีรวรรณ ลุวีระ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมแพทย์โรคติดเชื้อของโครงการฯ กล่าวว่า COVID-19 เป็นโรคที่มีอาการไม่แน่นอน ซึ่งผู้ป่วยในระยะที่มีอาการไม่รุนแรงในสัปดาห์แรกอาจหายได้เอง
แต่ในทางกลับกันหากเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 อาจมีอาการรุนแรงได้เนื่องจากมีการอักเสบของร่างกาย หากไม่ได้รับยาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีข้อมูลวิจัยค่อนข้างชัดเจนว่าปริมาณไวรัส COVID-19 มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค หากได้รับยาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพในช่วงแรกก็จะสามารถลดเชื้อไวรัส COVID-19 ลงได้ และอาจนำไปสู่การลดความรุนแรงของโรค
ด้วยระเบียบวิธีวิจัย "Adaptive Platform Clinical Trial" ร่วมกับ วิธีการวัดปริมาณเชื้อในสิ่งส่งตรวจอย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และหน่วยวิจัยโรคเขตร้อน Mahidol - Oxford Tropical Medicine Research Unit (MORU) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาขึ้น เพื่อใช้ในการประเมินและเปรียบเทียบประสิทธิภาพยาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 นี้ คาดว่าจะสามารถนำไปต่อยอดใช้กับยาต้านไวรัสชนิดอื่นได้
ซึ่งขณะนี้ในส่วนของประเทศไทยได้มีอาสาสมัครซึ่งรับจากผู้ป่วย COVID-19 ในระยะแรกเริ่มที่เพิ่งมีอาการมาไม่เกิน 4 วันจาก โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้วจำนวน 40 ราย และยังคงรับเข้าร่วมโครงการต่อไปจนกว่าจะครบ 200 รายตามที่โครงการฯ กำหนด
ผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงที่เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้จะได้รับการรักษาตามแนวทางของการวิจัย ซึ่งยาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่ใช้ในการวิจัยนี้ เป็นยาที่มีการศึกษาในคน หรือใช้ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 อยู่แล้ว ไม่ใช่การทดลองยาใหม่
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมวิจัยจะได้รับการดูแลและประเมินอาการจากทีมแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้ออย่างใกล้ชิด และเก็บตัวอย่างโดยการเจาะเลือด และป้ายคอเพื่อประเมินปริมาณเชื้อไวรัส COVID-19 ณ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นเวลา 7 วัน
หลังจากนั้นจะให้ผู้ป่วยได้ไปรอดูอาการต่อที่บ้านเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ก่อนนัดมาตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และอีกสองสัปดาห์จะมีการติดตามอาการผู้ป่วยต่อไปทางโทรศัพท์ โดยไม่มีข้อผูกมัดในเรื่องการใช้ยา
ในกรณีที่พบอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ไม่ว่าจะด้วยตัวโรคเอง หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่ใช้ทดสอบ ทีมแพทย์จะรีบพิจารณาเปลี่ยนแผนการรักษาให้เหมาะสมต่ออาการที่เกิดขึ้นต่อไปทันที นอกจากนี้อาสาสมัครสามารถออกจากโครงการได้ตลอดเวลา
เมื่อป่วยแล้วได้อยู่ใกล้หมอพร้อมเครื่องมือแพทย์คอยดูแล ย่อมปลอดภัยและอุ่นใจกว่าการดูอาการเองที่บ้านอย่างแน่นอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงวีรวรรณ ลุวีระ กล่าว
ซึ่งคุณสมบัติของอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีอายุระหว่าง 18 - 50 ปี ไม่ป่วยเป็นโรคในกลุ่ม NCDs ค่า BMI ไม่เกิน 30 หากเป็นเพศหญิงจะต้องไม่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
โดยจะต้องตรวจพบเชื้อไวรัส COVID-19 ในระยะแรก (มีอาการมาแล้วไม่เกิน 4 วัน) และมีอาการไม่รุนแรง เปิดรับสมัครที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ จนกว่าจะครบจำนวน 200 รายตามที่โครงการฯ กำหนด
สิ่งที่อาสาสมัครจะได้รับอย่างแน่นอน คือ การดูแลและประเมินอาการจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด และร่วมภาคภูมิใจกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนายาต้านไวรัสก่อโรค COVID-19 สู่มวลมนุษยชาติต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook : Faculty of Tropical Medical Medicine, Mahidol University
- 533 views