ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged society) โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หลังจากก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หรือมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10 % นับตั้งแต่ปี 2548 และคาดการณ์ว่าเราจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ในอีก 10 ปีข้างหน้า
“เมืองเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” ได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากขึ้น เพราะหลักการที่สำคัญในการเตรียมพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุไม่ได้มีแค่เพียงด้านสุขภาพร่างกาย แต่ยังมีมิติในเชิงคุณภาพซึ่งส่าด้วยเรื่องของการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ ความสุข และการมีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีไม่เป็นภาระพึ่งพิง
สมชาย ประเสริฐพรพงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลบางนายสี อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชนผ่านเกณฑ์ดีเด่นระดับจังหวัดและผ่านเกณฑ์ประเมินเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ประจำปี 2564 (Age-Friendly Communities/Cities) เมื่อเดือนที่ต.ค.ที่ผ่านมาเล่าถึงแนวคิดและการเป็นต้นแบบในการปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย
“การทำงานของท้องถิ่นและภาครัฐทั่วไปจะมองแต่เยาวชนและคนหนุ่มสาวเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจลืมไปว่าหากพัฒนาไม่ครบวงจร ผู้สูงอายุอาจสร้างภาระให้ลูกหลานและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาต่อไป ยิ่งตอนนี้สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น คนไทยอายุยืนขึ้น ทำอย่างไรไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน ก็ต้องส่งเสริมให้แก่แบบมีคุณภาพ พัฒนาเพื่อเด็ก เพื่อคนรุ่นใหม่แล้ว ก็ต้องรองรับผู้สูงอายุด้วย” สมชาย เปิดด้วยแนวคิดในการสร้างเมืองอย่างไรให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ
(สมชาย ประเสริฐพรพงศ์)
ปัจจุบันเทศบาลตำบลบางนายสีมีประชากรผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 1,900 คนรวมกับข้าราชการบำนาญแล้วคิดเป็นประมาณ 20 % ของประชากรทั้งหมด 11,381 คน (ข้อมูลประชากรทั้งหมดปี 2562)
>> ส่งเสริมสุขภาพ สร้างความแข็งแรง
แน่นอนว่าปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ คือ สภาพร่างกายที่โรยราลงตามวัย ไม่แข็งแรงและมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย
“ผู้สูงอายุต้องการอะไร ก็ต้องการสุขภาพที่ดี เพราะหากร่างกายไม่แข็งแรงก็จะเป็นภาระของลูกหลาน เป็นอุปสรรคในการพัฒนา และอาจจะต้องใช้งบประมาณกับการดูแลรักษามากเช่นกัน เการส่งเสริมด้านการออกกำลังเพื่อสุขภาพจึงเป็นเรื่องหลักที่เราให้ความสำคัญ”
เพราะฉะนั้นในการพัฒนาสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติเทศบาลตำบลบางนายสี หรือสวนสุขภาพพรุเตียวที่นอกจากจะมีสนามฟุตบอล บาสเกตบอล ตะกร้อ เครื่องออกกำลังกายสำหรับเด็ก เยาวชนและวัยทำงานแล้ว ยังมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีมุมพักผ่อนหย่อนใจ มีลานกิจกรรมและพื้นที่ให้เดินออกกำลังกาย เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถมานั่งกินลมชมวิว ยืดเส้นยืดสายไปพร้อมกับลูกหลานได้ด้วย
ไม่เพียงแค่สวนสุขภาพเท่านั้น แต่กิจกรรมชมรมต่างๆ ที่ทางกลุ่มผู้สูงอายุรวมตัวกัน เช่น ไทเก๊ก แอโรบิก หรือกิจกรรมนันทนาการ เป็นต้น ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานที่ งบประมาณ รวมไปถึงการจัดกิจกรรม
“เราสนับสนุนเต็มที่กับทุกๆ ชมรมที่มีการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรม และผลที่ได้ก็คือคนเฒ่าคนแก่มีสุขภาพร่างกาย จิตใจที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังสร้างปฏิสัมพันธ์และเครือข่ายระหว่างผู้ที่มาออกกำลังกายด้วยกัน ภาพของการปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่จะมองไปเรื่องการทำถนน ไฟ คูน้ำ หรือไม่ก็ทำตามคำสั่งของจังหวัด แต่ผมคิดมากกว่านั้น เราพยายามส่งเสริมกิจกรรมแทบทุกอย่างของกลุ่มผู้สูงอายุ”
>> สนับสนุนการมีส่วนร่วมในสังคม
อย่างไรก็ตาม นายกเทศมนตรีตำบลบางนายสี กล่าวว่าสุขภาพที่ดีไม่ได้หมายถึงแค่ร่างกายแต่ต้องรวมถึงจิตใจด้วย และหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดก็คือการมีส่วนร่วมในสังคม ได้พบปะทำกิจกรรมร่วมกันทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกันและกับคนรุ่นใหม่ รวมไปทั้งการถ่ายทอดความรู้และมีส่วนในการพัฒนาเมือง เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ “บานไม่รู้โรย” ซึ่งกำลังเข้าสู่รุ่นที่ 3 แต่ติดสถานการณ์โควิด-19 เสียก่อน
วัตถุประสงค์ของกิจกรรมโรงเรียนก็คือเป็นการดึงผู้สูงอายุออกจากบ้าน เพื่อลดปัญหาผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียงและสร้างความสุข ด้วยการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้และสันทนาการต่างๆที่ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านสุขภาพกาย จิตใจ สังคม ตามคำขวัญของโรงเรียน คือ ไม่หลง ไม่ลืม ไม่ซึม
ขณะที่รูปแบบกิจกรรมก็นำเสนอโดยกลุ่มผู้สูงอายุเองเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ อาทิ การฝึกอาชีพ ทำอาหาร เต้นลีลาศ รำวงและการถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุ โดยมีกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นข้าราชการครูเกษียณเป็นผู้สอนหลักๆ ที่สำคัญสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ทำให้สังคมได้เห็นศักยภาพและคุณค่าของพวกเขา เช่น ขบวนรำวงในประเพณีงานทอดกฐิน หรือ การสอนการทำขนมช่อม่วงให้กับคนรุ่นหลัง
“แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานอย่างเดียว หากกลุ่มผู้สูงอายุไม่เข้มแข็งก็เป็นเรื่องยาก เพราะหากเริ่มจากท้องถิ่นจัดกิจกรรมแล้วดึงผู้สูงอายุมาร่วมเป็นครั้งคราวเดี๋ยวมันก็หายไป แต่หากเกิดจากการรวมตัวของผู้สูงอายุมานำเสนอกิจกรรมแล้วท้องถิ่นทำหน้าที่สนับสนุน ให้คำปรึกษาช่วยประสานงานอย่างเต็มที่แบบนี้จะยั่งยืน มันต้องไปด้วยกันทั้งสองอย่าง”
“ทุกมิติในการพัฒนา พวกเขา (ผู้สูงอายุ) จะอยู่ในกลุ่มเป้าหมายเสมอ เพราะอนาคตทุกคนก็ต้องก้าวสู่วัยสูงอายุเช่นกัน”
>> การตื่นตัวด้านสาธารณะสุข
นอกจากการส่งเสริมด้านสุขภาพและการมีส่วนร่วมในสังคม รวมไปถึงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน อีกหนึ่งอย่างที่ตำบลบางนายสีให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ การดูแลบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (care giver) ที่พัฒนาต่อยอดมาเป็น อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น
“เรามีโครงการอาสาบริบาล ลงไปเยี่ยมสร้างขวัญกำลังใจและดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุติดเตียง โดยเฉพาะบางคนต้องอยู่คนเดียวเพราะลูกหลานไปทำงาน ซึ่งทำมาแล้ว 1 ปีในงบประมาณของกรมส่งเสริมการปกครองที่จะหมดเดือนนี้ แต่เราตั้งใจจะสานต่อโดยจะใช้งบประมาณท้องถิ่นจ่ายเองและเพิ่มคุณภาพมากขึ้น”
“ปกติอาสาที่ผ่านการอบรม 80 ชั่วโมงในการดูแลบริบาลจะได้รับค่าตอบแทนประมาณ 5,000 บาท แต่ถ้าอบรมครบ 120 ชม.จะได้เพิ่มเป็น 6,000 บาท เลยอาจจะเปิดอบรมเพิ่มอีก 40 ชม.เพื่อสร้างคุณสมบัติให้อาสาเบิกค่าตอบแทนได้เพิ่มขึ้นพร้อมกับการดูแลบริการที่เต็มที่ดีขึ้นด้วย จริงๆ ใจอยากให้ 10,000 บาทต่อเดือนด้วยซ้ำ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความตั้งใจ ความเอาใจใส่ แต่ติดที่ระเบียบกำหนดไว้ได้แค่นี้”
สมชาย กล่าวถึงเป้าหมายต่อจากนี้ว่า อยากจะทำโครงการอาสาบริบาลให้ลึกมากขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่ทำกายภาพมีความสำคัญ เพราะผู้สูงอายุมีปัญหาข้อเข่าไม่ดีและมักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ทำกายภาพบำบัด แต่หลายครอบครัวลูกหลานไม่มีเวลา ขณะที่ตัวผู้สูงอายุเองก็อาจจำท่าทางต่างๆ ไม่ได้ หากสามารถเติมเต็มส่วนนี้ได้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อชุมชน แต่ปัญหาก็อยู่ที่ค่าตอบแทนซึ่งติดเรื่องระเบียบข้อบังคับอีก
“ตอนนี้ก็เตรียมขยายโมเดลสวนสุขภาพในจุดอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงถ้วนหน้า เพราะบางนายสีเป็นตำบลใหญ่ และทำให้มีความทันสมัยมากขึ้น หลังจากตอบโจทย์เมืองเป็นมิตรกับชุมชนและผู้สูงอายุ เมื่อฟังจากเสียงชื่นชมและมีผู้สูงอายุย้ายเข้ามาเพิ่ม”
- 1333 views