อาจารย์ศิริราชย้ำ! ฉีดวัคซีนโควิดเป็นเกราะป้องกัน “โอไมครอน” ได้ 50-60% สามารถชะลอจนมีวัคซีนป้องกันจำเพาะได้ในปลาย มี.ค.- เม.ย.65 คาดการณ์ตัวเลขในไทยเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ไม่ชันเหมือนตปท. อาจถึง 50% ของเชื้อทั้งหมดราวครึ่งเดือน ม.ค. - ก.พ. 65 อาจมีผู้ป่วยรายใหม่รายวันถึง 1-2 หมื่นคน แต่อาการหนักราว 2% ทั้งนี้ยังเป็นการประเมินเท่านั้น พร้อมให้ข้อมูลกรณียาโมลนูพิราเวียร์

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2564 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ป่วยโอไมครอนซึ่งส่วนใหญ่อยู่รพ.เอกชนและรพ.ต่างจังหวัด จากการติดตามอาการส่วนใหญ่มีอาการน้อยจนถึงไม่มีอาการ ทางการแพทย์ได้มีการประชุมเตรียมการเป็นระยะๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ทั่วโลกระบุอาการรุนแรงน้อย พบอาการรุนแรงเพียงบางประเทศเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ในส่วนของประเทศไทยทั้งผู้ป่วยคนไทยและคนต่างประเทศที่เดินทางเข้ามากว่า 200 รายยังไม่มีอาการรุนแรงใดๆ แนวทางการรักษาก็คงเดิมไม่ได้แตกต่างจากเดิม ที่มีการระบุว่าเชื้อโอไมครอนลงปอดช้านั้น อาจจะไม่จริง เนื่องจากบุคคลนั้นอาจจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน คนที่ฉีดวัคซีนไม่ว่าเชื้อสายพันธุ์ใดก็มีผลทำให้เชื้อลงปอดช้าได้อยู่แล้ว จึงอาจจะไม่ได้เป็นพฤติกรรมของตัวเชื้อโอมิครอนเอง

“ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงถือเป็นเกราะป้องกันโอไมครอนได้ แม้จะว่าจะมีประสิทธิภาพเหลือสัก 50-60% แต่ยังสามารถชะลอเชื้อไปได้จนกว่าจะมีวัคซีนที่จำเพาะในการป้องกันสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งคาดว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีนน่าจะเร่งวิจัยให้เสร็จประมาณปลาย มี.ค.-เม.ย.2565” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.จากการสุ่มตรวจสายพันธุ์โอมิครอนในไทยมีสัดส่วนประมาณ 3% จะค่อยๆ ขึ้นแต่อาจจะไม่ชันเหมือนเช่นในต่างประเทศ คาดการณ์ว่าจะถึง 50% ของเชื้อทั้งหมดในราวครึ่งเดือนหลังของ ม.ค.ถึง ก.พ.2565 อาจจะมียอดผู้ป่วยใหม่รายวันพีคที่ 1-2 หมื่นคน เพียงแต่ผู้ป่วยอาการหนักจะอยู่ที่ราว 2% หรือ 200-400 คนต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 5% ซึ่งภาคการแพทย์ยังรับมือไหว อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงการประเมินคาดการณ์ช่วงเวลาอาจจะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถคุมสถานการณ์ในช่วงปีใหม่ได้ดีมากน้อยแค่ไหน รวมถึงช่องโหว่จากการเล็ดรอดเข้ามา ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีเล็ดรอดอยู่ ขึ้นอยู่ว่าจะตามจับได้หรือไม่

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ที่รพ.ศิริราชยังไม่มีเคสผู้ป่วยโอมิครอนเข้ามารักษา แต่ได้เตรียมการรองรับไว้ ทุกรพ.ในกทม.ก็เตรียมการไว้ เนื่องจากเชื้อโอมิครอนประมาณ 50-60% อยู่ในกทม. แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการไม่หนัก แต่การรับเข้ามารักษาในรพ.เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายในชุมชน จนกว่าจะรับไม่ไหวหรือกลายเป็นเชื้อหลักก็คงต้องปรับวิธีการรักษาด้วยระบบโฮมไอโซเรชั่น แต่คาดว่าจะไม่รุนแรง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวถึงกรณีที่ฝรั่งเศสยกเลิกการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ว่า ฝรั่งเศสยกเลิกเนื่องจากมีข้อมูลถึงประสิทธิภาพการใช้ยาในสถานการณ์จริงที่ลดลงจาก 50 กว่า% เหลือ 30 % สำหรับประเทศไทยมีการสั่งจองจัดซื้อไปแล้ว คงไม่ยกเลิก เราอาจจะเก็บไว้ใช้คู่กับยาฟาวิพิราเวียร์ก็อาจจะเพิ่มประสิทธิภาพขึ้น การยกเลิกการใช้ยาตัวใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยสั่งไปแล้วอาจจะยกเลิกไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้จักวิธีใช้ก็เชื่อว่ายังคงใช้ได้อยู่ ประสิทธิภาพอาจจะลดลงบ้างแต่ยังดีกว่าไม่มีอะไรใช้

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : อัปเดต! โควิด “โอไมครอน” ในไทย 25 ราย เชื่อมโยงมาจากต่างประเทศ

 

วันเดียวกัน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ยังโพสต์เฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล กรณีผู้ป่วยโอมิครอน ว่า ผู้ป่วยเริ่มโอไมครอนเริ่มเพิ่มล่าสุดเป็น 25 รายแล้ว สำหรับรายที่เป็นการแพร่กระจายเชื้อภายในประเทศ ที่ต้องจับตาคือคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิงที่กาฬสินธุ์ เนื่องจากร้านเป็นระบบปิด จึงน่าจะเป็นส่วนสำคัญทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายทางละอองฝอยในอากาศ (aerosols) ตามมาด้วยการติดเชื้อของพนักงานบริการในร้านหลายคน รวมถึงนักดนตรีด้วย การกินอาหารร่วมกันแม้จะระมัดระวังตัว (หรือเปล่าไม่รู้) แต่ก็ยังสามารถติดต่อได้ง่ายทางการหายใจ เพราะเราจะไม่ได้ใส่หน้ากาก ยิ่งถ้ามีการพูดคุยสรวลเสเฮฮาเคล้าอาหารและเสียงเพลงไปด้วย ชักเสียวสันหลังแล้วสำหรับแผนการผ่อนผันสถานบันเทิงที่มีกำหนดในกลางเดือนหน้า

นอกจากการป้องกันการระบาดของโอไมครอนด้วยมาตรการควบคุมโรคที่ยังคงใช้ได้ดีไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายพันธุ์ไหน ในส่วนเกราะกำบังจากวัคซีนนั้นจะช่วยเราได้แค่ไหน เริ่มมีข้อมูลสนับสนุนมากขึ้นว่าเจ้าตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้สามารถหลุดรอดภูมิคุ้มกันที่เราพยายามเสริมสร้างกันอยู่ ทำให้หลายประเทศเร่งฉีดวัคซีนเข็มสามไปจนถึงเข็มสี่ ด้วยความหวังซื้อเวลาไว้จนกว่าจะได้วัคซีนใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับใครที่ยังลังเลว่าจะฉีดดีไหมหลังได้ครบสองเข็มไปแล้ว อย่างน้อยบุคลากรด่านหน้าและกลุ่มเปราะบาง 608 ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับคนที่ไม่อยู่ในข่ายนี้อาจรอดูข้อมูลอีกสักนิด ส่วนตัวผมที่ได้รับวัคซีนของซิโนแวคไปแล้วสองตามด้วยของไฟเซอร์ไปหนึ่ง ตั้งใจจะเลือกของแอสตร้าเป็นเข็มสี่ เพราะประทับใจการสร้างภูมิชนิดพึ่งเซลล์ที่ช่วยลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ดี และจะได้เป็นการรับวัคซีนครบทุกรูปแบบไปในตัวด้วย

เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลผลของวัคซีนต่อโอไมครอนในสถานการณ์จริง จึงต้องอาศัยการเทียบเคียงกับเดลต้าไปก่อน ลองดูความเห็นของผู้เชี่ยวชาญสองท่านที่ชี้ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนเข็มสามประเภทเดียวกันกระตุ้นภูมิต่อเดลต้าได้กว่า 90% ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของไฟเซอร์หรือของแอสตร้า ดังนั้นแผนการฉีดเข็มสามของบ้านเราด้วยวัคซีนทั้งสองชนิดนี้น่าจะเป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้วสำหรับการควบคุมเดลต้าที่ยังครองตลาดอยู่ แม้ว่าจะมีการติดเชื้อโผล่ผุด (breakthrough infection) เกิดขึ้น แต่อาการมักไม่รุนแรงและระยะเวลาการแพร่เชื้อก็สั้นลงเมื่อเทียบกับการติดเชื้อในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน https://www.science.org/doi/epdf/10.1126/science.abl8487 ส่วนผลของเข็มกระตุ้นที่เราหวังจะให้ครอบคลุมโอไมครอนนั้น คงต้องรอข้อมูลในสถานการณ์จริงที่กำลังเริ่มออกมามากขึ้น ตอนนี้คงได้แต่ยืนยิ้มกอดอกพร้อมรับมือไม่ว่าโอไมครอนจะมาไม้ไหน และเตรียมตัวเชียร์ทีมช้างศึกอีกครั้งให้โชว์ฟอร์มเยี่ยมเหมือนเมื่อวานที่เอาชนะทีมเวียดนามได้อย่างสุดสวย

#รวมพลังทุกชีวิตร่วมพิชิตโอไมครอน

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล