เทรนด์ความใส่ใจเรื่องสุขภาพในปัจจุบัน ผู้คนมองหาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สารเคมีกลายเป็นสิ่งที่กำลังถูกมองข้าม อาหารและยาจากธรรมชาติได้รับความนิยมมากขึ้นในประเด็นด้านความปลอดภัยเนื่องจากมีผลกระทบน้อยกว่า นี่คือโอกาสดีของการพัฒนาสมุนไพรไทยในมีศักยภาพนิงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งงานมหกรรมสมุนพรแห่งชาติ ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นหัวข้อประชุมวิชาการ"โอกาสและความท้าทายการพัฒนาสมุนไพรไทยเชิงเศรษฐกิจ"
ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกดรัก จำกัด กล่าวว่า โอกาสและความท้าทายสมุนไพรไทยเป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสร้าง เทคโนโลยีเราเคลื่อนย้ายได้แต่สมุนไพรบนแผ่นดินของเราไม่มีใครมี
"ในธุรกิจระบบสุขภาพกว่า 2 แสนล้านบาท สมุนไพรไทยเข้าไปแชร์ไม่ถึง 10 % นี่คือโอกาสและความท้าทาย แต่ขาดการรวบรวมองค์ความรู้สมุนไพรจากบุคลากรด้านสาธารณสุข คนป่วยในไทย 90 % ไปโรงพยาบาลหาแพทย์แผนปัจจุบัน แต่แพทย์แผนปัจจุบันไม่รู้จักสมุนไพรไทย เราจะทำอย่างไรให้แพทย์แผนปัจจุบันซึ่งใช้ยาส่วนใหญ่ของประเทศมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท นี่เป็นความท้าทายของของบุคลากรด้านสาธารณสุข"
ภก.สุวิทย์กล่สาวว่า เมื่อมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นมหาศาล แต่ปัญหาสำคัญคือขาดการบูรณาการ ดูเฉพาะตลาดยา ไม่รวมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตกปีละ 1.8 แสนล้านบาท อันดับ 1 ยาที่ใช้คือโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน อันดับ 2 คือโรคทางเดินอาหาร แต่อันที่น่าสนใจที่สุดคือ มะเร็ง คำถามคือเป็นมะเร็งขึ้นมาแล้วมหาศาล ทำอย่างไรที่จะทำให้สมุนไพรไทยตรงกับความต้องการของตลาด และให้แพทย์แผนปัจจุบัน บุคลากรสาธารณสุขมาใช้ ให้นโยบายยาแห่งชาตินำสมุนไพรไทยไปใช้ โจทย์ก็คือองค์ความรู้ที่แท้จริงคืออะไร ใครเป็นผู้ใช้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกดรัก จำกัด กล่าวอีกว่า มุมมองเชิงเศรษฐกิจ สมุนไพรตัวเดียวมีผลกระทบต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติทั้งหมด คือผลิตภัณฑ์คุณภาพ รายได้เข้าประเทศ การมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ พนักงานก้าวหน้า สร้างงานสร้างรายได้
"เกษตรกรสามารถมีรายได้จากสมุนไพร ปลูกข้าวได้เต็มที่ 1 ไร่ ได้ 1 เกวียน เต็มที่ไม่เกิน 1 หมื่นบาท แต่ถ้าปลูกกระชายดำปีหนึ่งได้ 2 แสนบาท ในอนคตอยากเห็นเด็กรุ่นใหม่ๆ ไปทำไร่กระชายดำ ไร่ไพล ตื่นเช้ามากดโดรนรดน้ำ นั่งจิบกาแฟ มีรายได้" ภก.สุวิทย์ กล่าว
ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทั่วโลกไม่ได้มองว่าเป็นสมุนไพร แต่มองว่าเป็นเรื่องสุขภาพ ซึ่งในประเทศไทยสมุนไพรตามบัญชี 3 พันกว่าชนิด แต่เราก็เอามาใช้กัน 10 กว่าชนิดเท่านั้น ขาดคนไปบุกเบิก
"โลกหมุนไปทางชีวภาพ ลดโลกร้อน ใส่เรื่องสุขภาพจากธรรมชาติ รังเกียจสิ่งที่เราเรียกว่าสารเคมี เมื่อโอกาสเปิดทางให้สมุนไพร ถ้าเรารู้ว่าสมุนไพรตัวนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำได้ แล้วตลาดปลายน้ำว่าง ไม่มีใครทำตรงนี้ ถ้าใครทำได้ตลาดก็จะเป็นของเรา ลักษณะเช่นนี้เป็นคอนเซ็ปท์สำคัญที่เราเรียกว่าโอกาส ความท้าทายก็คือทำได้หรือไม่ ถ้าอยากจะทำเราต้องมีฝีมือ แล้วฝีมือนั้นมันมีโอกาสชนะ นั่นเรียกว่าความท้าทาย"
อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรมกล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กำหนด 4 สมุนไพรเป็น Champion Products ได้แก่ กระชายดำ ไพล บัวบก ขมิ้นชัน ใน 5 ปีข้างหน้า ไทยจะส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพร และมีมูลค่าตลาดสมุนไพรในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนจะต้องมีบทบาทอย่างสูงในการสนับสนุนให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับทั่วไป นี่คือโอกาสที่ภาครัฐบอกแล้วว่าจะทำอะไร เพียงแต่ว่าเราจะทำหรือเปล่า
ด้านดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ไม่เคยต้องการทำธุรกิจ แต่เมื่อไปอยู่ต่างจังหวัดเห็นความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นขุมทรัพย์ทางชีวภาพ ยิ่งทำก็ยิ่งเชื่อมั่นว่าเราสามารถสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจได้
จุดเริ่มต้นที่ดร.ภญ.สุภาภรณ์บอิกว่าตนเองไปเป็นเภสัชกรบ้านนอก แล้วตั้งคำถามว่าต้องพึ่งฝรั่งหมดเลยหรือ ต้องพึ่งสารเคมีทั้งหมดเลย เป็นเภสัชกรที่กวนยาอยู่ในห้องผลิตใช้ในโรงพยาบาล และต่อมาเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่แห่งแรกที่ใช้ใบไม้เขียวๆ ใช้องค์ความรู้ของหมอยาไปสกัด ซึ่งกว่าจะขึ้นทะเบียนได้นานมาก หลายคนคงเคยได้ยินเสลดพังพอนตัวเมีย ซึ่งแก้อักเสบได้ดีมากแม้กระทั่งสะเก็ดเงิน พอได้ผลก็เชื่อมั่นมากขึ้น
"ในตอน 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็สั่งมาให้ช่วยชาวบ้าน ก็เลยทำเป็นโครงการสาธิตการพัฒนาสมุนไพร ตั้งใจจะอบรมชาวบ้าน เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ก็ตั้งใจจะสอนชาวบ้าน หลังๆ มาชาวบ้านก็หิ้วเอาไปขายทั่วไป จึงปรึกษาไปที่ อย. ซึ่ง อย.ให้ตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อเป็นนิติบุคคล ให้ถูกต้องตามกฎหมาย" ดร.ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว
ด้านภก.วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า พรบ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 บนความคาดหวังว่าจะเป็นตัวพลิกกระบวนการขึ้นตำรับ ซึ่งก็ถูกสร้างขึ้นมาอย่างดีแต่ก็มีการบ้านให้เราต้องทำ ในการออกกฎหมายลูกจำนวนมาก
"เวลาเราขึ้นทะเบียนตำรับแล้วผลักดันสู่ตลาด เรามีคณะอนุกรรมการที่มาจากนักวิชาการหลายท่าน ถ้าได้รับความการยอมรับจากนักวิชาการก็จะมีความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน เขาจะเชื่อมั่นก็ต่อเมื่อกระบวนการตรงนี้เป็นที่ยอมรับ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระบวนการกลั่นกรอง ในการตรวจประเมินต่างๆ ก่อนออกสู่ตลาดจะต้อง มีความเข้มงวดและได้มาตรฐานระดับหนึ่ง" ภก.วราวุธ กล่าว
ขณะที่ตัวแทนของแพทย์พื้นบ้านดร.อุษา กลิ่นหอม นายกสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไทย กล่าวว่า ความรู้ทางด้านสมุนไพรไทยถูกลดทอนลงไป ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายลูกออกมาเมื่อปี 2562 จึงมีภารกิจ 16 รายการขึ้นมา
"1 ใน 16 รายการตามระเบียบปฏิบัติ บอกว่าสามารถมาขอเงินจากกองทุนแพทย์แผนไทยไปใช้เพื่อการฝึกอบรม เพื่อปลูกสมุนไพรในที่ดินของหมอพื้นบ้าน หรือสนับสนุนการปลูกสมุนไพร เช่น การเตรียมดิน เพาะปลูก ผลิต ขยายพันธุ์ ส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ให้คำแนะนำเรื่องต้นน้ำ สนับสนุนงานวิจัย ขยายพันธุ์ สนับสนุนสายพันธุ์ ส่งเสริมการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว ฯลฯ ทั้งหมดที่กำหนดมามักจะเกี่ยวข้องกับระดับกลางและระดับสูง ไม่ค่อยสัมพันธ์กับรากหญ้า สมาคมฯ จึงนำไปดูว่าในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ถ้าจะใช้เงินผ่านกองทุนจะทำอย่างไรถึงจะลงไปสู่รากหญ้าหรือเกษตรกรได้จริงๆ สมุนไพรที่จะสนับสนุนตามมาตรา 64 ต้องมีอยู่ 3 กรอบเท่านั้น คือเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าต่อการวิจัย เศรษฐกิจหายาก เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งตอนนี้มีเพียงตัวเดียวคือกวาวเครือทั้ง 3 ชนิด ขาว แดง ดำ และเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์อื่นๆ"
นายกสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านกล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ประกาศให้สมุนไพร 9 ตัว ที่มาจากยา 5 ราก มี ชิงชี่ ย่านาง ท้าวยายม่อม มะเดื่ออุทุมพร คนทา ที่เหลือคือ กวาวเครือขาว กวาวเครือแดง กวาวเครือดำ และหัวร้อยรู เป็น 9 ตัวที่จะสามารถของบประมาณทางกรมไปปลูกได้ โดยที่กรมไม่ได้รับซื้อเพียงแต่แนะนำว่าถ้าจะปลูกสมุนไพรควบคุมตามกรอบก็จะเป็น 9 ตัวนี้
"บางทีหมอก็ไม่รู้ แต่อยากปลูกเช่น ต้นจันทร์ขาว จันทร์แดง หมอก็ไม่รู้เลยว่ามันปลูกอย่างไร แต่รู้ว่าต้องใช้และทุกวันนี้ต้องไปซื้อก็เลยอยากปลูกเอง ก็เลยมีการจัดทำคู่มือสมุนไพรขึ้นมา ซึ่งหลังจากนี้จะมีการทำข้อมูลไปเสนอกรมว่าถ้าจะสนับสนุนให้หมอพื้นบ้านปลูกสมุนไพรควรจะต้องทำอะไรบ้าง" ดร.อุษา กล่าว
ขณะที่เกษตรกรผู้เพาะปลูกสมุนไพร นายประสิทธิ์ สมบุตร หมอพื้นบ้าน อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี กล่าวว่า มีที่ดินประมาณ 60 ไร่ ใช้ในการปลูกสมุนไพร 10 กว่าไร่ จำนวนหลายร้อยชนิด โดยที่มีเยอะที่สุดคือขันทองพยาบาท และกำแพงเจ็ดชั้น
นายสวาท จันทร์แดง หมอพื้นบ้าน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กล่าวว่า มีสมุนไพรที่ปลูกมี 2 แปลง แปลงแรก 2 ไร่ อีกแปลงหนึ่ง 4 ไร่ โดยแปลงที่ 2 เป็นการปลูกสมุนไพรร่วมกับยางพารา
"ปลูกสมุนไพรที่ใช้กันมาก เป็นสมุนไพรพื้นถิ่น เช่น ปลาไหลเผือก ตอนนี้ใช้กันมากใน จ.พัทลุง และสามารถจำหน่ายได้ ความต้องการของตลาดก็เยอะ ขายให้กับร้านขายยาสมุนไพร นอกจากนี้ยังปลูกชิงดอกเดียว ใช้ผสมในตำรับยาพื้นบ้านกันมาก ช่วยในการไหลเวียนเลือด ร่างกายกระฉับกระเฉง ที่หมอพื้นบ้านใช้มาตั้งแต่โบราณ มีอยู่ในธรรมชาติมากพอสมควรแต่ถูกนำไปใช้ประโยชน์น้อย พื้นที่ปลูกถูกทำลายไปปลูกยางพาราแทน ทำให้ทุกวันนี้ลดจำนวนลงเยอะ จึงได้นำมาปลูกในสวน" นายสวาท กล่าว
การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสมุนไพรที่ผ่านมาสร้างการตื่นตัวให่กับแพทย์แผนไทยและการปลูกสมุนไพรเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหากรวบรวม พัฒนาองค์ความรู้สู่การพัฒนาต่อยอดได้ โอกาสที่สมุนไพรไทยจะมีส่วนแบ่งจากตลาดสถุขภาพที่มีมูลค่าปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ก็ย่อมมีมากขึ้น
- 354 views