กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ออกคำสั่งปิดชั่วคราว คลินิกพิมรี่พาย 30 วัน เหตุตามแนวทางหากพบสถานพยาบาลมีแพทย์ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ หรือหมอเถื่อน ย่อมไม่ปลอดภัยต่อประชาชน ระหว่างนี้ให้ปรับปรุง พร้อมแจงความผิดตามกฎหมาย
จากกรณี น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ “พิมรี่พาย” หุ้นส่วนอิสคิวท์คลินิกเวชกรรม สาขาห้วยขวาง เข้าแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ว่า คลินิกของตนถูกมิจฉาชีพใช้เอกสารใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์หญิงท่านอื่น มาสมัครเป็นแพทย์ผู้ให้บริการของคลินิก ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค. พิมรี่พา ประกาศรางวัลแจ้งเบาะแสหาตัวผู้กระทำความผิดสูงถึง 100,000 บาท และให้คำมั่นสัญญาว่า หากพบเหตุการณ์เช่นนี้อีก ตนจะปิดคลินิกทันที
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ตามข่าวขึ้น เมื่อวานนี้(17ธ.ค.) ทางเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ก็ได้ลงพื้นที่ที่ “อิสคิวท์คลินิกเวชกรรม สาขาห้วยขวาง” เพื่อตรวจสอบข้อมูล โดยระหว่างนี้ สบส. ได้สั่งปิดให้บริการเฉพาะสาขาดังกล่าวชั่วคราว เป็นเวลา 30 วัน ในส่วนของเจ้าของสถานพยาบาลก็จะมีโทษตามกฎหมายสถานพยาบาลต่อไป ที่ปิดเพียงสาขาเดียวเนื่องจากต้องดูจากเหตุที่เกิด เรายังพบแค่สาขาเดียว
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า เรากำลังออกคำสั่งปิดสถานบริการชั่วคราว 30 วัน อธิบายได้คือตามแนวทางหากพบสถานพยาบาลที่มีแพทย์ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ หรือ หมอเถื่อน เข้ามาทำงาน ถือว่าไม่ปลอดภัยต่อประชาชนเราจึงต้องสั่งปิดชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้เกิดการปรับปรุงและระมัดระวังมากขึ้น ขณะนี้ ที่ผิดแน่นอน คือ หมอที่แอบอ้างตัว ซึ่งเจ้าพนักงานสอบสวนกำลังออกหมายจับอยู่
เมื่อถามว่า ทางเจ้าของคลินิกระบุว่า แพทย์จริงที่ประจำอยู่ในคลินิกเป็นผู้รับสมัครงานจากหมอแอบอ้าง ดังนั้น ความผิดจะเกิดขึ้นจากใครบ้าง นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตามกฎหมายคลินิก จะประกอบด้วย 1.ผู้รับอนุญาต คล้ายเป็นเจ้าของกิจการ ที่จะเป็นบุคคลทั่วไป หรือบริษัทก็ได้ และ 2.ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล คือ แพทย์ในคลินิกที่มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์ตามแต่ละสาขา คล้ายผู้จัดการทางการแพทย์ มีหน้าที่จัดหาผู้ให้บริการที่ถูกต้อง แต่ปรากฎว่ามีหมอเถื่อนในคลินิก ดังนั้น เบื้องต้นจึงมีโทษจากการไม่จัดผู้ให้บริการ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยความผิดตาม พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีว่าจะมีส่วนรู้เห็นหรือไม่นั้น ต้องรอให้เจ้าพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป
“ขณะนี้ เบื้องต้นความผิดหลักอยู่ที่ผู้ดำเนินการ ส่วนภาพรวมถือว่าสถานพยาบาลไม่ปลอดภัย พบหมอเถื่อนเข้ามาทำงาน ตามหลักจึงต้องปิดปรับปรุง 30 วัน ส่วนเจ้าของคลินิก ตาม พรบ.สถานพยาบาล ยังไม่พบความผิด แต่สิ่งที่เราปิดสถานบริการ นั่นเป็นการลงโทษเจ้าของตามโทษการปกครองแล้ว” นพ.ธเรศ กล่าว
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบวานนี้(17ธ.ค.) ยังพบความผิดในด้านอื่นๆ เช่น คลินิกมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยโดยไม่ได้รับอนุญาต การโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และการไม่แจ้งรายชื่อของแพทย์ผู้ให้บริการกับผู้อนุญาต ซึ่งจะมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
- 189 views