อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตรียมส่งทีมตรวจสอบ "พิมรี่พาย" ทั้งปมใช้ "หมอปลอม" และ "ฟิลเลอร์" ย้ำเจ้าของคลินิกต้องเช็กหมอจริงหรือปลอม ก่อนรับทำงาน ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ หากพบว่าหมอเถื่อนจริง ผู้รับบริการมีสิทธิฟ้องร้องได้
จากกรณีแพทย์หญิงออกมาระบุว่า ถูกนำชื่อและเลขใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมไปแอบอ้างเป็นแพทย์ประจำคลินิก Est Cute clinic ของพิมรี่พาย ขณะที่พิมรี่พายได้แจ้งความว่าถูกสาวเอาใบประกอบวิชาชีพมาหลอกลวงว่าเป็นแพทย์ ด้านบริษัทนำเข้าฟิลเลอร์ออกมาเปิดเผยว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้สั่งซื้อฟิลเลอร์จากทางบริษัทที่นำเข้าโดยตรง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีดังกล่าวต้องขอให้ทางเจ้าหน้าที่ของ สบส.ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ว่ามีความผิดมาตรฐานในเรื่องใดบ้าง ส่วนกรณีมีการใช้ใบวิชาชีพปลอมมาสมัครใครเป็นแพทย์ประจำคลินิกนั้น เบื้องต้นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลจะต้องตรวจสอบบุคลากรที่มาปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ ตรวจสอบว่าเป็นแพทย์ พยาบาลจริงหรือไม่ หากไม่จริงแล้วรับมาทำงานก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และ พ.ร.บ.วิชาชีพนั้นๆ ด้วย เนื่องจากไม่ได้ควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน
เมื่อถามว่าที่เจ้าจองคลินิกไปแจ้งความว่าตัวเองไม่รู้ก็ไม่สามารถอ้างได้ ใช่หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ผู้รับอนุญาตต้องตรวจสอบ
เมื่อถามถึงลูกค้าที่ไปรับบริการฉีดฟิลเลอร์จะดำเนินการอย่างไรได้ นพ.ธเรศกล่าวว่า ต้องพิสูจน์และตรวจสอบก่อนว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ผู้ให้บริการไม่มีใบอนุญาตจริงหรือไม่ ยาและเวชภัณฑ์เป็นของจริงหรือไม่ หากได้รับบริการแล้วเกิดความเสียหาย ผู้รับบริการก็มีสิทธิฟ้อง เรียกร้องความเสียหายได้ หรือผู้ให้บริการไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพก็ผิดกฎหมาย สามารถดำเนินการทางคดีได้
"การฉีดฟิลเลอร์ซึ่งเป็นสารเติมเต็ม เราเคยพบภาวะแทรกซ้อน เช่น ฉีดตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องเข้าไปในกระแสเลือด แล้วเข้าไปอุดในเส้นเลือดสมอง เคยมีคนเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ หรือหากอุดตันเส้นเลือดบนใบหน้าก็ทำให้ขาดเลือด เป็นแผลเป็น หรือตาบอดก็มี" นพ.ธเรศกล่าว
นพ.ธเรศกล่าวว่า ดังนั้น คนฉีดต้องเข้าใจโครงสร้างใบหน้า เส้นเลือดตรงไหนต้องระวัง คนที่ไม่มีความรู้ ไม่ได้รับใบอนุญาตมาก็ยิ่งอันตรายมาก ทั้งจากตัวยาและตำแหน่งที่ฉีด ฝากเตือนว่สก่อนรักษาให้ตรวจสอบ และผู้รับอนุญาตหรือเจ้าของคลินิกทุกแห่งมีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่ารับคนมาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพจริงไหม ซึ่งตรวจสอบได้ทั้งจากแพทยสภา สภาการพยาบาล ส่วนคลินิกก็ตรวจสอบได้ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดว่าเป็นคลินิกเถื่อนหรือไม่
"ส่วนหมอเถื่อนนี้ผิดแน่นอน เพราะประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ส่วนตัวคลินิกจะผิดเรื่องใดบ้าง เป็นไปตามข้อมูลที่มีการกล่าวไว้หรือไม่ ต้องตรวจสอบก่อน" นพ.ธเรศกล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง : สบส.ตรวจคลินิก “พิมรี่พาย” หากพบสถานพยาบาลมีส่วนรู้เห็น ปล่อยปละละเลยย่อมมีความผิด
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 404 views