“ฟ้าทะลายโจร” เป็นสมุนไพรไทยที่มีการใช้อย่างกว้างขวางในประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ได้ออกประกาศ ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2564 เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 คัดเลือกยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรและยาจากผงฟ้าทะลายโจร เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ในข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง (อ้างอิง1)
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ได้รับการบรรจุในแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งระบุว่า ยาฟ้าทะลายโจรอาจมีฤทธิ์ต้านไวรัสโคโรนา 2019 หรือ SARS-CoV-2 โดยสามารถต้านการอักเสบ และลดอาการไข้ หวัด เจ็บคอ ทั้งนี้ให้พิจารณาใช้ยาฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ที่รุนแรง และไม่มีข้อห้ามต่อการใช้ยาฟ้าทะลายโจร
ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า อาจช่วยลดโอกาสของการเกิดปอดอักเสบได้ โดยขณะนี้กำลังมีการศึกษาเพิ่มเติม และไม่แนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 รวมถึงยังไม่มีข้อมูลผลการศึกษาการใช้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัสชนิดอื่น (อ้างอิง2) ทั้งนี้มีการปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติฯ ดังกล่าวเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 โดยปรับคำแนะนำในการพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรในกลุ่มที่ไม่มีอาการ ให้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ รวมถึงไม่ให้ยาฟ้าทะลายโจรและยาต้านไวรัสร่วมกัน เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากยา (อ้างอิง3)
ฟ้าทะลายโจรจึงนับเป็นสมุนไพรไทยที่เป็นความหวังและเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการวิจัยจึงมีความสำคัญในการช่วยหาคำตอบถึงประสิทธิผลจากการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ดังนั้น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้สนับสนุนชุดโครงการวิจัย “ประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด-19” เพื่อประเมินประสิทธิภาพของสารสกัดฟ้าทะลายโจร สำหรับป้องกันการเกิดปอดอักเสบในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย รวมทั้งประเมินความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ พร้อมมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัย (Data and Safety Monitoring Board: DSMB)
เพื่อกำกับดูแลโครงการวิจัยให้มีมาตรฐานการดำเนินงานที่ถูกต้องและปลอดภัย นอกจากนี้ยังเป็นงานวิจัยที่มีการทำงานร่วมกับทีมวิจัยในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและปราจีนบุรีอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา สวรส. โดยแผนงานวิจัยและพัฒนาระบบยา ได้ลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี ติดตามกระบวนการวิจัย และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน เพื่อร่วมกันพัฒนามาตรฐานการวิจัยเชิงคลินิกในครั้งนี้ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานมากที่สุด
ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนถึงผลการศึกษาของยาฟ้าทะลายโจรต่อการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 และแพทย์ผู้รักษายังขาดความเชื่อมั่นในการเลือกใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งถ้ามีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นจำนวนมาก อาจมีโอกาสทำให้เกิดสถานการณ์ยาไม่เพียงพอ ดังนั้นยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นยาสมุนไพรที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย จึงเป็นทางเลือกที่เป็นความหวังในการใช้รักษาผู้ป่วย
ซึ่งชุดโครงการวิจัยฯ ดังกล่าว มีรูปแบบการศึกษาวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม และแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial: RCT) โดยใช้กระบวนการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาตรฐานในทุกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้มีหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือว่าการใช้ยาฟ้าทะลายโจรมีผลในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 จริงหรือไม่ ตลอดจนระเบียบวิธีวิจัยที่ได้มาตรฐานนี้จะทำให้เกิดการยอมรับการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งมาตรฐานจากการดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางการดำเนินงานวิจัยเชิงคลินิกในประเด็นอื่นๆ และเชื่อว่าผลจากการศึกษาวิจัยจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป
ทั้งนี้พื้นที่ในการศึกษาวิจัยได้แก่ โรงพยาบาลสนามเสาไห้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพมิชชั่น อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โรงพยาบาลสนามไฮโฮเต็ล อ.หนองแค จ.สระบุรี โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จ.นครนายก และโรงพยาบาลสนามเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี โดยมีเป้าหมายในการเก็บข้อมูลผู้ป่วยประมาณ 700 คน ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแล้ว รวมถึงการเก็บข้อมูลทั้งหมดต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยทุกราย ซึ่งผลการวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาแนวทางการใช้ยารักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตลอดจนเป็นข้อมูลประกอบการสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรไทย และลดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ โดยคาดว่าจะสรุปผลวิจัยได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565
ข้อมูลอ้างอิง :
1 ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 120 ง (ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2564) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/120/T_0046.PDF
2 แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 25 มิถุนายน 2564 https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25640625085440AM_CPG_COVID_v.15_n%2020210625.pdf
3 แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 สิงหาคม 2564 https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25640804171629PM_CPG_COVID_v.17_n_20210804.pdf
ชุดโครงการวิจัยเรื่อง ประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด-19
- 609 views