อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยปัจจัยมีผลต่อการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มี 3 ช คือ "เชื่อมั่น-ชะล่าใจ-ช่องทาง" ชี้กลุ่มเสี่ยง 608 ไม่เชื่อมั่นถึง 53.81% ทั้งความปลอดภัย ผลข้างเคียง และสูตรวัคซีน เร่งเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น ให้ข้อมูลถูกต้อง พบ 80% เปลี่ยนใจฉีดวัคซีนจากกว่า 1 พันคน สาเหตุสำคัญครอบครัวมีส่วนผลักดันหันมาฉีดวัคซีน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 7 ธ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตแถลงข่าวประเด็น "แนวทางการสร้างแรงจูงใจในกลุ่มที่ยังไม่เข้ารับวัคซีนโควิด 19" ว่า องค์การอนามัยโลกได้วิเคราะห์ว่า ความลังเลของการรับการฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งใน 10 ปัญหาในการป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม สำหรับองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความลังเลต่อการฉีดวัคซีน ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทยไม่แตกต่างกัน ระหว่างวันที่ 22-28 พ.ย.2564 ประมาณ 2 สัปดาห์และต่อเนื่องสัปดาห์ต่อมาถึงวันที่ 5 ธ.ค. ได้ติดตามผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเกิดอะไรขึ้น จนทำให้พบว่าปัจจัยที่ผลต่อการรับวัคซีนมี 3 ช คือ 1.เชื่อมั่น 2.ชะล่าใจ และ3.ช่องทาง
จากการติดตามกลุ่มตัวอย่างกว่า 1 พันคน โดยกรณีกลุ่มเสี่ยง "608" ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์
สำหรับ ช ที่หนึ่ง "ความเชื่อมั่นในวัคซีน" พบว่า ไม่เชื่อมั่นต่อวัคซีนถึง 53.81% ทั้งเรื่องความปลอดภัย ผลข้างเคียง และสูตรวัคซีน ที่ประชาชนต้องการวัคซีนที่ตนเองต้องการ ส่วนความเชื่อมั่นมี 46.19% อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของความไม่เชื่อมั่นกระทบต่อกลุ่ม 608 มากกว่าประชาชนทั่วไป ซึ่งประชาชนทั่วไปเชื่อมั่นเกินกว่าครึ่ง
ส่วน ช ที่สอง "ความชะล่าใจต่อสถานการณ์" โดยผู้ที่ปฏิเสธ ไม่ยอมฉีดวัคซีนมี 80.89% มองว่าไม่เกิดผลเสียหายต่อตัวเอง หรือมีความเสี่ยงติดโรค มีความเสี่ยงต่อชีวิต ซึ่งกลุ่มชะล่าใจนี้ได้ให้ข้อมูลว่า ในจังหวัดที่อยู่มีการระบาดถึง 50% และมีคนที่รู้จักแล้ว 1 ใน 4 มีการติดเชื้อไปแล้วหรือประมาณ 26.59% ดังนั้น เรื่องความชะล่าใจ เป็นประเด็นสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุข และทุกคนช่วยกันดูแล ไม่ให้กลุ่มเสี่ยงทั้งหลาย หรือกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ระบาดมีความชะล่าใจอีก โดยเราต้องผลักดันกลุ่มนี้ให้รู้ตัวว่าเสี่ยง และรับวัคซีนโดยเร็ว
ช ที่สาม "ช่องทางการรับวัคซีน" ในภาคกระทรวงสาธารณสุข ต้องน้อมรับว่า ยังมีกลไกอีกหลายเรื่องที่สามารถพัฒนาและปรับปรุงได้ เพราะได้ข้อมูลว่า การเดินทางเข้าสู่การรับวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญ โดยผู้ที่สะดวกเดินทางเข้ารับวัคซีนมี 61.61% แต่ไม่สะดวกอยู่ที่ 48.39% ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สจจ.)ได้ขับเคลื่อนจุดฉีดวัคซีนกว้างขวางมากขึ้น และทำงานเชิงรุก ไปฉีดตามชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวก นอกจากนี้ ระยะที่ผ่านมากลไกการบริหารจัดการ ยังปรับปรุงได้อีก โดยได้รับข้อมูลจากประชาชนว่า กลุ่มยังไม่ฉีดวัคซีนมาจากความไม่สะดวกของการนัดหมาย เพราะมีแอปพลิเคชันหลายชนิด การทำงานไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้เกิดความไม่สะดวกของการนัดหมายถึง 47.06%
พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า ทั้ง 3 ช ที่ผ่านมามีทีมเชิงรุกออกไปทำงาน เพื่อขยายการฉีดวัคซีนได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอสำหรับแต่ละพื้นที่ จึงมีการเผยแพร่ข่าวสารอย่างถูกต้อง และหลายรพ.ก็ให้โอกาส สร้างสีสันให้ประชาชนเลือกฉีดวัคซีน เช่น ตัวอย่าง รพ.สนามวัคซีนสุรินทร์ ให้เลือกวัคซีนได้ เป็นต้น
"จากการศึกษายังพบแรงจูงใจทำให้หลายท่านที่ไม่ฉีดวัคซีน เปลี่ยนใจมาฉีดวัคซีน ด้วยแรงจูงใจจากสมาชิกครอบครัว ซึ่งมีผลมาก ยิ่งครอบครัวอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เราต้องช่วยกันสร้างแรงจูงใจแก่กันและกัน เพื่อความปลอดภัยของทุกคน" พญ.อัมพร กล่าว
ทั้งนี้ การสร้างแรงจูงใจแก่กันและกันตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ VUCA ประกอบด้วย
V- Vaccine ฉีดวัคซีนครบ ลดการป่วยหนัก
U- Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา ห่างไกลโควิด
C- Covid Free Setting สถานที่บริการพร้อม ผู้ให้บริการพร้อมครบ ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
A- ATK(Anticen test kit) พร้อมตรวจเสมอเมื่อใกล้คนติดเชื้อ หรือมีอาการทางเดินหายใจ
พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นใครลังเลในการฉีดวัคซีน ขอให้ประสานไปยังหน่วยงานสาธารณสุข หรือพี่น้องอสม. ในการเข้าไปช่วยดูแล เสริมกับครอบครัวในการจูงใจคนยังไม่ฉีดวัคซีนเข้ามาฉีด ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ได้ติดอาวุธ อสม.และบุคลากรสาธารณสุข ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า VA (Vaccine Advice) และ VI (Vaccine Intervention) คือ การถามเป็น กังวลใจอะไร สงสัยอะไร และให้กำลังใจเป็น เมื่อมีข้อมูลถูกต้องเราก็ชื่นชม แต่หากไม่ใช่ เราก็ต้องอธิบาย เพื่อให้ความลังเลนั้นหายไป ซึ่งกลไกลดังกล่าวทำให้ผู้ลังเลฉีดวัคซีนกว่า 1,188 คน ยอมรับการฉีดวัคซีนด้วยความเต็มใจไปถึง 80% เพื่อให้การฉีดวัคซีนจากปัจจุบันกว่า 95 ล้านโดสไปจนถึง 100 ล้านโดสในอนาคตอันใกล้นี้
เมื่อถามถึงจะมีวิธีลดข้อวิตกกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" ต่อประสิทธิภาพวัคซีนอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า ขอเปลี่ยนแปลงการตกใจ เป็นพลัง ด้วยการมีสติ ตั้งหลักดีๆ ในการรับรู้ข่าวสาร เมื่อได้ข้อมูลทบทวนให้ดี และถามตัวเองว่า กังวลใจเรื่องอะไร และเรายังขาดข้อมูลอะไร รวมทั้งจะมีวิธีการจัดการสถานการณ์อย่างไร ที่สำคัญต้องชื่นชมตัวเองว่า เรามีสติในการถามข้อมูลที่ถูกต้อง ถามจากแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ พร้อมรับฟัง สิ่งเหล่านี้ก็จะลดความตื่นกลัวได้
- 328 views