สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายเปิดผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยที่วางขายตามร้านค้าทั่วไปจำนวน 60 ยี่ห้อ พบว่า เกินครึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. สอบ. และเครือข่าย ร่วมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดและดูแลมาตรฐาน
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค (ANCA) จัดงานแถลงข่าวผลการทดสอบ “หน้ากากอนามัย ชนิดใช้ครั้งเดียว” ถ่ายทอดสดผ่านทางเฟสบุ๊ค พร้อมร่วมกันเรียกร้องให้มีการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นสินค้าควบคุมมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพ มีการควบคุมฉลาก และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน เนื่องจากหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าจำเป็นต่อประชาชนในสถาณการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไสรัสโควิด-19 เพื่อคุมครองสิทธิ์ผู้บริโภคให้รับข้อมูลสินค้าอย่างรอบด้านและหลีกเลี่ยงสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขอนามัย
จากผลการทดสอบหน้ากากอนามัยที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างสินค้าที่วางขายตามร้านค้าทั่วไปจำนวน 60 ยี่ห้อ พบว่าเกินครึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. และมีหน้ากากที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่เป็นไปตามโฆษณามีทั้งหมด 7 ยี่ห้อ
ทพ. อนุศักดิ์ คงมาลัย สมาชิกวุฒิสภาและรองประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า มีผู้บริโภคร้องเรียนไปยัง คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ในประเด็นข้อสงสัยประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยที่ใช้เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด - 19 เนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อระลอกที่สามที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างเคร่งครัด จึงได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า หน้ากากอนามัยที่ใช้กันทั่วไป อาจจะไม่มีประสิทธิที่ดีเพียงพอหรือไม่ผ่านมาตรฐาน จึงร้องเรียนมายัง สอบ. เพื่อให้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวในการแถลงข่าวว่า ผลการทดสอบนี้มาจากการสุ่มตัวอย่างสินค้าที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปในท้องตลาด โดยเริ่มเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ถึง 3 ตุลาคม 2564 และตัวอย่างสินค้าที่นำมาทดสอบทดสอบในงานแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ถึง 30 กรกฎาคม 2564 รวมทั้งสิ้นจำนวน 60 ยี่ห้อ
โดยแบ่งออกเป็น ดังนี้
- หน้ากากอนามัยระดับใช้งานทั่วไป จำนวน 14 ยี่ห้อ
- หน้ากากอนามัยระดับใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป (Medical Grade) หรือหน้ากากอนามัยระดับใช้งานด้านการแพทย์ด้านศัลยกรรม (Surgical Grade) จำนวน 27 ยี่ห้อ
- หน้ากากกลุ่มอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ มาตรฐาน N95 หรือ KN95 จำนวน 19 ยี่ห้อ
เพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก (Filter Efficiency) ขนาด 0.1 ไมครอน และอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน รวมถึงการทดสอบความสามารถในการซึมผ่านของอากาศ (Air Permeability) หรือการทดสอบด้านการหายใจ (Pressure Difference)
หลังจากได้นำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่งตรวจวิเคราะห์ว่าเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. ที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
กลุ่มที่ 1 หน้ากากอนามัย ชนิดใช้ครั้งเดียว กำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 2424 - 2562 แต่ในความเป็นจริงแล้วสามารถแบ่งประเภทตามระดับการป้องกันได้ 3 ระดับ แต่หน้ากากอนามัยที่นำมาทดสอบในครั้งนี้กลับแบ่งออกได้เพียง 2 ระดับเท่านั้น ได้แก่ ระดับใช้งานทั่วไป และ ระดับใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป (Medical Grade) รวมกับระดับใช้งานด้านการแพทย์ด้านศัลยกรรม (Surgical Grade)
จากผลการทดสอบหน้ากากอนามัย ชนิดใช้ครั้งเดียว แบ่งประเภทตามมาตรฐาน มอก. 2424 - 2562 กลุ่มที่ 1 พบว่า ระดับใช้งานทั่วไป กำหนดให้หน้ากากอนามัย มีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ค่าผลต่างความดัน ไม่เกิน 4.0 mm H2O/cm2 พบว่า มี 3 ยี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนอีก 11 ยี่ห้อ ไม่ผ่านเกณฑ์
ส่วนหน้ากากอนามัยระดับใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป (Medical Grade) และ ระดับใช้งานด้านการแพทย์ด้านศัลยกรรม (Surgical Grade) กำหนดให้หน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 ค่าผลต่างความดันไม่เกิน 5.0 mm H2O/cm2 พบว่า มียี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 3 ยี่ห้อ และยี่ห้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์สำหรับหน้ากากอนามัยระดับใช้งานด้านการแพทย์ด้านศัลยกรรม มีจำนวน 24 ยี่ห้อ
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ หน้ากากที่ระบุว่าเป็นกลุ่มอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ ชนิดกรองอนุภาค ที่ระบุมาตรฐาน N95 หรือ KN95 ตาม มอก. 2480 - 2562 กำหนดประสิทธิภาพการกรองอนุภาคไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ผลต่างความดันไม่เกิน 35 mmH2O พบว่า ยี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์มีจำนวน 7 ยี่ห้อ และมียี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา จำนวน 5 ยี่ห้อ ส่วนยี่ห้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์สำหรับหน้ากากที่อยู่ในกลุ่มอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ มีจำนวนทั้งสิ้น 6 ยี่ห้อ
(ตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์ทั้ง 60 ยี่ห้อได้ที่ เพจเฟสบุ๊ค สภาองค์กรของผู้บริโภค )
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า ผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอ และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยได้อย่างถูกต้อง สามารถหลีกเลี่ยงสินค้าที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ และทาง สอบ. ได้มีการจัดเวทีกับหน่วยงานและส่งต่อข้อมูลผลการทดสอบต่อหน่วยงานของรัฐเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมกำกับการผลิตหรือการนำเข้าหน้ากากอนามัยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
สำหรับ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Medical mask หรือ Surgical mask) และหน้ากากอนามัยชนิด N95 หรือสูงกว่า ที่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป มีมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดนั้น ทางผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและมาขออนุญาตกับ อย. ในส่วนของสถานที่ผลิตและนำเข้าก่อนที่จะนำไปผลิตหรือจัดจำหน่าย
และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงฉลากและเอกสารกำกับ เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2563 ระบุไว้ว่า หน้ากากอนามัยที่ผลิตหลังวันที่ 31 ตุลาคม 2564 จะต้องระบุเลขที่ใบอนุญาต เลขที่ใบรับแจ้ง รายการละเอียด หรือเลขที่ใบรับจดแจ้ง และหน้ากากอนามัยที่นำเข้ามาในประเทศไทยจะต้องมีการแสดงฉลากบนหน้ากากอนามัยด้วย
ทั้งนี้ หน้ากากอนามัยชนิดใช้ทั่วไปที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดนั้น กลับมีการกำกับด้านราคาเพียงอย่างเดียวขณะที่ด้านมาตรฐานเป็นเพียงความสมัครใจ อีกทั้งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า สินค้าส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. ระบุอยู่ ฉะนั้นหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม อย. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบเร่งหามาตรการการควบคุมคุณภาพหน้ากากอนามัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเหล่านี้ เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของ สอบ. ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนผู้บริโภค มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
ทาง สอบ. จึงจัดทำ ข้อเสนอแนะที่เป็นมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ขอเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ มี 5 ข้อ ดังนี้
- ให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดให้ หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวเป็นมาตรฐานบังคับ และมีบทกำหนดโทษในกรณีที่ ผู้ประกอบการทำการฝ่าฝืน ละเมิดสิทธิผู้บริโภค
- ให้ อย. ดำเนินการเชิงรุกในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
- ให้หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการจัดหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ สำหรับใช้ในโรงพยาบาลของรัฐ กำหนดมาตรฐานตาม มอก. 2424 - 2562 เป็นเงื่อนไขในการกำหนดคุณสมบัติของสินค้าในการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ผลิตหรือนำเข้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้ครั้งเดียว
- ให้เจ้าของแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ มีมาตรการสนับสนุนการเสนอขายหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว เฉพาะที่ได้รับเครื่องหมาย มอก. เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เนื่องจากหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าที่มีผลกระทบกับสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
- ให้ สคบ. ควบคุมฉลากบรรจุภัณฑ์ หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว ให้เป็นไปตามเกณฑ์ ข้อกำหนด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ถูกต้องตามการแบ่งประเภทของชั้นคุณภาพ ซึ่งมีอยู่ 3 ระดับคุณภาพ
- 2130 views