จะดีแค่ไหนหากเราสามารถใช้เทคโนโลยีย่อโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (Inclusive World) ไว้เพียงปลายนิ้ว ให้เป็นที่ที่คนหูหนวก และคนทั่วไปสามารถเข้าใจกันได้โดยไม่ต้องใช้ภาษามือ ผ่านแอปพลิเคชันซึ่งสามารถส่งต่อองค์ความรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด เป็น "โรงเรียนไร้กำแพง" บนโลกไซเบอร์ที่ไม่มีค่าหน่วยกิต

นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้ริเริ่มคิดค้นและพัฒนาแอปพลิเคชันให้หญิงผู้พิการทางการได้ยินตั้งแต่วัย 10 ปีขึ้นไปสามารถเรียนรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศและการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงได้โดยไม่ต้องใช้ภาษามือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คร่ำหวอดด้านการสอนและวิจัยเพศวิถีศึกษามาอย่างยาวนาน ได้ใช้ประสบการณ์จากการเป็นผู้สอนเพศวิถีศึกษามาต่อยอด คิดค้น และพัฒนาแอปพลิเคชัน ภายใต้โครงการ Compulsory Sexuality Education for Deaf หรือ โครงการ "CSE for Deaf" เพื่อใช้แอปพลิเคชันมือถือดังกล่าวสร้างสื่อการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน โครงการเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมสุขภาวะทางเพศแก่ผู้พิการทางการได้ยิน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล อันเป็นสถาบันซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพผู้พิการ

ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า ด้วยข้อจำกัดทางการสื่อสาร มักพบว่าหญิงผู้พิการทางการได้ยินจำนวนไม่น้อยขาดความรู้เกี่ยวกับเพศวิถี สุขภาวะทางเพศ และการปกป้องตนเองจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แอปพลิเคชันการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาที่คิดค้นขึ้นมาและอยู่ในระหว่างการพัฒนานี้ ปัจจุบันได้มีการทดลองใช้ผ่านเครือข่ายผู้พิการทางการได้ยินทั่วประเทศ เมื่อเสร็จสมบูรณ์และได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์ที่สุดแล้ว

มหาวิทยาลัยมหิดลจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแอปพลิเคชันมือถือ "CSE for Deaf" ให้เป็น "เครื่องมือทางสังคม" ที่ช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินได้สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ด้านสุขภาวะทางเพศที่มีข้อมูลถูกต้อง ทันสมัยครบรอบด้านได้อย่างสะดวก สบายใจ และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินเป็นผู้มีสุขภาวะทางเพศที่ดีเป็นพื้นฐานชีวิตที่ดีและมีความสุขต่อไป

เนื้อหาของแอปพลิเคชันมีครบพร้อมทั้งในเรื่องการคุมกำเนิด เพศสัมพันธ์ปลอดภัย การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม การยุติความรุนแรงต่อเพศหญิง และเรื่องเพศวิถี เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินเข้าใจและยอมรับตัวเอง สามารถอยู่ในสังคมหลากหลายทางเพศได้อย่างภาคภูมิใจ

"CSE for Deaf" จึงเป็นแอปพลิเคชันประเภท "คัมภีร์แห่งชีวิต" ที่คอยให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และให้ความมั่นใจแก่ผู้พิการทางการได้ยิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงผู้พิการทางการได้ยิน ให้มีสุขภาวะทางเพศที่ดีได้

หากเราเข้าใจในสิทธิขั้นพื้นฐาน รู้วิธีปฏิเสธการล่วงละเมิด และยอมรับโลกแห่งความแตกต่างหลากหลาย ก็จะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างราบรื่น เพียงรู้เท่าทันและเปิดใจรับความแตกต่าง จะพบว่าโลกยังคงน่าอยู่ และมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเสมอ