สสส. – เครือข่ายงดเหล้า ชวนลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย หยุดวงจรระบาดโควิด-19 ลดปัจจัยเสี่ยง ถอดบทเรียน 3 พื้นที่ท่องเที่ยวต้นแบบ ผนึกพลังท้องถิ่น ดันนโยบายระดับชาติ ภาคธุรกิจ ประชาสังคม ขับเคลื่อนงานบุญประเพณีปลอดภัยไร้อบายมุข เผยผลสำรวจเกือบทุกจังหวัดจัดลอยกระทงปลอดเหล้าเกือบ 100%

เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่ายได้จัดเสวนาออนไลน์ เพื่อทบทวนและระดมสมอง เกี่ยวกับการจัดงาน “ลอยกระทงปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด” ผ่าน FB live เครือข่ายงดเหล้า

โดยนายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. และ สคล. สนับสนุนให้เกิดการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้า ทำให้เกิด “พื้นที่ปลอดภัย” ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการป้องกันปัจจัยเสี่ยง ความสำเร็จจากการทำงาน ทำให้ปัจจุบันมีงานลอยกระทง 3 พื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ได้แก่ งานยี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่ งานเผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย และงานกระทงสายไหลประทีปพันดวง จังหวัดตาก ซึ่งในอดีตทั้ง 3 พื้นที่ เคยถูกใช้เป็นพื้นที่เพื่อโฆษณาสื่อสารการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง และความไม่ปลอดภัยจากเหตุทะเลาะวิวาทจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่การขับเคลื่อนงานลอยกระทงปลอดเหล้าหลายปีที่ผ่านมาของทั้ง 3 จังหวัดพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะชุมชนท้องถิ่นและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน ตั้งแต่เรื่องการกำหนดทิศทางของการอนุรักษ์คุณค่าวิถีวัฒนธรรมที่สะท้อนความสำเร็จยั่งยืนของการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะ

น.ส.ทัศนีย์ ศิลปะบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ที่เป็นต้นแบบการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดงานที่เน้นความหมายในแต่ละวัฒนธรรมของแต่ละจังหวัด และการส่งเสริมสังคมสุขภาวะที่เอื้อต่อการให้ทุกคนมีสุขภาพดี การจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าแสดงให้เห็นความเข็มแข็งของชุมชน และจากการทำงานใน 3 พื้นที่สำคัญ พบว่าแต่ละจังหวัดมีรูปแบบการทำงานที่โดดเด่นแตกต่างกันไป นำมาเป็นพื้นที่ต้นแบบให้ทั่วประเทศไปขยายผลได้ รวมถึงการลงลึกด้านการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม ให้เหมาะสมกับบริบทอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สคล. ริเริ่มงานลอยกระทงปลอดเหล้าตั้งแต่ปี 2549 ขณะนี้มีงานลอยกระทงปลอดเหล้า 99 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยในช่วง 7 ปีแรกเน้นรณรงค์ให้เกิดการจัดงานแบบปลอดเหล้า จากนั้นได้พัฒนาสู่การจัดการความเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ประทัดยักษ์ โคมลอย และเน้นการให้คุณค่าและความหมายของการลอยกระทง ส่งผลให้ไม่มีการทะเลาะวิวาทภายในบริเวณงาน อุบัติเหตุทางถนนลดลง ยอดจองห้องพักของโรงแรมเพิ่มมากขึ้น งานลอยกระทงปลอดเหล้าจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้จัดงาน นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการร้านค้า และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน จากผลสำรวจ ปี 2563 พบว่า มีการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้า ร้อยละ 74.40 ของงานลอยกระทงทั่วประเทศ แต่ยังต้องเฝ้าระวังธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังคงพยายามเข้าไปแทรกแซง เพื่อให้มีพื้นที่ในการจำหน่ายสุราและลานเบียร์ตามงานต่างๆ

“เครือข่ายงดเหล้า และสสส. จะร่วมผนึกกำลังกับท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ สร้างการมีส่วนร่วมในงานบุญประเพณีปลอดเหล้าในพื้นที่ต่างๆ ยกระดับงานบุญประเพณีทุกจังหวัดปลอดภัย ห่างไกลอบายมุข สร้างวิถีวัฒนธรรมเอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี เน้นการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย เพื่อสืบสานวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวและต่อยอดเชิงเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ให้มากยิ่งขึ้น” นายวิษณุ กล่าว

พระครูสุมณฑ์ ธรรมธาดา เจ้าอาวาสคลองกระจง จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ในอดีตการจัดงานลอยกระทงของจังหวัดทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุ คนสุโขทัยมาเที่ยวงานลอยกระทงน้อยลงเพราะเห็นว่าไม่ปลอดภัย จึงพยายามแก้ปัญหาโดยเริ่มจากการรณรงค์เรื่องเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ผลักดันให้จังหวัดกำหนดนโยบายให้งานลอยกระทงเป็นงานปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ โดยตั้งแต่ปี 2550 จังหวัดสุโขทัยมีมติให้จัดงานปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ ทำให้ภาคส่วนต่างๆ นำนโยบายไปปฏิบัติตาม โดยทำข้อตกลงกับทุกภาคส่วนเพื่อไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มในบริเวณงาน ติดป้ายรณรงค์ ตรวจเตือนโดยเจ้าหน้าที่และเยาวชนในพื้นที่ บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างจริงจัง เพื่อทำให้พื้นที่จัดงานลอยกระทงกว่าหมื่นไร่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ไม่มีการดื่มเหล้า และกลายเป็นวัฒนธรรมว่ามาเที่ยวงานลอยกระทงสุโขทัยต้องไม่ดื่มไม่สูบ

นายธงชัย ยงยืน ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า งานลอยกระทงที่บริเวณริมแม่น้ำปิง และสะพานนวรัตน์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจุดเสี่ยงทุกปี เพราะมีการตั้งลานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีอุบัติเหตุประทัดยักษ์ระเบิดใส่มือนักท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากโคมลอยต่อเครื่องบินและบ้านเรือน ทำให้ในปี 2550 ได้เริ่มจัดงานปลอดเหล้าขึ้น มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมรณรงค์เพิ่มเติมจาก สคล. และสสส. อาทิ สำนักงานสรรพสามิต สำนักงานสาธารณสุขและเครือข่ายนักศึกษา 7 สถาบัน รณรงค์ให้จัดเวทีกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เน้นการรักษาวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยมีการร่วมกันกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในการจัดงานทุกปี

น.ส.ศิวะพร คงทรัพย์ ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดตาก กล่าวว่า งานลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงของจังหวัดตาก มีจุดเด่นในเรื่องการเป็นกระทงพระราชทาน เน้นวัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น กระทงทำจากกะลามะพร้าว การฟั่นเทียน การบูชาพระแม่คงคา และการทอดผ้าป่าน้ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ และกลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะ16 ชุมชนในอำเภอเมือง จังหวัดตาก โดยมีแนวทางป้องกันปัจจัยเสี่ยงจะใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่กับการรณรงค์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน โดยปี 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และผู้นำชุมชนในพื้นที่ลงนามบันทึกข้อตกลงให้งานบุญประเพณีของจังหวัดเป็นงานปลอดเหล้าทั้งหมด เพื่อเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ มีประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 พึงพอใจต่อการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้า