หากคุณมีเวลาอยากให้คุณได้อ่านข้อมูลเหล่านี้สักนิด เราจะบอกคุณถึงข้อมูลที่ผิดที่พบบ่อยที่สุด เกี่ยวกับวัคซีนเทคโนโลยี mRNA อย่าง โมเดอร์นา และ ไฟเซอร์
วัคซีน Comirnaty เป็นวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่เกิดจากไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยห้องปฏิบัติการไฟเซอร์ของอเมริกาและ BioNTech (ไบโอเอ็นเท็ค) คือบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของเยอรมัน ซึ่งได้รับการอนุมัติใช้ใน 98 ประเทศ และมีประสิทธิภาพถึง 95% ตามผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์ ( New England Journal of Medicine : NEJM )
ในกรณีของวัคซีน mRNA-1273 Z (ชื่ออย่างเป็นทางการ) ได้รับการพัฒนาโดยห้องปฏิบัติการของอเมริกัน วัคซีน โมเดอร์น่า ร่วมกับสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้รับการอนุมัติใช้ใน 69 ประเทศและมีประสิทธิภาพ 94.1% ตามผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์
วัคซีนทั้งสองชนิดใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า messenger RNA (mRNA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ล่าสุดที่นำมาผลิตวัคซีนและยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นำไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ มากมายในโลกโซเซียล เราจะมาบอกคุณถึงความเข้าใจผิดที่พบบ่อยที่สุดเกี่ยวกับวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา
1. วัคซีนชนิด mRNA ดัดแปลงดีเอ็นเอในมนุษย์
ข้อสรุป : ข่าวที่มีเนื้อหาที่เป็นเท็จ
วัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์น่า เป็นการผลิตมาจากการสร้างโปรตีนอย่างหนึ่งของร่างกายมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วร่างกายของคนเราจะผลิต mRNA อยู่แล้ว ซึ่งการสร้างวัคซีน mRNA คือการที่เราต้องการให้ร่างกายสังเคราะห์โปรตีนที่มีลักษณะคล้าย ๆ โปรตีนหนามของเชื้อไวรัสโคโรนา สิ่งที่เรียกว่า "โปรตีน Spike" และเป็นเพียงโปรตีนชั่วคราวเท่านั้น ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ซึ่งเป็นการจำลองลักษณะของไวรัสเข้ามาในร่างกายของเราโดยที่ไม่มีการติดเชื้อ ทำให้ร่างกายเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ หากมีเชื้อไวรัสตัวนั้นเข้าสู่ร่างกาย
เมื่อร่างกายของเราสร้างโปรตีนส่วนนั้นแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันจะรู้ว่าโปรตีนนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม และจะเริ่มสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน โดยผลิตแอนติบอดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อนั่นเอง ซึ่งมันจะไม่ได้เข้าไปถึงหรือยุ่งเกี่ยวกับนิวเคลียสที่เป็นที่เก็บดีเอ็นเอของมนุษย์แต่อย่างใด
2.วัคซีน mRNA ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
ข้อสรุป : ข่าวที่มีเนื้อหาที่เป็นเท็จ
ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าวัคซีน mRNA ที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคราจะส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ของเพศหญิง นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ามีความคล้ายคลึงกันเล็กน้อยระหว่างโปรตีน Spike ของ SARS-CoV-2 กับโปรตีนที่พบในรกของเด็กทารก syncytin-1 แต่วัคซีนไม่ได้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความสับสนแต่อย่างใด
ผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 จากจำนวนอาสาสมัครที่มากกว่า 37,000 คน ในนี้มีผู้หญิงตั้งครรภ์จำนวน 12 คนที่ได้รับวัคซีนและอีก 11 คน ได้รับยาหลอก พบว่า ไม่มีใครเกิดการแท้ง หรือรายงานภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ทั้ง CDC และองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ทุกคนที่มีอายุมากกว่า 12 ปีเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร หรือผู้ที่กำลังเตรียมตัวที่จะตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ได้รับใบอนุญาตว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
3.การพัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA นั้นเร็วเกินไปที่จะนำมาใช้กับคน
ข้อสรุป : ข่าวที่มีเนื้อหาที่บิดเบือน
ข่าวลือที่ว่า วัคซีนชนิด mRNA จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน นั้นไม่เป็นความจริง นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาและพัฒนาเกี่ยวกับวัคซีน mRNA มานานหลายทศวรรษแล้ว ในปัจจุบันได้มีวัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้ซิกา โรคพิษสุนัขบ้า และไซโตเมกาโลไวรัส (CMV) ที่ได้ผ่านการรับรองแล้ว นอกจากวัคซีนแล้ว ในการวิจัยโรคมะเร็งก็ได้นำเทคโนโลยี mRNA มาใช้ด้วยเช่นกัน เพื่อกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม การเร่งกระบวนการผลิตให้เร็วขึ้นไม่ได้หมายความว่าวัคซีนจะไม่ได้มาตรฐานหรือคุณภาพต่ำ แต่มันคือการรับมือกับภาวะฉุกเฉินที่ต้องเร่งรีบป้องกันท่ามกลางสถานการณ์ของโรคระบาดอุบัติใหม่ที่มีระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก ทั้งวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาได้มีการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยและประสิทธิผลทอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับวัคซีนประเภทอื่น ๆ อีกทั้งวัคซีนทั้งสองชนิดนี้ยังได้รับการตรวจสสอบและรับรองโดย WHO เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินนี้ด้วย
4.วัคซีน mRNA มีกราฟีน ทำให้ร่างกายเป็นแม่เหล็ก
ข้อสรุป : ข่าวที่มีเนื้อหาที่เป็นเท็จ
ข้อมูลเท็จนี้ได้แพร่กระจายไปทั่ว ซึ่งมีการอ้างถึงยี่ห้อวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด แต่กลับเน้นไปที่วัคซีนไฟเซอร์เป็นพิเศษ หลังจากการเผยแพร่รายงานที่ถูกกล่าวหาจากมหาวิทยาลัยอัลเมเรีย (UAL) ในประเทศสเปน ได้ออกมาประณามว่ามีการค้นพบสารกราฟีนออกไซด์ในวัคซีนไฟเซอร์
อย่างไรก็ตาม เอกสารที่นำมาอ้างอิงข้อกล่าวหานั้น เป็นเพียงการจัดทำโดยศาสตราจารย์ Pablo Campra Madrid ของ UAL เท่านั้น มันไม่ใช่รายงานที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากมหาวิทยาลัย และไม่ใช่รายงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Maldita.es และ Newtral อีกทั้งสารกราฟีนออกไซด์ ก็ไม่ใช่ส่วนประกอบทางเคมีในวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างวัคซีน แอสตร้าเซเนกา, สปุตนิก วี, ซิโนฟาร์ม, ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา
5.วัคซีน mRNA ทำให้หน้าอกมีขนาดเพิ่มขึ้น
ข้อสรุป : ข่าวที่มีเนื้อหาที่บิดเบือน
ข่าวลือนี้เกิดจากวิดีโอที่ถูกเผยแพร่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มผู้หญิงหลายคนเปรียบเทียบขนาดหน้าอก อ้างว่า หลังจากรับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่สองพบว่า มีขนาดหน้าอกเพิ่มขึ้น ในภายหลังแพทย์ได้ออกมายืนยันว่า ไม่พบหลักฐานว่าวัคซีนจะทำให้หน้าอกของผู้หญิงมีการเพิ่มหรือขยายขึ้นได้ คาดว่าเป็นอาการบวมหรืออักเสบเพียงชั่วคราวของต่อมน้ำเหลืองในรักแร้ที่สามารถเกิดจากความเครียดแล้วทำให้หน้าอกขยายขนาดได้ และไม่ใช่การขยายขนาดหน้าอกอย่างถาวรด้วย เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 หรือวัคซีนอื่น ๆ ได้ แต่มักจะหายได้ภายใน 15 วันหลังจากฉีดวัคซีน
อ้างอิง https://chequeado.com/el-explicador/cinco-desinformaciones-sobre-las-vacunas-de-moderna-y-pfizer-contra-el-coronavirus/
- 2454 views