กระทรวงสาธารณสุข เตรียมย้ายโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ไปพื้นที่ใหม่ขนาด 200 ไร่ ขยายจาก 646 เตียง เป็น 864 เตียง พร้อมมุ่งสู่การเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ 5 ด้าน คือ มะเร็ง โรคหัวใจ วิกฤตเด็กเล็ก อุบัติเหตุ และปลูกถ่ายอวัยวะ ตั้งเป้าเปิดบริการได้ 30 มิถุนายน 2565


เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีแผนย้ายโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ไปยังพื้นที่ใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ มุ่งสู่การเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellence Center) 5 ด้าน ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ภาวะวิกฤตเด็กเล็ก อุบัติเหตุ และการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยพื้นที่เดิมมีขนาด 14 ไร่ จำนวน 9 อาคาร พื้นที่ใช้งาน 48,000 ตารางเมตร ขนาด 646 เตียง มีห้องผ่าตัด 12 เตียง ไอซียู 46 เตียง  และห้องพิเศษ 74 เตียง ส่วนพื้นที่ใหม่มีขนาด 200 ไร่ จำนวน 13 อาคาร พื้นที่ใช้งานเพิ่มเป็น 111,758 ตารางเมตร รวม 864 เตียง มีห้องผ่าตัด 23 เตียง ไอซียู 99 เตียง และห้องพิเศษ 133 เตียง ตั้งเป้าเปิดบริการได้ทุกระบบงานภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งจะช่วยให้รองรับบริการประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ก่อสร้างอาคารบริการแล้วเสร็จ 10 หลัง และอาคารที่พักอาศัย 9 หลัง 

ทั้งนี้  มีกรอบระยะเวลาการก่อสร้าง ดังนี้ ช่วงตุลาคม-ธันวาคม 2564 อาคารบริการและที่พักอาศัยแล้วเสร็จ ช่วงมกราคม-มีนาคม 2565 อาคารรังสีและผ่าตัดแล้วเสร็จ และมีพยาบาลจบใหม่เข้ามาเพิ่ม 126 คน พฤษภาคม 2565 อาคารผู้ป่วย 5 ชั้นแล้วเสร็จ พร้อมปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง อาคารต่าง ๆ แล้วเสร็จภายใน 30 กรกฎาคม 2565  และ 30 กันยายน 2565 สร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษ 100 ห้องแล้วเสร็จ แต่สามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน และจะมีพิธีเปิดในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 

 

 


นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม จ.นครสวรรค์ ขณะนี้ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 20,937 คน และเสียชีวิตจากการจมน้ำ 3 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 19 แห่ง ใน 6 อำเภอ แต่ยังเปิดให้บริการได้ตามปกติ ทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ออกเยี่ยมบ้านดูแลประชาชน ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ตรวจรักษา ประเมินสุขภาพจิต ให้ยาและสุขศึกษาแล้ว ส่วนสถานการณ์โรคโควิด 19 ผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง แต่ยังเกิน 100 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.เมือง เนื่องจากมีคลัสเตอร์แรงงานต่างด้าว  อยู่ระหว่างการควบคุมโรค สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ภาพรวมฉีดเข็มที่ 1 ครอบคลุม 60% กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ครอบคลุม 56.9% กลุ่มโรคเรื้อรัง 65% หญิงตั้งครรภ์ 56% ประชาชนทั่วไป 62% และเด็กนักเรียนที่เพิ่งเริ่มฉีดวันที่ 4 ตุลาคม ฉีดแล้ว 10,027 ราย คิดเป็น 42.97% ของผู้ที่สมัครใจฉีด

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org