เปิดตัวเลขคาดการณ์ฉีดวัคซีนโควิด ต.ค.-ธ.ค. ครอบคลุมคนไทย ชี้สิ้นธ.ค. ฉีดเข็ม 1 สะสม 85% เข็ม 2 ฉีดได้ 70% ด้าน ปลัดสธ. เผยขณะนี้ไทยอยู่ทางแยก เหตุประสิทธิผลของการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้อาจหมดแล้ว!! ดังนั้น หากไม่ทำอะไรผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่หากมีมาตรการเข้มต่างๆ ตัวเลขจะลดลง ย้ำขอทุกพื้นที่จัดมาตรการ Covid free setting

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก การติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง วันนี้ (7 ต.ค.) ติดเชื้อ 11,200 ราย เสียชีวิต 113 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนสะสม 57,387,052 โดส เข็มที่ 1 จำนวน 33,774,684 ราย เข็ม 2 จำนวน 22,005,722 ราย และเข็ม 3 จำนวน 1,606,646 ราย เฉพาะผู้สูงอายุ ฉีดเข็ม 1 แล้ว 59.3% ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคฉีดเข็ม 1 แล้ว 62% ส่วนนักเรียน 12-17 ปี เป้าหมาย 4 ล้านคน ฉีดแล้ว 7.4 หมื่นคน คิดเป็น 1.7% ทั้งนี้ ในระยะนี้วัคซีนค่อนข้างเพียงพอคาดการณ์ว่าสิ้นเดือนต.ค.จะฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุม 43 ล้านโดส หรือ 61% เข็ม 2 จำนวน 26 ล้านโดส หรือ 37% เดือนพ.ย. ฉีดเข็ม 1 ครอบคลุม 75% เข็ม 2 ครอบคลุม 55% ตัวเลขนี้ถือวาเป็นมาตรฐานของโลก และเมื่อเข้าเดือนธ.ค.เข็ม 1 จะมีความครอบคลุม 85% เข็ม 2 ครอบคลุม 70% เข็ม 3 ก็ตามมาเรื่อยๆ

ทั้งนี้เมื่อเทียบประเทศอื่น เช่น อังกฤษซึ่งมีประชากรคล้ายๆ กับไทย แต่ฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่าไทย วันนี้ติดเชื้อกว่า 3 หมื่นราย ถือว่าสูงอาจเพราะมีการเปิดกิจกรรมต่างๆ แต่อัตราเสียชีวิต 143 ราย แต่เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน เช่นมาเลเซีย ประเทศไทยฉีดวัคซีน 56 ล้านโดส อัตราป่วย 2.3 หมื่นรายต่อประชากร 1 ล้านคน เสียชีวิต 249 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่มาเลเซียฉีดวัคซีน 150 ล้านโดส อัตราติดเชื้อ 6.9 หมื่นรายต่อ 1 ล้านคน เสียชีวิต 817 รายต่อประชากร 1 ล้านคน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์การติดเชื้อของไทยพบว่า สถานการณ์ในกทม.และปริมณฑล มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกทม.ค่อยๆ ลดลงตามลำดับ การติดเชื้อต่ำลงเรื่อยๆ อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ส่วนต่างจังหวัดตัวเลขการติดเชื้อค่อยๆ ลดลงช้าๆ ยกเว้น 4 จังหวัดชายแดนใต้(สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) ที่พบว่ามีการระบาดเพิ่มมากขึ้นที่ต้องความพยายามควบคุมป้องกันโรคให้ได้ ทั้งการปูพรมฉีดวัคซีนให้มีความคอรบคลุม การค้นหาผู้ติดเชื้อ แยกตัว เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการระบาดเหมือนในกทม. สำหรับสถานการณ์เตียงในภาคใต้ยังเพียงพอรองรับผู้ป่วยได้ เพราะปัจจุบันมีการครองเตียงอยู่ 60% ขณะเดียวกันก็มีการเปิดรพ.สนามขนาดใหญ่เอาไว้รองรับ แต่ก็ประมาทไม่ได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ตรงทางแยก เพราะประสิทธิผลของการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้น่าจะหมดแล้ว ดังนั้นจากนี้หากเราไม่ทำอะไรก็จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกมีการคาดการณ์ว่าน่าจะถึง 3 หมื่นรายต่อวัน เพราะมีการผ่อนคลายกิจกรรม แต่หากมีมาตรการต่างๆ และร่วมมือกันยอดติดเชื้อก็จะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น สธ.จึงมีข้อเสนอ 1. มีการฉีดวัคซีน ซึ่งขอความร่วมมือจากประชาขนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยในเดือนต.ค.ตั้งเป้าให้ได้ 60% พ.ย.75% และธ.ค.85% 2.มาตรการป้องกันโรคครอบจักรวาล ปรับทัศนคติ โดยต้องคิดว่าทุกคนแม้แต่คนในครอบครัวคือติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ จึงต้องป้องกันตัวเองทุกทาง ซึ่งจากการสำรวจของกรมอนามัยพบว่าการป้องกันตัวเองเมื่อออกนอกบ้านนั้นทำได้ดี แต่ในบ้านไม่ได้มีการป้องกัน จึงทำให้พบการติดเชื้อในครอบครัว ซึ่งอาจจะนำมาสู่การระบาดวงกว้างได้

3. การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิด (ATK ) ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายซื้อแจกประชาชน เช่น จากการที่สปสช.ซื้อแจกประชาชน มีการตรวจและรายงานผลเข้ามาพบว่าเป็นผลบวก 70% ย้ำว่าถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วแต่ก็สามารถคิดเชื้อ และแพร่เชื้อได้ ดังนั้นขอให้มีการตรวจ ATK ควบคู่กับมาตรการป้องกันโรคครอบจักรวาล 4. การรวมตัวของกลุ่มคน เพราะมีการผ่อนคลายกิจกรรม กิจการต่างๆ ซึ่งจะทำให้มีการเคลื่อนที่ของคน มีการรวมตัวกัน เช่น ร้านอาหาร โรงหนัง งานสัมมนา การละเล่นต่างๆ ดังนั้น ขอให้มีการจัดมาตรการพื้นที่ปลอดโควิด (Covid free setting) ต้องจัดให้มีการเว้นระยะห่าง ตรวจสอบระบบระบายอากาศ พนักงานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตรวจ ATK สม่ำเสมอ รวมถึงคนใช้บริการก็ต้องปฏิบัติแบบเดียวกัน ทั้งนี้ไม่ควรปล่อยให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการติดเชื้อ หรือระบาดขึ้น เชื่อว่าหากทำได้เช่นนี้แม้จะไม่ปลอดภัยนักแต่ก็ลดการระบาดใหญ่ได้

“ตอนนี้เราถึงทางแยกแล้ว มีเพียง 2 ทางเท่านั้นทางซ้ายคือการติดเชื้อของเราจะเริ่มมากขึ้นกว่าที่เคยมีตามพยากรณ์อากาศถึง 3 หมื่นรายต่อวัน ส่วนทางขวาจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือ 5 พันรายต่อวันและต่ำกว่า 5,000 รายต่อวัน ซึ่งเราอยากให้เป็นไปในแนวทางนี้ก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประชาชนป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล ตรวจ ATK ทุก 3 วันหรือ 7 วันหากป่วยก็มีระบบดูแลรักษาถ้าไม่ป่วยก็ป้องกันตัวเองต่อไป ร่วมมือร่วมใจกันฉีดวัคซีนเพื่อให้มีความครอบคลุม หากเราสามารถกดการติดเชื้อให้ต่ำจนถึงสิ้นปีได้ การครอบคลุมของวัคซีนดีขึ้นมาก ต้นปีใหม่เราน่าจะมีความสุขมากขึ้น” ปลัดสธ.กล่าว และว่า กลางปี 65 โควิดน่าจะคลี่คลาย หลังโจมตีเรามากว่า 2 ปี

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค(คร) กล่าวว่า การตรวจเชิงรุกด้วย ATK รอบ24 ชั่วโมง ตรวจ 9.6 หมื่นตัวอย่าง ผลเป็นบวก 4,783 ราย ซึ่งATKที่แจกจ่ายฟรีให้ประชาชนยังใช้และแจ้งผลกลับมาน้อยไม่ถึง 10% จึงอยากให้ประชาชนนำATKมาใช้ แม้พื้นที่การระบาดลดน้อยลง การที่โควิดเกิดการติดเชื้อโดยไม่แสดงอากา หากมีการออกไปสัมผัสพื้นที่สาธารณะ เกี่ยวข้องอาการทางเดินหายใจคล้ายหวัด อาจสัมผัสความเสี่องก็ควรใช้ ซึ่งการตรวจเชิงรุกเจอคลัสเตอร์ย่อยหลายจุด เช่น งานศพ ล้งผลไม้ ตลาด สิ่งที่ทำให้เจอคลัสเอตร์ย่อยๆ เพราะรู้สึกตัวเองแข็งแรงดีไม่มีอะไร มีเครื่องมือคัดกรองเป็นATKแล้วไม่ใช้ เก็บไว้นาน ทำให้คุณภาพลดลง หมดอายุ จึงควรรีบใช้และส่งรายงานผล

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org