คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รับมอบเครื่องตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลายเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากญี่ปุ่น จากเซเว่น อีเลฟเว่น ภายใต้โครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน”
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ในฐานะภาคเอกชนที่อยู่เคียงข้างสังคมไทยในทุกวิกฤต มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้มอบเครื่องตรวจวิเคราะห์แอนติเจนต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 แบบอัตโนมัติ Lumipulse G1200 ด้วยตัวอย่างน้ำลายจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 เครื่อง ให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชน
โดย นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้ร่วมส่งมอบเครื่องตรวจวิเคราะห์แอนติเจนต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 แบบอัตโนมัติ Lumipulse G1200 ด้วยตัวอย่างน้ำลาย ให้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้แทนรับมอบ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือเพื่อยกระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุขประเทศไทยในการตรวจคัดกรองวินิจฉัยผู้ติดเชื้อ ให้คนไทยได้เข้าถึงการตรวจที่รวดเร็วแม่นยำ และยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ เครื่องฯ ดังกล่าวได้ถูกติดตั้งไว้ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลและที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ร่วมสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ ในการป้องกันการแพร่ระบาด และดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่างๆ ซึ่งการที่ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดียิ่งในการเดินตามค่านิยม 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มุ่งสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร
“ปณิธานร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาส คือสิ่งที่เรายึดมั่นเสมอมา ในห้วงเวลาที่สังคมไทยได้รับความเดือดร้อน จึงอยากให้ความช่วยเหลือ จึงให้บริษัท ออลล์ เวลเนส จำกัด ในกลุ่มซีพี ออลล์ ประสานความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลในการจัดหาเครื่องตรวจเชื้อโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูง จึงเป็นที่มาของความร่วมกัน และส่งมอบโอกาสการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ โอกาสได้รับการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพแก่พี่น้องประชาชน อันจะเป็นโอกาสในการลดอัตราการแพร่ระบาด และเป็นโอกาสที่จะให้สังคมไทยผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก และกลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง” นายสุวิทย์ กล่าวเสริม
ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการตรวจหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่อันสำคัญที่ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการตรวจคัดกรองให้แก่ประชาชน และด้วยการนำเทคนิควิธีในการตรวจหาเชื้อมาใช้ ทั้งเทคนิควิธี RT-PCR ที่ใช้จากการนำสารคัดหลั่งจากการตรวจทาง Nasopharyngeal Swab และการตรวจทางน้ำลาย ซึ่งเป็นวิธีการที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คิดค้นและพัฒนารูปแบบเทคนิคการตรวจมาอย่างต่อเนื่อง
“การมอบเครื่องตรวจวิเคราะห์แอนติเจนต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 แบบอัตโนมัติ Lumipulse G1200 ด้วยตัวอย่างน้ำลาย จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด มหาชน จะช่วยสร้างประโยชน์ในวงกว้างแก่ประชาชนเพื่อช่วยคัดกรองการได้รับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยใช้เวลาในการตรวจตัวอย่างน้ำลายที่จัดเก็บไว้เพียง 35 นาที จากเทคนิคที่มีความไว 98% และความจำเพาะ 100% ก็นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการคัดกรองอย่างแท้จริง” คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าว
สำหรับเครื่องตรวจวิเคราะห์แอนติเจนต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 แบบอัตโนมัติ Lumipulse G1200 เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้มีในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย จุดเด่นคือสามารถทำการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างในแต่ละรอบมากถึง 120 ตัวอย่าง โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง สามารถตรวจวิเคราะห์แอนติเจนต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 โดยใช้ตัวอย่างจากโพรงจมูกและตัวอย่างน้ำลาย ซึ่งสามารถทำการเก็บตัวอย่างน้ำลายได้ด้วยตนเอง อันเป็นการลดความเสี่ยงต่อเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาล จึงเหมาะกับการตรวจคัดกรองในพื้นที่เสี่ยงที่มีคนจำนวนมาก เช่น สถานประกอบการต่างๆ โรงงาน หรือโรงเรียน ตัวอย่างส่งตรวจสามารถเก็บรักษาได้ก่อนตรวจถึง 48 ชั่วโมง ที่สำคัญมีราคาที่เข้าถึงได้ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั่วไป ตัวเครื่องฯ นอกจากสามารถรายงานผลการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 แล้ว ยังมีความสามารถในการแสดงถึงปริมาณเชื้อที่มีอยู่ในแต่ละบุคคลได้ด้วย ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับอาการทางคลินิกอื่นๆ ของผู้ติดเชื้อ ก็จะช่วยให้แพทย์ผู้รักษาสามารถเลือกวิธีการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- 51 views