ปลัดสธ.เผยสถานการณ์โควิด19 แม้ตัวเลขป่วยใหม่ลด แต่ไม่ถึงกับศูนย์ มีแนวโน้มติดเชื้อรูปแบบเอนเดอร์มิก(Endemic) หรือ “โรคประจำถิ่น” ชี้กรุงเทพฯ-ภูเก็ต จังหวัดแรกๆ รับมือ ขณะเดียวกันมอบฝ่ายวิชาการที่ติดตามประเมินสถานการณ์โรคประจำถิ่น ถือเป็นประเทศแรกในการศึกษาข้อมูล
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า ตามที่เรามีการคาดการณ์ฉากทัศน์หลังผ่อนคลายมาตรการ 1 เดือน หากเราไม่มีมาตรการอื่นตัวเลขจะเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับที่ผ่านมาตัวเลขผู้ป่วยใหม่ลดลงค่อนข้างช้า เราก็พยายามใช้มาตรการควบคุม ทั้งการแจกชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท(ATK) แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง คนละ 2 ชุด แม้ไม่สามารถป้องกันโรคได้ แต่ขอให้นำมาใช้ตรวจเพื่อการคัดกรอง รายงานเข้าสู่ระบบทั้งผลลบและผลบวก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโควิดฟรีเซ็ตติ้ง(Covid Free Setting) และมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล หรือ Universal Prevention เพราะแม้แต่มีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ก็ยังติดเชื้อได้ นั่นหมายความว่า เราต้องระวังการติดเชื้อทั้งคนที่ฉีดและยังไม่ฉีดวัคซีน แต่สำหรับคนที่ฉีดก็จะช่วยลดอัตราเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ซึ่งทุกคนต้องตระหนักว่าตัวเองป่วยแต่ไม่มีอาการ โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีน เมื่อติดเชื้อไม่มีอาการ อาจไว้ใจกัน เปิดหน้าคุยกัน ประมาท ก็เกิดการติดเชื้อและแพร่ระบาดได้
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราได้ติดตามสถานการณ์ตัวเลขป่วยใหม่อยู่ว่าจะลดลงถึงไหน ซึ่งคงไม่ถึงศูนย์แต่ยังมีการติดเชื้อในรูปแบบเอนเดอร์มิก(Endemic) หรือว่า โรคประจำถิ่น เป็นโรคที่ไม่มีความรุนแรง ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวกับวัคซีนที่ต้องฉีดให้ครอบคลุมกับประชากร เช่น กทม. ครอบคลุมคนกว่า 90% ส่วนผู้สูงอายุครอบคลุมอีก 90% และเข็ม2 เกือบ 40% ดังนั้น กทม.จะเป็นจังหวัดแรกๆ ในการเป็นโมเดลโรคประจำถิ่น คือ ระบาดไม่ได้ แต่ทำให้ป่วยหนักไม่ได้ ก็จะนำไปสู่การดูแลประชาชนอีกรูปแบบหนึ่ง เช่นเดียวกันกับ จ.ภูเก็ต ดังนั้น 2 จังหวัดนี้ก็จะเคลื่อนเข้าสู่เอนเดอร์มิกได้เป็นจังหวัดแรกๆ
“เรามีฝ่ายวิชาการที่ติดตามประเมินสถานการณ์โรคประจำถิ่นอยู่ มักเกิดขึ้นเป็นปรากฎการณ์ ดังนั้นเราต้องมาศึกษาว่าจะเราทำให้เกิดปรากฎการณ์หนึ่งไปสู่อีกปรากฎการณ์ได้อย่างไร เช่น ฉีดวัคซีนคอรบคลุม การดูแลรักษาพยาบาลได้อย่างดี ป้องกันตัวเองได้ดี ก็จะกลายเป็นว่าเมื่อโรคไม่ระบาด ระบาดไม่รุนแรง ก็จะเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งไทยเราจะทำเป็นประเทศแรกๆ ในการนำแผนต่างๆ มาทำตัวชี้วัด เพื่อกำกับให้เกิดผลลัพธ์ตามคาดหมาย เพื่อให้โรคสงบได้เร็ว แต่เราเพิ่งรู้จักเขาครั้งแรก ก็อาจมีการระบาด การกลายพันธุ์ต่างๆ เราก็ต้องระวังและคำนึงเสมอ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
เมื่อถามถึงการกำหนดเวลาเคลื่อนเข้าสู่โรคประจำถิ่น นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรามีจุดมุ่งหมายที่เราจะทำมาตรการ แผนงานต่างๆ ด้วยการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วยมาก ในช่วงนั้นก็หมายถึงเราควบคุมโรคได้ก็จะสอดคล้องกับโรคประจำถิ่น การติดเชื้อไม่ทำให้เราลำบาก เราก็จะมาสนใจกับผู้ป่วยแทน
- 214 views