ติดตามการปฏิบัติงาน อสม.ติดอาวุธประชาชนตรวจ ATK ด้วยตนเอง และการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นในในสถานการณ์โควิดครั้งนี้ พร้อมการจัดอบรมวิธีการใช้ชุดตรวจ ATK ให้อสม. คลอบคุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ก.ย. 2564 ในงานแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กระทรวงสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยมี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึง ประเด็น อสม.ติดอาวุธประชาชนตรวจ ATK ด้วยตนเอง และการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดในครั้งนี้ อสม. ก็ยังมีบทบาทเช่นเดิม ตั้งแต่มีการระบาดโรคโควิดขึ้นมาเราเห็นได้ว่า อสม. มีส่วนช่วยควบคุมโรคโควิด ซึ่งได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกด้วยว่า เป็นกลไกสำคัญในการให้ความรู้และการควบคุมโรคโควิด นอกจากนี้ยังมีอสม.ที่เสียชีวิตและติดเชื้อจากการไปปฏิบัติงานในครั้งนี้เยอะพอสมควร จะเห็นได้ว่าบทบาทอสม. ช่วงแรกจะมีการไปเคาะประตูบ้าน การให้ความรู้กับชุมชน เป็นต้น
เนื่องจากการระบาดโควิดครั้งนี้เร็วและแรงมากขึ้น ภาระหน้าที่สำคัญของอสม.อีกเรื่องก็คือ การลงทะเบียนและการรณรงค์ฉีดวัคซีน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า มีการลงทะเบียนแล้วประมาณ 800,000 คน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงโรงพยาบาลเทศบาลต่างๆ นอกจากนี้เรายังมีช่องทางการลงทะเบียนผ่าน Smart อสม. ด้วย ทั้งนี้ยังมีกลุ่มเป้าหมาย 608 ที่เรามองว่าเป็นหน้าที่ของอสม.ต้องติดตามและดำเนินการการลงทะเบียนของกลุ่มนี้ด้วย รวมถึงการอำนวยความสะดวกและการให้บริการฉีดวัคซีนตั้งแต่การวัดความดัน การลงทะเบียน การคัดกรอง การวัดอุณหภูมิ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีของเรื่องจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอสม. จะทำงานร่วมกับทีม 3 หมอ ได้เข้าไปดูแลผู้ป่วยโดยมีการแยกรักษาตัวในชุมชนหรือที่เรียกว่า Community Isolation(CI) หรือ Home Isolation (HI) โดยอาจจะใช้พื้นที่วัดหรือโรงเรียนในการจัดทำ และอสม.จะเข้าไปติดตามและให้กำลังใจรวมถึงการส่งอาหารให้ด้วย และมีเรื่องการเฝ้าระวังการเดินทางการเดินทางผู้ที่มาจากต่างจังหวัด จะมีอสม. เข้ามาสอบถามว่าท่านมาจากพื้นที่ไหน มาแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มาจากพื้นที่เสี่ยงสูง เป็นต้น
ด้านนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า วิธีการใช้ชุดตรวจ ATK แต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกัน อย่างตอนนี้ที่สปสช.ได้จัดซื้อนั้นเราจะอบรม อสม. เพื่อที่จะให้สามารถไปแนะนำประชาชนที่เป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถอ่านตัวหนังสือหรือวิธีการใช้งานนั้น จะได้รับคำแนะนำจากอสม.ได้ รวมทั้งมีขั้นตอนที่ว่าเมื่อตรวจแล้วจะทำอย่างไรต่อหรือถ้าตรวจแล้วเป็นผลลบ จะทำอย่างไร อสม.ก็จะแนะนำในเรื่องของการกักตัว การติดตามอาการจนครบ 14 วัน หรือต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้งหรือไม่ เป็นต้น
ซึ่งในกระบวนการนี้เราต้องอาศัย อสม. เข้ามาช่วยด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ที่ประชาชนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองหรือตรวจด้วยตนเองได้ เบื้องต้น เราจะให้ความรู้กับอสม.ก่อน และตอนนี้ชมรมอสม.แห่งประเทศไทยก็ได้มีการดำเนินการในบางพื้นที่ บางจังหวัดแล้ว แต่ในส่วนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเอง ก็จะประสานกับศูนย์บริการสุขภาพกับทุกเขต เพื่อจะให้ดำเนินการในทุกจังหวัดเพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการตรวจหรือการใช้ชุดตรวจ ATK ด้วยตนเองได้
นอกจากนี้ในส่วนของอสม.เราได้ทำชุดความรู้ง่ายๆ ซึ่งทำในรูปแบบการส่งข้อมูลกันทางโซเชียลมีเดีย , LINE หรือทางแอพ Smart อสม. ที่เรามีอยู่ นอกจากนี้ยังมีคลิปวิดีโอประกอบเพื่อจะได้เปิดดูผ่านมือถือของตนเองได้และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจโดยเร็วและสามารถรักษาโดยเร็ว
นายแพทย์ภานุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราไม่รู้หรอกว่าโควิดจะอยู่กับเราไปอีกยาวนานแค่ไหน อาจจะเป็นโรคประจำถิ่นเพราะฉะนั้นในสถานการณ์โดยรวมดูเหมือนดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เรายังวางใจไม่ได้ เนื่องจากว่าสายพันธุ์เดลตายังมีการแพร่กระจายอย่างเร็วและมีการระบาด ทั่วไป ในอนาคตที่เราจะต้องเดินหน้าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจรวมทั้งการเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดให้ได้หรือที่เรียกกันว่าการป้องกันโควิดแบบครอบจักรวาล
ทั้งนี้สำหรับบทบาทอสม. ที่จะเข้ามาช่วยนั้น คือ ให้ช่วยเคาะประตูบ้านหรือรณรงค์พี่น้องประชาชนในชุมชนต่อไปว่าต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้นขึ้นคือการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้กระทั่งอยู่ในครอบครัวเดียวกัน แต่ถ้าอยากให้มีการเปิดประเทศหรือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศนั้น สิ่งที่อสม. จะต้องทำคือเราจะใช้การจัดการโควิดแบบเข้มแข็ง ดังนี้ 1. การป้องกันโควิดแบบครอบจักรวาล 2. การจัดการสิ่งแวดล้อมป้องกันโควิด หากตำบลนั้นมีสถานประกอบการ เช่นมีนวดสปาหรือมีเป็นแหล่งท่องเที่ยว ถ้ามีคนจะเข้ามาใช้บริการเราจะต้องมีมาตรการตามที่ทางสบค.กำหนดไว้ 3. การเฝ้าระวังคัดกรองคนที่เข้าออกในพื้นที่หรือคนที่มีอาการสุ่มเสี่ยงก็ให้ตรวจ ATK 4. เชิญชวนคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนให้ฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมตามที่กระทรวงได้กำหนดเป้าหมายไว้ โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่ม 608 นั่นเอง
"ทั้งหมดนี้จะเป็นกรอบอสม. หรือตัวแทนชุมชนที่จะสร้างพลังในชุมชน ในการวางแผนดำเนินการจัดการในตำบล ซึ่งในส่วนของเป้าหมายกระทรวงสาธารณสุขตอนนี้ ทุกตำบลเราบอกพี่น้องอสม. ให้ทำเหมือนกันหมด แต่อย่างน้อยถ้าอยากให้บรรลุเป็นแซนบล็อก จะต้องให้ได้จังหวัดละ 1 อำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ 1 ตำบล เป็นต้น" นายแพทย์ภานุวัฒน์ กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 363 views