กรมควบคุมโรค ยก “ภูเก็ต” พื้นที่ตัวอย่างฉีดวัคซีนสูง! คนส่วนใหญ่รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ไม่พบใครเสียชีวิต ชี้ซิโนแวคปลอดภัยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ย้ำ! ข้อมูลคนไม่ฉีดวัคซีน 1 ล้านคนจะเสียชีวิตจากโควิดถึง 132 คน ขณะที่คนฉีดวัคซีนไขว้ “ซิโนแวค+แอสตร้า” ฉีดแล้วกว่า 2.5 ล้านคนเสียชีวิต 1 คน ส่วนแอสตร้าฯ เสียชีวิต 2 รายใน 2.4 ล้านราย ไม่มีใครตายจากวัคซีนโดยตรง

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนโควิดที่จังหวัดภูเก็ต ว่า ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีนที่สูงมากเมื่อเทียบกับหลายจังหวัด ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ต มีการดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยว PHUKET SANDBOX โดยข้อมูลประมาณ 2 เดือนมีนักท่องเที่ยวสะสม 27,216 คน ในจำนวนนี้มีการตรวจหาเชื้อในวันแรกที่มาถึง และจะตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง โดยพบผู้ติดเชื้อเป็นส่วนน้อย ซึ่งพบข้อมูลถึงวันที่ 2 ก.ย. จำนวน 85 ราย โดยไม่มีอาการหรืออาการน้อย ส่วนคนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการรับการรักษาหายแล้ว 20 คน คิดเป็น 0.31% หรือ 300 คนพบ 1 คน โดยคนกลุ่มนี้ได้รับการดูแล และไม่มีการก่อปัญหาหรือแพร่เชื้อกับคนในพื้นที่

สำหรับคนที่เข้ามาในภูเก็ตแซนด์ บ็อกซ์ ต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน ยกเว้นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 18 ปีที่มากับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้ว โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ส.ค. 64 พบว่า มีคนเดินทางเข้ามาที่มีผลการตรวจแล้ว 77 ราย มีประวัติฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นวัคซีนทุกยี่ห้อที่ได้รับการรับรองให้เข้ามาภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนโควิชิลด์ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ซึ่งอัตราการติดเชื้อในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยประมาณ 0.3% แต่ก็จะลดหลั่นกันไปตามชนิดวัคซีน โดยโควีชิลด์เปอร์เซ็นต์เยอะหน่อย รองลงมาเป็นแอสตร้าฯ ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการฉีดวัคซีนแล้วไม่ว่าตัวใดก็ยังติดเชื้อได้ แต่ในกลุ่มนี้ไม่มีการป่วยหนัก และไม่ก่อการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น และส่วนใหญ่ตรวจพบเชื้อใน 7 วันแรก คือ พบในวันแรก หรือวันที่ 5 หรือวันที่ 7 หลังจากมาถึง ซึ่งพบว่าร้อยละ 73 .49 ไม่มีอาการ และร้อยละ 26.51 เป็นกลุ่มอาการน้อย

ส่วนสถานการณ์การดูแลนั้น แม้ผู้ที่เดินทางเข้ามาจะไม่ได้ก่อปัญหาการระบาด แต่ภูเก็ตมีการดำเนินการดูแลตรงนี้ โดยพบว่าพื้นที่ยังมีขีดความสามารถอยู่ โดยรพ.สนาม มีการใช้ไปประมาณร้อยละ 71 ซึ่งยังเหลืออีก ร้อยละ 28 ที่สามารถรองรับได้อยู่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสีแดง สีเหลือง สีเขียว จึงยังสามารถรับนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่ได้

การที่ภูเก็ตสามารถเปิดภูเก็ตแซนด์ บ็อกซ์อย่างมีประสิทธิภาพ หลักๆคือมีความพร้อมในการจัดการทุกด้าน รวมถึงการเตรียมให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่สูง โดยครอบคลุมวัคซีนเข็มที่ 1 ถึง 86.11% โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุได้วัคซีน 93.4% ส่วนความครอบคลุมของวัคซีน 2 เข็ม ฉีดแล้ว 76.32% แต่ยังพบผู้ติดเชื้อได้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ส.ค.ติดเชื้อรวม 3,754 ราย ในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 2,375 ราย หรือคิดเป็น 63.23% ส่วนใหญ่ไม่มีอาการและอาการน้อย โดยคนที่ฉีดวัคซีนในพื้นที่พบเสียชีวิตจากโควิด 12 ราย โดย 11 รายไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่สูงอายุที่ยังเหลืออยู่ พบว่าอายุมากกว่า 70 ปีจำนวน 8 ราย อายุ 60-69 ปี จำนวน 1 ราย อายุ 50-59 ปี 1 ราย และอายุ 40-49 ปีจำนวน 2 ราย โดยมีโรคประจำตัว 11 ราย และมี 1 รายได้รับแอสตร้าฯ 1 เข็มยังไม่ครบกำหนดรับเข็ม 2 ซึ่งเป็น 1 ใน 12 รายที่ได้รับวัคซีนแต่ยังไม่ครบ 2 เข็ม

“ในจ.ภูเก็ต คนฉีดวัคซีนส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และไม่มีใครฉีดซิโนแวค 2 เข็มเสียชีวิต จึงพิสูจน์ได้ว่า ซิโนแวค 2 เข็มในพื้นที่ภูเก็ตมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จึงเป็นตัวอย่างสำคัญว่าวัคซีนมีประโยชน์สูงในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต” นพ.โสภณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ไทยใช้รับมือโควิด หากย้อนไปตั้งแต่ช่วง ธ.ค. 2563 จนถึงมี.ค. 2564 มีการระบาดโควิดสายพันธุ์ G ที่จ.สมุทรสาครมีการใช้ซิโนแวค ปกป้องประชาชนและบุคลากรลดป่วยลดตายได้ 90.5% ขณะที่เดือน เม.ย.-พ.ค. 64 มีการระบาดสายพันธุ์อัลฟา ระบาดในกทม.และปริมณฑล มีการใช้ซิโนแวค ช่วยบรรเทาการระบาดในพื้นที่ลดป่วยลดตายได้ 90.7% ส่วนเดือน มิ.ย.64 มีการระบาดสายพันธุ์อัลฟา ระบาดในรพ.แห่งหนึ่งในจ.เชียงราย มีการใช้ซิโนแวค หรือ แอสตร้าเซนเนก้า ปกป้องบุคลากรไม่ให้ป่วยหนักและเสียชีวิต 82.8% ซึ่งกรณีดังกล่าวมีทั้งคนฉีดซิโนแวค 2 เข็มและแอสตร้าฯ 1 เข็ม จึงเห็นว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาวัคซีนมีประสิทธิผลลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างดี

“ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานการวิจัยต่างๆเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันวัคซีนชนิดต่างๆ และมีการปรับสูตรฉีดวัคซีนมาเป็นซิโนแวค และตามด้วยแอสตร้าฯ ห่างกัน 3 สัปดาห์ ซึ่งได้มีการติดตามตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า จากการฉีดวัคซีนสูตรนี้ ฉีดแล้วมากกว่า 2.5 ล้านคน มีเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งอัตราป่วยตายต่ำมาก เพราะในกลุ่มคนไม่ฉีดวัคซีน 1 ล้านคนจะตายจากโควิดได้ถึง 132 คน เมื่อเทียบกับกรณีนี้ไม่ถึง 1 ในล้าน ใกล้เคียงกับแอสตร้าฯ 2 เข็มที่มีคนเสียชีวิตในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2 ราย คือ ซิโนแวคแล้วตามด้วยแอสตร้าฯ 1 รายใน 2.5 ล้านราย ส่วนแอสตร้าฯ เสียชีวิต 2 รายใน 2.4 ล้านราย เป็นตัวเลขยืนยัน ร่วมกับตัวเลขในจังหวัดภูเก็ตทำให้เห็นได้ว่า ซิโนแวค 2 เข็ม และซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในระยะนี้” นพ.โสภณ กล่าว

สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนโควิดของประเทศไทยนั้น เดือน ก.ย.มีวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยสิ้นเดือนนี้จะมีวัคซีนมากกว่า 15 ล้านโดส มี 3 วัคซีนหลัก คือซิโนแวค แอสตร้า และไฟเซอร์ โดยซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าฯ 7.3 ล้านโดส และไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ซึ่งแอสตร้าฯมีข่าวว่าส่งได้ถึง 8 ล้าน รวมแล้วกว่า 15 ล้านเศษ และต.ค.ก็จะมีการเพิ่มขึ้น โดยแอสตร้าเพิ่มเป็น 10 ล้านโดส ซิโนแวค 6 ล้านโดส และไฟเซอร์ 8 ล้านโดส รวม 24 ล้านโดส ส่วนพ.ย. แอสตร้า 13 ล้านโดส ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส รวมเป็น 23 ล้านโดส และเดือน ธ.ค. แอสตร้า 13 ล้านโดส และ ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส รวม 23 ล้านโดส โดยต้องส่งให้หมดภายในเดือนธ.ค. จึงเป็นที่มาว่า เรายังไม่มีการสั่งเพิ่มซิโนแวคในช่วงนั้น แต่ด้วยสถานการณ์ไม่แน่นอน เช่น การส่งมอบวัคซีนของ 2 ตัวที่ว่าจะมามาก หรือความจำเป็นการฉีดวัคซีนในเด็ก ซึ่งวัคซีนชนิดเชื้อตายยังปลอดภัยที่สุด เมื่อเทียบผลข้างเคียงและประโยชน์ที่ได้รับ ก็มีโอกาสที่จะส่งเพิ่มตามความจำเป็น ความเหมาะสมของสถานการณ์ โดยการบริหารจัดการเราบริหารให้สอดคล้องกับจำนวนที่ได้รับในแต่ละเดือน เพื่อให้การฉีดต่อเนื่อง ไม่สะดุด ส่วนวัคซีนทางเลือก ทั้งซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา ขึ้นกับการส่งมอบก็จะมีการทยอยเข้ามา