ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ 1600 ชี้ช่วงโควิดระบาด คนอยากเลิกบุหรี่ เหตุเพราะกังวลเรื่องปอด กลายเป็นสาเหตุอันดับแรก แตกต่างจากก่อนโควิด สาเหตุเลิกบุหรี่มาจากคนในครอบครัว ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลคนเลิกบุหรี่ในฮอสพิเทล Home isolation และ Community isolation
เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรือ สายเลิกบุหรี่ 1600 กล่าวภายในงานประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ (NATFT) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอีก 12 องค์กรพันธมิตร ระหว่างวันที่ 3 -4 ก.ย.2564
(ข่าวเกี่ยวข้อง : อัปเดตบุหรี่เชื่อมโยงโควิด-19 ร่วมประกาศปฏิญญาเรียกร้อง 17 ข้อ)
โดย รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรือ สายเลิกบุหรี่ 1600 ให้ข้อมูลว่า สายด่วน 1600 มีการบริการเลิกบุหรี่ ทั้งแบบเชิงรับ (รับสายโทรเข้า) และเชิงรุก(โทรออกตามนัด) โดยการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เป็นแบบสั้น 3-5 นาที เพื่อให้ตั้งใจเลิกภายใน 30 วัน และแบบเข้มข้น 20 นาที เพื่อให้กำหนดวันเลิก ลงมือเลิกอย่างมั่นใจ และการให้คำปรึกษา 5-15 นาที ให้มีกำลังใจประมาณ 6 ครั้งภายใน 1 ปี ซึ่งมีการป้องกันการเสพซ้ำด้วย
รศ.ดร.จินตนา กล่าวว่า การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่หากกรณี 3เดือน 6 เดือนยังเลิกไม่ได้ ก็จะมีการแนะนำว่า เริ่มใหม่ดีหรือไม่ ทั้งหมดเป็นการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ นอกจากนี้ ยังแนะนำผ่านข้อความสั้น แบบมีการตอบกลับ มีบริการแบบไลน์แชท รวมไปถึงยังมีช่องทางผ่านเฟซบุ๊กสายเลิกบุหรี่ 1600 โดยมีแอดมินให้บริการข้อมูลเรื่องนี้ โดยการให้บริการคำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์เพื่อช่วยเลิกบุหรี่มีบริการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเวลา 09.00-20.00น. รับสายโทรเข้า และโทรออกทุกรูปแบบ เวลา 20.00-23.00 น. รับสายโทรเข้า และเวลา 23.00-09.00 น. ระบบIVR หรือตอบกลับอัตโนมัติ จากนั้นจะมีการติดต่อกลับในวันถัดไป
“เรามีผลกระทบจากโควิดเหมือนกัน จึงมีการจัดรูปแบบใหม่ โดยมี 2 ทีม คือ ทีม Work on Site คือ ต้องติดต่อสายเรียลไทม์ให้กับผู้เลิกบุหรี่ และอีกกลุ่มสามารถทำงาน Work From Home ได้ อย่าไงรก็ตาม เรามีการปรับแนวปฏิบัติการรับสายและการให้คำปรึกษาแบบสั้น โดยการเพิ่มการสร้างแรงจูงใจเลิกบุหรี่ ยิ่งช่วงโควิดจะยิ่งเป็นโอกาสได้ โดยคนที่ต้องการเลิกบุหรี่ที่อยู่ในฮอสพิเทล รวมถึง home isolation (HI) หรือ Community isolation (CI) แนวทางการปฏิบัติจะเข้มข้นกว่าช่วงที่ไม่มีโรคระบาด โดยเน้นการให้กำลังใจ สร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้น” รศ.ดร.จินตนา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีช่วงโควิดระบาดมีคนโทรเข้ามาเพื่อต้องการเลิกบุหรี่มากกว่า ช่วงปกติหรือไม่ รศ.ดร.จินตนา กล่าวว่า ช่วงโควิดมีคนโทรเข้ามาในระดับคงที่ ไม่มากไม่น้อย แต่พบข้อมูลน่าสนใจคือ การโทรเข้ามาเพื่อต้องการเลิกบุหรี่เกี่ยวเนื่องกับโควิดหรือไม่นั้น พบว่า ก่อนโควิดระบาด คนโทรเข้ามาอยากเลิกบุหรี่ด้วยเหตุผลจากคนในครอบครัว ที่ต้องการให้เลิกสูบเป็นเหตุผลแรกๆ แต่ตอนนี้แรงจูงใจกลับพบว่ามาจากโควิดมากที่สุดเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องครอบครัวอันดับรองลงมา
เมื่อถามถึงกรณีกลุ่มคนที่ต้องการเลิกบุหรี่ที่อยู่ในฮอสพิเทล รวมถึง HI และ CI มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน รศ.ดร.จินตนา กล่าวว่า ตัวเลขประปราย ขณะนี้ทาง 1600 กำลังรวบรวมข้อมูล อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่า ที่ผ่านมาคนที่อยู่ในฮอสพิเทล หรือแม้แต่คนที่ป่วยแล้วหายจากโควิด ต้องการเลิกบุหรี่ เนื่องจากทราบดีว่า ปอดยังไม่ฟื้น และไม่อยากกลับไปสูบบุหรี่อีก ขณะเดียวกันคนที่สูบบุหรี่ เริ่มมีความกังวล และรู้สึกกลัวความรุนแรงจากโควิด สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่เป็นแรงจูงใจให้ต้องการเลิกบุหรี่ที่เห็นชัดในช่วงที่ผ่านมา
- 295 views