นักวิจัยเผยความคืบหน้าวัคซีนใบยาสัญชาติไทย เป็นชนิดโปรตีนซับยูนิต หลังผ่านการทดสอบในแล็บและสัตว์ทดลอง ล่าสุดเตรียมทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 ภายใน ก.ย. 64 ย้ำ! มีโรงงานผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืชสำหรับมนุษย์แห่งแรกของเอเชีย พร้อมปรับสูตรรองรับวัคซีนเจเนอเรชัน 2 หากเป็นไปตามแผนคาดไตรมาส 3 ปี 65 พร้อมใช้จริง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 ก.ย.2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการสนทนาให้ความรู้ Future Talk by NXPO ประเด็น “ความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยด้วยกลไกการบ่มเพาะจากสถาบันอุดมศึกษา” โดยมีดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดย รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ Co-founder และ Chief Technology Officer (CTO) บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวช่วงหนึ่งภายในการสนทนาครั้งนี้ ว่า วัคซีนป้องกันโควิดมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชนิดเชื้อตาย อย่างซิโนแวค ซิโนฟาร์ม หรือโปรตีนซับยูนิต ซึ่งส่วนนี้เป็นระบบที่ใบยา พัฒนาวัคซีนอยู่ ทั้งนี้สำหรับทางใบยา ได้พัฒนาวัคซีนที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิต ซึ่งจริงๆสามารถทำได้ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เซลล์ยีสต์ หรือเซลล์แมลง ส่วนของใบยา เราใช้พืชทั้งต้น ซึ่งเป็นต้นยาสูบ ที่เป็นคนละพันธุ์กับของไทย โดยเป็นยาสูบที่มีปริมาณนิโคตินต่ำ โดยได้ปลูกขึ้นมาและส่งถ่ายยีนเฉพาะชิ้นส่วนที่สามารถโค้ดเป็นโปรตีนของไวรัส ให้พืชผลิตขึ้นมาได้

“นอกจากวัคซีนโควิดที่มีการพัฒนา เราอยากสร้างความมั่นคงในการผลิตระดับต้นน้ำ ของยาอื่นๆ เพราะอย่าลืมว่า มียาหลายชนิดที่บริษัทยาไม่ได้ผลิต และไทยจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงให้ได้ เพราะหากเกิดการระบาดของโรคอื่นๆ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของไวรัส เราต้องพร้อมในการผลิตยา หรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้ เราต้องนำเข้าได้ด้วย และผลิตเองได้ด้วย เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงยาและวัคซีนได้ ดังนั้น การพัฒนาวัคซีนใบยาจึงเป็นจุดเริ่มตรงนี้” รศ.ดร.วรัญญู กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ Co-founder และ CEO บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดของทางใบยานั้น ได้มีการทดสอบทั้งระดับห้องปฏิบัติการ ทั้งสัตว์ทดลอง ซึ่งผลค่อนข้างดี และกำลังจะก้าวเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ภายในสิ้นเดือน ก.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม จากการที่เราพัฒนาวัคซีนมาประมาณ 18 -20 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ไทยมีศักยภาพ ประกอบกับเรามีโครงสร้างที่เรียกว่า ศูนย์วิจัยไพรเมท ซึ่งเป็นการลงทุนที่เกิดในประเทศไทย ทำให้มีโครงสร้างศูนย์วิจัยไม่กี่แห่งในเอเชีย ประเทศอื่นๆหากจะทำก็อาจต้องไปต่อคิวการทดลอง โดยเฉพาะการทดลองในลิง ซึ่งเป็นคีย์สำคัญของการทำวัคซีน อย่างไรก็ตาม สำหรับการทำสตาร์ทอัพของทางใบยานั้น เราใช้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มาทำงาน และพร้อมจะรับกับโรคระบาดในครั้งถัดๆไป ซึ่งส่วนตนมองว่า นักวิจัยไทยมีศักยภาพ

“วัคซีนของใบยา เราคิดว่า เป็นครั้งแรกของการทำจากใบยาสูบด้วยซับยูนิต เราทำทุกอย่างใหม่หมด เรียกว่า กรณีนี้นับเป็นวัคซีนออริจินัลของไทย จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมยาและวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวถึงความก้าวหน้าวัคซีนใบยาว่า ภายในเดือน ก.ย. นี้กำลังจะทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ขณะนี้มีโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช ใช้สำหรับมนุษย์เป็นแห่งแรกของเอเชีย ขณะเดียวกันเรามีการปรับสูตรวัคซีนเจเนเรชัน 2 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น แต่ต้องขอดูผลการศึกษาเฟส 1 ก่อนพิจารณาว่าจะมีรุ่นที่ 2 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เราต้องการวัคซีนที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานอย่างแน่นอน โดยตามแผนคาดว่าไตรมาส 3 ปี 2565 น่าจะมีวัคซีนพร้อมฉีดได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผลของเฟส 1 เฟส 2 และเฟส 3 ผลเป็นอย่างไรด้วย นอกจากนี้ ใบยาไม่ได้มองแค่วัคซีน แต่จะมีการวิจัยยามะเร็งด้วย

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับการพัฒนาวัคซีนใบยานั้น เป็นการทำงานร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพ ทั้งความรู้ระดับอุตสาหกรรม เภสัชกรรม การประกันคุณภาพ การออกแบบสัตว์ทดลอง เพื่อนำสู่การขึ้นทะเบียนให้ได้ การทำงานจึงเป็นทีม มีหลากหลายสาขา โดยวัคซีนใบยา ที่มาถึงจุดนี้มาจากทีมนักวิจัยทั่วประเทศร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยมีความสามารถมาก มีบางเรื่องเราไม่รู้ อย่างยาหนึ่งตัวไม่ใช่แค่งานวิจัยแล้วไปตีพิมพ์ หรือทำระดับอุตสาหกรรมเพราะอ่านแค่ไกด์ไลน์ GMP แต่ยังต้องประสานองค์ความรู้ต่างๆอีกมาก ซึ่งเรามีความพร้อม แต่ต้องทำงานร่วมกันได้ ซึ่งในส่วนใบยา เราสามารถทำงานร่วมกันได้

 


 

ขอบคุณภาพจากสอวช.

 

 

**สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org