ปลัดสธ.นำทีมผู้บริหาร โต้กลับหลังฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีการฉีดวัคซีนไขว้ ยันมีหลักฐานวิชาการข้อมูลชัดเจน ภูมิคุ้มกันขึ้น แต่ใช้เวลาน้อยกว่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม อธิบดีกรมวิทย์ชี้ ไม่รอตีพิมพ์เพราะใช้เวลานาน ไม่ทันสถานการณ์ระบาด พร้อมย้ำ! คนฉีดวัคซีนสูตรสลับชนิดกว่า 1.5 ล้านรายแล้วไม่มีอันตราย ขออย่าพูดให้ประชาชนสับสน
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่รัฐสภา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ ) พร้อม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวภายหลังฝ่ายค้านอภิปรายกรณีการฉีดวัคซีนไขว้
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การบริหารจัดการควบคุมโรคโควิด 19 ปละหารบริหารจัดการวัคซีนเป็นเรื่องของเทคนิคทางการแพทย์และทางวิชาการ ซึ่งการทำงานมีคณะกรรมการวิชาการจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมประชุมและให้ข้อเสนอแนะ เช่น วัคซีน เมื่อเชื้อมีการกลายพันธุ์ก็ต้องปรับให้ประสิทธิภาพวัคซีนที่เรามีจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะต้องการดูแลประชาชนให้มีภูมิต้านทานที่มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ป้องกันการติดเชื้อได้ การฉีดสูตรต่างๆ มีรายละเอียดเหตุผล ส่วนการรักษาก็เป็นไปตามนโยบายให้เข้าถึงยาง่ายขึ้น การแยกกักที่บ้าน (HI) และชุมชนหรือศูนย์พักคอย (CI) ได้รับการดูแลรักษาแน่นอน ให้ยาตั้งแต่ยังไม่มีอาการเพื่อไม่ให้เปลี่ยนเป็นรุนแรง ไม่เป็นภาระเข้าไปอยู่ใน รพ. โดยให้ฟ้าทะลายโจรเบื้องต้น
" ยืนยันว่าการทำงานต่อสู้โควิด เราเชิญอาจารย์โรงเรียนแพทย์ สาขาที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการหลายรูปแบบ คิดค้นพัฒนาปรับปรุง ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดูแลบำบัดรักษา ให้วัคซีนครบวงจร โดย สธ.ใช้ทรัพยากรจำกัดให้เกิดศักยภาพสูงสุด อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการ อย่างวัคซีนก็ต้องติดตามผลต่อเนื่อง ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดสู้เชื้อกลายพันธุ์ได้ ซึ่งไม่จบที่เดลตา แต่มีตัวอื่นอีก ก็ต้องติดตามต่อเนื่อง" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า วัคซีนทุกชนิดในโลกทำมาจากสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่ไวรัสโควิดมีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ จนเป็นเดลตาระบาดในไทยมากกว่า 90% คณะวิชาการมีการติดตามภูมิจากการฉีดวัคซีนจะยังสู้สายพันธุ์ปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งได้ให้ข้อแนะนำการบริหารจัดการ การใช้วัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนที่ระบุว่างานวิจัยสูตรไขว้ยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารมาตรฐานนั้น งานวิจัยของกรมวิทย์กำลังส่งตีพิมพ์ รวมถึงของกรมวิทย์ทำร่วมกับศิริราชอยู่ระหว่างเสนอตีพิมพ์วารสารทางการแพทย์
"ถ้าทำงานวิจัยระดับโลก หลังได้ผลกว่าจะส่งไปให้วารสารและยอมรับให้เกิดการตีพิมพ์ใช้เวลายาวนาน สถานการณ์แบบนี้ หากผู้บริหารรอตีพิมพ์ก่อนมาบริหารจัดการถือว่าโง่มาก" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนทำไมต้องซื้อวัคซีนซิโนแวค ก็ผลวิจัยบอกว่า สูตรไขว้ซิโนแวคเว้น 3 สัปดาห์ตามด้วยแอสตร้าฯ ให้ผลเท่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม ซึ่งถ้าเราพึ่งแอสตร้าฯ อย่างเดียว ต่อให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดสก็ฉีดได้เดือนละ 5 ล้านคน ถ้าเอาซิโนแวคมา 10 ล้านโดส เราฉีดคนได้ 2 เท่าจากเดิม ถ้าคิดไม่ออกก็ไม่รู้จบริหารบ้านเมืองอย่างไร จึงต้องซื้อซิโนแวคมาเพิ่มเติม สำหรับซิโนแวค 2 เข็ม ก็มีแผนกระตุ้นเข็มสาม จำนวน 3 ล้านคน
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มีการพูดประเด็นความปลอดภัยของสูตรไขว้ เราฉีดซิโนแวคเข็มแรกให้บุคลากรทางการแพทย์ หลายพันคนเกิดอาการที่มีผลจากความเครียด ไม่ใช่ตัววัคซีน ทำให้เส้นเลือดหดตัวคล้ายเป็นอัมพาตชั่วคราว คนเหล่านี้ฉีดเข็มสองเป็นแอสตร้าฯ เราเห็นภูมิขึ้นสูงโดยไม่มีผลข้างเคียง ในระดับหลายพันคนบอกเบื้องต้นว่าปลอดภัย
"วันนี้เราฉีดไขว้ไปแล้วว่าล้านคนไม่มีใครมีปัญหา ขอยืนยันว่าอย่าพูดให้ประชาชนสับสน ซิโนแวค 2 เข็มไม่มีแล้ว เป็นซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ ส่วนใครได้ซิโนแวคสองเข็มก็บูสต์ด้วยวัคซีนต่างชนิด การบริหารจัดการที่ปลัด สธ.เป็นประธาน มีคณาจารย์ฝ่ายวิชาการ สนับสนุนข้อมูลวิชาการตัดสินใจเสมอ ซึ่งต้องตัดสินใจเร็ว รอตีพิมพ์งานวิจัย อาจทำให้ประชาชนเสียหายมากกว่า" นพ.ศุภกิจกล่าว
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคโควิด 19 มีการเปลี่ยนแปลงตลอด อย่างเดลตา รู้จักแค่ 3-4 เดือน ความรู้ใหม่เปลี่ยนตลอดเวลา รวมถึงวัคซีนด้วย ต้องปรับให้ทันสถานการณ์เพื่อประโยชน์คนไทย อย่างสายพันธุ์เดลตาประสิทธิภาพทุกวัคซีนลดลง แต่ยังป้องกันป่วยหนักและตาย ทำอย่างไรให้วัคซีนที่มีใช้ในไทยมีประสิทธิภาพมากกว่านั้น นำมาสู่สูตรไขว้ เอาตัวหนึ่งมาสลับอีกตัวหนึ่ง ค้นพบทำให้ภูมิคุ้มกันสูงกว่าปกติ และฉีดได้เร็วขึ้น แล้วปลอดภัยหรือไม่ วัคซีน 4-5 ตัวที่ใช้ในไทย WHO รับรอง อย.รับรอง ความปลอดภัยยืนยัน เราฉีดไปแล้ว 32 ล้านโดส ไม่มีรายใดที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านอาการข้างเคียงยืนยันผลว่าเสียชีวิตจากวัคซีนแม้แต่รายเดียว สูตรไขว้ที่ตั้งคำถามว่าปลอดภัยไหม ยืนยันว่าปลอดภัยเพราะเป็นวัคซีนที่เราใช้อยู่แล้ว ต่อไปที่เป็นสูตรหลัก คือ ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ ฉีดแล้วมากกว่า 1.5 ล้านคน ยืนยันความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย
"การพิจารณากลไกสูตรวัคซีน มีคณะกรรมการ คณะผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคติดเชื้อ วัคซีน ระบาดวิทยา ฯลฯ มาสรุปหาข้อวินิจฉัยมาใช้กับประชาชน อ้างอิงหลักฐานวิชาการที่เรามีและทั่วโลก อย่างสูตรไขว้ผ่านคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่นำผลสูตรไขว้จากกรมวิทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไบโอเทค ศิริราช เอาข้อมูลมาจากหลายหน่วยงาน ข้อสรุปตรงกันว่า สูตรไขว้มีประโยชน์ นำเข้าคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณา มีความรอบคอบรอบด้าน อาศัยหลักฐานข้อมูลวิชาการ" นพ.โอภาสกล่าว
ด้าน นพ.มานัส กล่าวว่า การรักษาโควิด 19 กรมการแพทย์ดูแลแนวทางการรักษาตั้งแต่มีการระบาด เป็นไกด์ไลน์ มาจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งคณะแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนการกำหนดแนวทางรักษาระลอก 3 เราปรับให้เข้าถึงยาตามนโยบาย สธ.และรัฐบาลได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น เช่น กลุ่มไม่มีอาการ จ่ายยาฟ้าทะลายโจร ไม่มีอาการแต่เสี่ยง เช่น อายุมาก น้ำหนักเกิน มีโรคประจำตัว ก็เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น ในสถานการณ์เตียงที่ไม่สามารถรับผู้ป่วยเข้ารับมารักษาได้ ที่ประชุมอีโอซี เห็นชอบนำระบบ HI CI มาใช้ ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทั้ง กทม. ร.ร.แพทย์ สำนักการแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่มาร่วมดูแล
"นอกจากรับยาหลังตรวจพบด้วย ATK ก็รับอุปกรณ์ติดตามอาการ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ปรอทวัดไข้ อาหารสามมื้อ ไม่ต้องออกไปซื้อข้างนอกช่วยลดเสี่ยงแพร่เชื้อ ทำให้ผู้ป่วยรับการรักษาเร็วขึ้น จากระบบนี้ เราเพิ่มการกระจายสำรองยาไปที่หน่วยบริการ หน่วยรับผิดชอบ HI CI ทำให้จ่ายยาส่งยาเร็วขึ้น มีภาคประชาสังคมมาเสริมในคนไข้ตกหล่นนำเข้าระบบก็รับยาคู่ขนานการลงทะเบียน การรักษาโควิดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คณะกรรมการวิชาการกรมการแพทย์ติดตามการรักษาโดยตลอด อาจปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องสถานการณ์" นพ.มานัสกล่าว
- 10 views