สธ.เผยแผนฉีดวัคซีนโควิด พ.ย.นี้ ฉีดเข็ม 1 ประชาชนทั้งประเทศครอบคลุม 70% ส่วนเข็ม 3 กระตุ้นกลุ่มฉีดซิโนแวค 2 เข็มคาดให้พื้นที่เสี่ยงก่อนจะกระจายทุกจังหวัดเดือน ธ.ค. 64 ขณะที่บูสเตอร์โดส ยี่ห้อไหน ยังต้องรอการพิจารณา ทั้งคณะผู้เชี่ยวชาญและการบริหารจัดการวัคซีน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 ส.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการจัดหาและให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 อีก 4 เดือนก่อนสิ้นปี 2564 ว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่นั้น ทั้งนี้ จะเห็นว่า ตั้งแต่เดือนส.ค. ถึงก.ย. อย่างกรณีซิโนแวคที่หาเพิ่มเติมมา 12 ล้านโดส ซึ่งเป็นประโยชน์ในการนำมาฉีดไขว้กับวัคซีนแอสตร้าฯ โดยจากเดิมกำหนดว่า แอสตร้าฯจะส่งมอบ 5.8 ล้านโดสในเดือน ส.ค. แต่ก.ย.มีการปรับเพิ่มจากเดิม 7 ล้าน เป็น 7.3 ล้านโดส และต.ค.-ธ.ค. อย่างละ 10 ล้านโดสจากเดิมกำหนด 7 ล้านโดส ส่วนไฟเซอร์ จะส่งมอบก.ย. 2 ล้านโดส ต.ค.อีก 8 ล้านโดส และพ.ย.-ธ.ค.เดือนละ 10 ล้านโดส
“โดยรวมแผนส่งมอบวัคซีนถึงปลายปี 124 ล้านโดส รวมจากที่เคยมีมา และหากรวมกับซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นาจะได้จำนวนรวมเป็น 140 ล้านโดสในปี 2564 แต่เรื่องผลิตภัณฑ์วัคซีนต้องเน้นความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อส่งมอบแต่ละประเทศ รวมทั้งไทยก็ต้องตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียดก่อนกระจายให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งยอดในแผนนี้ก็คาดหวังว่า จะไม่มีอะไรติดขัด และจำนวนวัคซีนก็ยังขึ้นกับการส่งมอบจากบริษัทผู้ผลิตเช่นกัน” นพ.เฉวตสรร กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อมีปริมาณวัคซีนตามดังกล่าว ในเรื่องการกระจายวัคซีน โดยหลักการมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการวิชาการให้ความเห็นในการเน้นให้กลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงก่อน เพื่อการควบคุมป้องกันโรค โดยภาพรวมเดือน ส.ค. เป้าหมายฉีดวัคซีนจะฉีดให้ครอบคลุม 70% สำหรับวัคซีนเข็มที่ 1 โดยเน้นกลุ่มเสี่ยง “ 608” ใน 12 จังหวัด ต่อมาเดือน ก.ย. จะเพิ่มการฉีดเข็มที่ 1 ให้ครอบคลุมมากกว่า 70% ในกลุ่มเสี่ยง 608 ทุกจังหวัด
ส่วนเดือนต.ค. จะเป็นการฉีดตามมาในเข็มที่ 2 เพื่อให้ครบ 2 เข็มมากกว่า 70% ในกลุ่ม 608 และมากกว่า 50% เข็มที่ 1 ทั้งประเทศ รวมทั้งเด็ก ส่วนเดือน พ.ย. จะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 มากกว่า 70 ของประชาชนทั้งประเทศ และมีการพิจารณาการฉีดเข็มที่ 3 กระตุ้นสำหรับพื้นที่เสี่ยง ซึ่งกรณีวางเป็นแนวทาง ส่วนเดือน ธ.ค. ทุกพื้นที่ทั้งประเทศต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ครบ 2 เข็ม และมีส่วนเติมเข็ม 3 ไล่หลังมา อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ไม่ใช่แค่วัคซีน ยังต้องมีมาตรการส่วนบุคคล มาตรการองค์กรต้องไปด้วยกันหมด
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงคำถามว่าวัคซีนดังกล่าวยังป้องกันเดลตาหรือไม่ว่า เดลตาระบาดมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 2.5 เท่า ซึ่งการระบาดของเดลตา หลายประเทศก็ประสบปัญหาหมด แม้จะฉีดวัคซีนกว้างขวาง ดังนั้น วัคซีนอย่างเดียวไม่เพียงพอในการหยุดแพร่เชื้อ ยังต้องมีมาตรการอื่นๆร่วมด้วย ส่วนกรณีองค์การอนามัยโลกให้ฉีดวัคซีนแบบไขว้ได้หรือไม่นั้น ต้องเรียนว่า องค์การอนามัยโลกไม่ได้แนะนำให้ประชาชนเลือกวัคซีนไขว้เอง แต่แนะนำให้หน่วยงานสาธารณสุขของประเทศพิจารณาฉีดวัคซีนแบบไขว้ได้ เพราะจะมีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาให้
“องค์การอนามัยโลก พูดถึงสูตรการสลับวัคซีน โดยเข็มที่ 1 เป็นแอสตร้า หรือไวรัลเวกเตอร์ และตามด้วย mRNA แต่ไม่ได้ปิดกั้นหากประเทศไหนมีองค์ความรู้ในการฉีดไขว้ที่แตกต่างออกไป ซึ่งไทยก็มีผลการศึกษาว่า ซิโนแวคและตามด้วยแอสตร้าฯ ห่างกัน 3 สัปดาห์พบว่าภูมิคุ้มกันสูงระดับพอกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ใช้เวลาสั้นกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าบุคลากรการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เข็ม 3 พบภูมิฯสูงมากถึง 271.1” นพ.เฉวตสรรกล่าว
เมื่อถามกรณีการฉีดเข็ม 3 ประชาชนทั่วไปที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มจะได้ฉีดเมื่อไหร่ และจะเป็นวัคซีนชนิดใด นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สำหรับเข็ม 3 ให้กลุ่มประชาชนทั่วไปนั้น ขณะนี้ยังเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า แต่แนวทางของประชาชนทั่วไปกำหนดเบื้องต้นเดือน พ.ย. โดยเป็นพื้นที่เสี่ยงก่อน ส่วนจะเป็นตัวไหนขอดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่า คณะผู้เชี่ยวชาญ และการบริหารจัดการปริมาณวัคซีนอีกครั้ง ส่วนเดือน ธ.ค. เข็ม 3 ก็จะกระจายไปทั่วทั้งประเทศต่อไป
“กรณีข่าวว่า มีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในประชาชนทั่วไป โดยพบว่า มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ และฉีดเพียงวันเดียวแล้วเสียชีวิตนั้น ในข่าวคลาดเคลื่อน เพราะไประบุว่าเข็ม 3 จริงๆ เป็นการฉีดเข็มที่ 1 และฉีดในกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง มีน้ำหนักตัวสูง ส่วนรายละเอียด หรือสาเหตุการเสียชีวิตอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อมูลต่างๆ ก่อนจะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่” นพ.เฉวตสรร กล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง : อัปเดต! ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 ประชาชนทั่วไปเริ่ม ต.ค. เบื้องต้นเป็น “แอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์”
- 17 views