วันที่ 27 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) โดย พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ. ศารุติ แขวงโสภา, พ.ต.อ. ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ, พ.ต.อ. ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ. และ พ.ต.อ. เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข และรักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติการ กรณีตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตรวจยึดของกลางจำนวนมาก มูลค่ากว่า 1,100,000 บาท
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอให้ตรวจสอบ กรณีมีผู้ร้องเรียนพบการลักลอบผลิตและจำหน่ายยาฟ้าทะลายโจรปลอม โดยผู้ร้องเรียนแจ้งว่าตนได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร จากนางสาวก้อย (นามสมมุติ) ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก โดยนางสาวก้อยฯ ได้เสนอขายยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล ยี่ห้อ ดอกบัวตอง เลขทะเบียนที่ G46/53 และอ้างว่าตนเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริมแห่งหนึ่ง ย่านคลองสามวา กรุงเทพฯ และได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ให้ผลิตยาฟ้าทะลายโจรยี่ห้อดังกล่าว ผู้เสียหายจึงได้สั่งซื้อยาฟ้าทะลายโจร เป็นจำนวนเงิน 1,127,065 บาท โดยผู้เสียหายได้โอนเงินและรับสินค้าครบตามจำนวน ต่อมาผู้เสียหายได้ตรวจสอบพบว่า ผงยาฟ้าทะลายโจรภายในแคปซูลมีลักษณะที่แตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป จึงได้สอบถามไปยังบริษัทกฤษฎาสมุนไพร จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อ ดอกบัวตอง เลขทะเบียนที่ G46/53 และได้รับการยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีรูปแบบฉลากแตกต่างของจริง และไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตหรือเคยสั่งทำกับทางกับทางบริษัทฯ แต่อย่างใด ภายหลังผู้เสียหายได้ติดต่อกับนางสาวก้อยฯ เพื่อคืนสินค้าและขอเงินคืน ปรากฏว่า ได้รับการบ่ายเบี่ยง จึงได้เดินทางมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. นำหมายค้นของศาลอาญามีนบุรี เข้าทำการตรวจค้น สำนักงาน โรงงานผลิต และโกดังเก็บของ ของนางสาวก้อยฯ รวม 3 จุด ตรวจพบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรปลอมจำนวนหลายรายการ พร้อมกันนี้ได้ตรวจยึดยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรปลอม จากผู้ร้องเรียน จำนวน 5,000 กระปุก นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ฐาน “ร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท, ฐาน “ร่วมกันผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ฐาน “ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรจากร้านขายยาหรือร้านค้าที่เชื่อถือได้ และขอแจ้งเตือนให้ผู้ที่กำลังกระทำความผิด ลักลอบผลิต ยาสมุนไพรที่ไม่ได้รับอนุญาตให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที ถ้าตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด หากพี่น้องประชาชน พบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข และรักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทางออนไลน์ เพราะเราไม่สามารถเห็นสินค้าจริงก่อนซื้อ ซึ่งขณะนี้มีผู้ฉวยโอกาสหลอกขายฟ้าทะลายโจรผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก จากการเฝ้าระวังและตรวจสอบร้องเรียนที่ผ่านมา พบผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรผิดกฎหมายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. หรือใช้วัตถุดิบอื่นแทนฟ้าทะลายโจร เช่น ผงบอระเพ็ด
- ผลิตภัณฑ์ปลอมโดยสวมเลข อย. ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอ้างว่ามีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ ซึ่ง อย. ไม่อนุญาตให้ใช้ฟ้าทะลายโจรในผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากมีฤทธิ์ทางยา
- ผลิตภัณฑ์ปลอมโดยสวมเลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่น
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อขอให้ตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรผิดกฎหมายที่หน้าเว็บไซต์ อย. และตรวจสอบการขึ้นทะเบียนโดยละเอียด ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่ถูกกฎหมายเป็นจัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉลากต้องมีเลขทะเบียนตำรับขึ้นต้นด้วย อักษร “G” โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือ Oryor Smart Application และหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัย ว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล 1556@fda.moph.go.th
- 240 views