ด้วยมาตราการเน้นย้ำในการฉีดวัคซีนเพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นเรื่องน่าตกใจที่มีข่าวลือกล่าวว่า วัคซีน 1 ใน 3 ชนิดที่ใช้ในสหรัฐอเมริการะบุว่ามีประสิทธิภาพเพียง 42% ท่ามกลางสถาณการณ์การระบาดของสายพันธุ์เดลต้า

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ได้มีการส่งต่อโพสต์ของ Jack Posobiec บรรณาธิการผู้อาวุโสจากสำนักข่าว Human Events ซึ่งในข้อความระบุว่า “ ข่าวด่วน : Biden Admin กำลังกังวลว่าการศึกษาของมาโยคลินิกแสดงให้เห็นว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพลดลงถึง 42% “ พร้อมแนบลิงค์ข่าว ต่อมาได้มีการนำตัวเลขดังกล่าวไปตีแผ่อย่างบิดเบือนเป็นวงกว้างในโซเซียลมีเดีย ทั้งใช้ชื่อ มาโยคลินิก องค์กรด้านบริการสุขภาพระดับแถวหน้าในอเมริกา มาอ้างอิงเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

งานการศึกษาของคลินิกมาโยได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 ส.ค. บนเว็บไซต์สำหรับงานตีพิมพ์ล่วงหน้า ซึ่งเป็นการศึกษาเบื้องต้นก่อนตีพิมพ์ออกมาเป็นงานวารสารเชิงวิชาการ เนื่องจากว่ายังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ พร้อมทั้งยังมีประกาศเตือนว่า "ไม่ควรใช้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติทางคลินิก" ในงานศึกษานั้นด้วย

นักวิจัยได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นาในระบบสุขภาพของมาโยคลินิก ในรัฐต่าง ๆ ในอเมริกา ได้แก่ แอริโซนา ฟลอริดา ไอโอวา มินนิโซตา และวิสคอนซิน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม (วัคซีนของ Johnson & Johnson ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษานี้) นักวิจัยได้วิเคราะห์จากบันทึกของผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างน้อย 1 โดส และไม่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกก่อนเข้ารับวัคซีนโดสแรก รวมทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาครบ 2 โดสแล้ว

ข้อค้นพบที่สำคัญจากการศึกษานี้ 

  • โดยรวมแล้ว วัคซีนทั้งสองชนิดได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดภาระความรุนแรงตามอาการของโรค การรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ อีกทั้งการศึกษานี้สนับสนุนประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองชนิด แม้ว่าจะมีวิวัฒนาการของตัวแปรไวรัสที่แพร่เชื้อได้มากขึ้นก็ตาม
  • สำหรับการป้องกันการรักษาในโรงพยาบาล วัคซีนโมเดอร์นามีประสิทธิภาพ 91.6% ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ได้รับวัคซีนและวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ 85%
  • สำหรับการป้องกันการติดเชื้อ วัคซีนโมเดอร์นามีประสิทธิภาพ 86% ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ได้รับวัคซีนและวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ 76%

สำหรับตัวเลขที่ได้นำไปเผยแพร่ในโซเซียลมีเดียนั้น เป็นเพียงตัวเลขจากการศึกษาเพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น นั้นก็คือเดือนกรกฎาคม ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของสายพันธุ์เดลต้า โดยเนื้อหาได้ระบุว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการรักษาในโรงพยาบาลยังคงสูงถึง 81% สำหรับวัคซีนโมเดอร์นาและ 75% สำหรับวัคซีนไฟเซอร์  การป้องกันการติดเชื้อพบว่ามีประสิทธิภาพที่ต่ำลง 76% สำหรับวัคซีนโมเดอร์นาและ 42% สำหรับวัคซีนไฟเซอร์

ทั้งนี้งานวิจัยวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพิ่มเติม และยังไม่ได้ถูกนำไปตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ไม่ควรที่จะนำไปด่วนสรุปประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักรู้ว่าวัคซีนส่วนใหญ่ไม่ได้ผล 100% โดยเฉพาะกับการติดเชื้อที่ไม่มีการแสดงอาการ นอกจากนี้อัตตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดว่าอยู่ในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

สรุปได้ว่าเนื้อหาโพสต์ที่อ้างว่า การศึกษาของมาโยคลินิกแสดงให้เห็นว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพลดลงถึง 42% เป็นเพียงการตัดข้อความที่มีความถูกต้องเพียงบางส่วน แต่ตัดรายละเอียดที่สำคัญออกไปนำมาเผยแพร่

 

 

อ้างอิง

Human Events, "Biden Admin Concerned as Mayo Clinic Study Shows Pfizer Vaccine Dropped to 42% Effective,"  https://humanevents.com/2021/08/11/biden-admin-concerned-as-mayo-clinic-study-shows-pfizer-vaccine-dropped-to-42-effective/

medRxiv.org, "Comparison of two highly-effective mRNA vaccines for COVID-19 during periods of Alpha and Delta variant prevalence,"  https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.08.06.21261707v2

medRxiv.org, "What is an unrefereed preprint?"  https://www.medrxiv.org/content/what-unrefereed-preprint

Axios, "New data on coronavirus vaccine effectiveness may be ‘a wakeup call,’  https://www.axios.com/coronavirus-vaccines-pfizer-moderna-delta-biden-e9be4bb0-3d10-4f56-8054-5410be357070.html