กรมวิทย์ ร่วมศูนย์จีโนมรามาฯ เผย “เดลตา” กลายพันธุ์ พบสายพันธุ์ย่อยกว่า 20 สายพันธุ์ ย้ำ! ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์ไทย แต่เคยพบแล้วในหลายประเทศ ทั้งเดนมาร์ก อังกฤษ สวีเดน ขณะที่ความรุนแรงยังไม่ชัดเจน พร้อมติดตามและถอดรหัสพันธุกรรมเพิ่มอีก 6 พันตัวอย่างภายในสิ้นปีนี้
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็น : การเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์โควิด 19 และสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจไป 2,295 ตัวอย่าง พบเดลตามากที่สุด โดยภาพรวมประเทศอยู่ที่ 92.9% ส่วนในกรุงเทพมหานครพบ 96.7% จากจำนวน 1,531 ตัวอย่าง ส่วนภูมิภาค 85.2% จาก 764 ตัวอย่าง ซึ่งบอกได้ชัดว่า สรุปสายพันธุ์เดลตากระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยทุกจังหวัดหมด สัปดาห์ที่แล้วเว้นสุพรรณบุรี แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงาน 3 ราย ดังนั้น 76 จังหวัดบวกกรุงเทพมหานครพบเดลตาหมดแล้ว จึงถือว่า เดลตาเป็นสายพันธุ์หลักในการติดเชื้อของไทย ส่วนเบตา ยังพบในโซนภาคใต้ส่วนล่าง โดยเฉพาะที่ติดมาเลเซีย ส่วนที่เคยเจอจ.บึงกาฬ และกรุงเทพฯ ขณะนี้ไม่มีแล้ว ดังนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมาพบเพียง 29 รายในภาคใต้ โดยนราธิวาสมากสุด 15 ราย นอกนั้นมีกระบี่ ภูเก็ต ปัตตานี และสงขลา
00 ย้ำ! สายพันธุ์ย่อย "เดลตา" ไม่ใช่พันธุ์ไทย
“เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ของรามาฯได้วิเคราะห์สายพันธุ์ย่อยของเดลตา ซึ่งปัจจุบันเดลตาในบ้านเรา และเกือบทั่วโลก จะเป็นเดลตาที่เรียกว่า B.1.617.2 เป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมีการระบาดเร็วก็มีสายพันธุ์ย่อยๆ ขึ้นมา ซึ่งในส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็มีการตรวจเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ที่พบได้มีการติดตามอาการว่า แตกต่างหรือมีความรุนแรงอย่างไร มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน โดยคนที่เราตรวจพบได้มีการประสานกับกรมควบคุมโรคในการติดตามอาการว่า มีอาการหนักหรือไม่อย่างไร เบื้องต้นยังไม่พบข้อแตกต่างตรงนี้” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่พบครั้งนี้ ต้องเรียนก่อนว่า ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย ยังมีอีกหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ สเปน เดนมาร์ก มีรายงานเช่นกัน ดังนั้น อย่าไปสรุปว่าเป็นสายพันธุ์ของไทย แต่เราต้องจับตามองว่า สายพันธุ์นี้จะมีผลต่อการควบคุมโรคหรือไม่ ซึ่งมีการติดตามต่อเนื่อง
00 เดลตากลายพันธุ์หลุดออกมาถึง 60 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับอู่ฮั่น พบสายพันธุ์ย่อยถึง 27 สายพันธุ์
ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการที่หลากหลายประเทศมีการถอดรหัสพันธุ์กรรมของโควิด ทั้งจีโนม (whole genome sequence) อย่างต่อเนื่องทุกอาทิตย์ หรือทุกเดือน และอัปโหลดขึ้นไว้บนระบบฐานข้อมูลจีโนมโควิดโลก “GISAID” โดยประเทศไทยก็มีการจัดทำข้อมูลดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมี 3 ล้านตัวอย่างทั่วโลกช่วยกันซับมิทเข้าไป และจะมีการจัดหมวดหมู่แต่ละสายพันธุ์ และประมวลผลในรูปแบบของแผนภูมิต้นไม้ (Phylogenetic tree) คือ แผนภูมิที่แสดงถึงสายวิวัฒนาการจากลำต้น (สายพันธุ์ดั่งเดิม) ทั้งอัลฟา เดลตา แกมมา เบตา ซึ่งรูปแบบนี้จะทำให้เห็นถึงการกลายพันธุ์ได้ด้วย
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า สายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์หลุดออกมาถึง 60 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับอู่ฮั่นเดิมจากจีโนมทั้งหมด 3 หมื่น ซึ่งการมีกลายพันธุ์ออกไปจำนวนมาก บ่งชี้ว่ามีการแพร่ระหว่างคนสู่คนมาก อย่างไรก็ตาม กรณีสายพันธุ์เดลตา จะมีตัวหลักที่เรียกว่า B.1.617.2 ซึ่งพบว่ามีการกระจายตัวแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยถึง 27 สายพันธุ์ย่อย มีตั้งแต่ AY.1 ไปจนถึง AY..22 ข้อมูลนี้มาจากระบบ ไม่ใช่นักวิจัยทำกันเอง และเมื่อดูฐานข้อมูลของประเทศไทยจะพบว่า อัลฟา 11% เบตา 14% เดลตา 71% และสายพันธุ์ย่อยเดลตา พบดังนี้ AY.4 หรือ B.1.617.2.4 พบ 3% ในปทุมธานี 4 คน , AY.6 หรือ B.1.617.2.6 พบ 1% มี 1 คน , AY.10 หรือ B.1.617.2.10 พบ 1% หรือ 1 คนในกทม. และ AY.12 พบ 1 คนเป็นต้น ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีการเก็บทั้งหมดจะรายงานว่า พบที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ จำนวนเท่าไหร่ เพื่อติดตามการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากนี้ต้องติดตาม AY ต่างๆมากขึ้น อย่างสายพันธุ์ย่อย AY.4 พบมากแถวปทุมธานี ส่วน AY.12 พบย่านพญาไท ที่เราพบบริเวณดังกล่าวเพราะมีการสุ่มบริเวณนั้น
00 สายพันธุ์ย่อยเป็นลูกหลานเดลตา ไม่พบเชื่อมโยงสเตจคลอรันทีน หรือสนามบิน
ส่วนที่สงสัยว่าสายพันธุ์ย่อยมาจากไหนนั้น ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า หากพิจารณาสายพันธุ์ย่อยที่พบไม่ได้บ่งชี้ว่ามาจากสเตจคลอรันทีน หรือมาจากสนามบิน แต่กลับบ่งชี้ว่า เป็นลูกหลานของสายพันธุ์หลักเดลตาที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย ส่วนสายพันธุ์หลักจะมาจากไหนก็ต้องไปว่ากันอีกที ว่า เราไปให้ประเทศเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนบ้านให้เรา ดังนั้น เมื่อทราบข้อมูลก็จะนำไปสู่การควบคุมดูแลอีกแบบหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สายพันธุ์ย่อยดังกล่าว ยังไม่มีข้อมูลมารองรับว่าดื้อต่อวัคซีนหรือไม่ รวมไปถึงอาการต่างๆ เป็นต้น
00 กรมวิทย์เตรียมถอดรหัสพันธุกรรมอีก 6 พันตัวอย่างในปี 64
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผอ.สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตามีการอัปเดตตลอด และล่าสุดข้อมูลวันที่ 9 ส.ค.2564 ทำให้ทราบว่ามีสายพันธุ์ย่อย AY.1 ไปจนถึง.25 ทุกตัวของสายพันธุ์เดลตายังคุณสมบัติแพร่กระจายเร็ว อาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม สำหรับเชื้อเดลตาพลัสที่อินเดียเคยรายงานนั้น คือ K417N ในไทยยังไม่เจอ อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส ใช้เวลา 3-5 วันเราทำมาตลอด โดยเราถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมล่าสุด 1,955 ตัวอย่าง พบว่าเป็นอัลฟา 71% ส่วนเดลตา 23% ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจตั้งแต่ 28 พ.ค. เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้เราพบสายพันธุ์เดลตาอยู่ อย่างไรก็ตาม AY.4 พบมากสุดในปทุมธานี 4 ตัวอย่าง AY.6 พบในกรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง AY.10 พบกรุงเทพฯ 1 ตัวย่าง และ AY.12 พบสุราษฎร์ธานี 2 ตัวอย่าง และกรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นข้อมูลตั้งแต่มิ.ย.ถึง ส.ค. โดยเราจะมีการติดตามและถอดรหัสพันธุกรรมอีก 6 พันตัวอย่างในปี 2564
00 ยังไม่พบความรุนแรงของผู้ป่วยสายพันธุ์ย่อยเดลตา ขณะที่ต่างประเทศก็ยังไม่พบข้อมูล
เมื่อสอบถามอาการของคนที่พบสายพันธุ์ย่อยเป็นอย่างไร นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังไม่พบว่าแตกต่างจากผู้ป่วยสายพันธุ์หลัก แต่ด้วยยังมีจำนวนไม่มาก จึงต้องมีการติดตามต่อเนื่องอีก อย่างที่บอกว่า จำนวนยังน้อยอยู่จึงไม่สามารถบอกอะไรได้มาก แต่หลักๆ ทุกสายพันธุ์ย่อยมักเจอในสถานที่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง จึงต้องเฝ้าระวัง
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าตัวอย่างในต่างประเทศพบความรุนแรงของสายพันธุ์ย่อยด้วยหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศ ยังไม่มีข้อมูลว่าแพร่เร็วขึ้น หรือทำให้อัตราการป่วยตายมากขึ้น และยังไม่ถูกจัดชั้นอะไร เพียงแต่ว่าทุกอย่างก็จะเป็นแบบนี้ เพราะการกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ตลอด แต่หากการกลายพันธุ์แล้วไม่รุนแรงก็จะไม่มีอะไร ซึ่งก็ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง
เมื่อถามว่า เพราะอะไรถึงพบสายพันธุ์ย่อยในเดลตา แต่ก่อนหน้านี้สายพันธุ์อัลฟาไม่มีรายงานสายพันธุ์ย่อย ศ.เกียรติคุณ ดร. วสันต์ กล่าวว่า ไม่ว่าสายพันธุ์อะไรก็ตาม หากมีการแพร่กระจายจากคนสู่คนได้มากก็มีโอกาสกลายพันธุ์ และมีสายพันธุ์ย่อยได้มาก
เมื่อถามว่าการสุ่มตรวจตัวอย่างจะมีการขยายไปยังพื้นที่ใดต่อไป นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า หลักการสุ่มตรวจสายพันธุ์ปัจจุบันสอดคล้องทั้งคนไข้หนัก คนไข้ชายแดน รวมถึงการสุ่มรูทีนปกติ ซึ่งหากพบปัญหาหรือจำนวนมากก็จะพบขึ้น แต่หากมีน้อย ไม่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เพราะบางสายพันธุ์โผล่ขึ้นมาแล้วแต่ก็จบหายไปก็มีเช่นกัน ซึ่งเรามีเครือข่ายติดตามเรื่องนี้อยู่ ทั้งนี้ เรายังได้รับร้องขอจากภูมิภาคว่า หากประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถตรวจได้ ก็สามารถส่งตัวอย่างมาได้ ซึ่งก็ต้องมีการหารือกันต่อ
เมื่อถามว่าสรุปแล้วเดลตามีต้นกำหนดจากที่ไหน และสายพันธุ์ย่อยคือ ไม่ใช่ของไทยใช่หรือไม่ นพ.สุรัคเมธ กล่าวว่า เดลตาต้นกำเนิดมาจากอินเดีย การจะบอกว่าเดลตาเกิดในไทยก็ยังไม่ชัดเจน แต่ 4 ตัวนี้ชัดเจนว่า พบครั้งแรกในแถบยุโรป ซึ่งทั้งหมดอาจมาจากอินเดียก็ได้ แล้วกระจายไปทั้งโลก แต่ก็ต้องมีการศึกษาติดตามข้อมูลต่อไป
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สรุปการพบสายพันธุ์ย่อยในเดลตานั้น ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย และไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ แต่ 4 สายพันธุ์ย่อยนี้เป็นลูกหลานของเดลตาที่เราพบในไทยอยู่แล้ว ซึ่งยังไม่พบความรุนแรง หรือมีผลใดๆ และไม่เป็นปัญหากับระบบใดๆ โดยทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายจะติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากฐานข้อมูลระดับโลก ประเทศไทยที่มีรายงานเข้าไปในระบบ อย่างสายพันธุ์ย่อย AY.4 อย่างอังกฤษ 67% อเมริกา 13% เดนมาร์ก 3% สเปน 2% ฝรั่งเศส 2% ซึ่งอังกฤษทำเยอะมาก โดยจริงๆ การที่ประเทศพบและเจอสายพันธุ์ย่อยและมีการรายงานเข้าระบบ ถือเป็นด้านบวก เพราะการพบจะช่วยให้เราจัดทำข้อมูลเพื่อควบคุมโรคอย่างเหมาะสม อย่างในอนาคตหากพบสายพันธุ์ไทย แต่ถ้าเราตรวจจับได้ถือเป็นเรื่องดีในแง่การควบคุมโรค
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 12 views