นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ขยะติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 พบปริมาณขยะติดเชื้อเกิดขึ้นมากกว่า 294 ตันต่อวัน ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 94 ส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทภาชนะบรรจุอาหาร เศษอาหาร ชุด PPE อุปกรณ์ฉีดวัคซีน และชุดตรวจ Antigen Test Kit ส่งผลทำให้เกิดปัญหาในการเก็บขนขยะติดเชื้อ เนื่องจากหน่วยงานบริการ ผู้ปฏิบัติงานและยานพาหนะที่ใช้สำหรับการ เก็บขนขยะติดเชื้อมีไม่เพียงพอ ทำให้หลายจังหวัดมีปริมาณขยะติดเชื้อตกค้าง ณ แหล่งกำเนิดและสถานที่รับกำจัด จำนวนมาก เช่น พื้นที่นนทบุรี ระยอง เป็นต้น กรมอนามัยจึงได้จัดทำแนวทางการลดขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลสนาม สถานที่แยกกัก ซึ่งทางราชการกำหนด และศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการที่สามารถลดการเกิดขยะติดเชื้อ เช่น ไม่แจกกล่องโฟมใส่อาหาร หรือไม่แจกขวดน้ำบรรจุขวด แต่ติดตั้งจุดให้บริการน้ำดื่มแบบกด โดยให้ผู้ป่วยมีแก้วน้ำส่วนตัวมารับน้ำดื่มที่จุดบริการ และควรแยกขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ ออกก่อนนำเข้าไปในอาคารผู้ป่วย เป็นต้น
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การคัดแยกขยะ ให้แยกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1) ขยะติดเชื้อ ได้แก่ ขยะที่ปนเปื้อนหรือสงสัยจะปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการกินแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ช้อน ส้อม แก้ว หลอด เป็นต้น และชุด PPE โดยให้รวบรวมใส่ถุงแดงไม่เกิน 2/3 ส่วน มัดปากให้แน่น และเก็บรวบรวมในถังขยะสีแดง พร้อมกำหนดเวลาในการเก็บรวบรวมขยะติดเชื้อจากห้องพักไปยังที่พักรวมขยะติดเชื้อที่แยกจากขยะประเภทอื่น และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้รับทำการเก็บขนขยะติดเชื้อ โดยให้ใช้รถขนขยะติดเชื้อเฉพาะเพื่อเก็บขนไปกำจัดด้วยวิธีที่ได้มาตรฐานตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดขยะติดเชื้อ พ.ศ. 2545 2) ขยะทั่วไป ได้แก่ ขยะที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น เศษกระดาษ ถุงพลาสติก กระป๋องโลหะ ขวดแก้ว กล่องนม ขวดพลาสติก ถุงขนมบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น ในแต่ละวัน ให้รวบรวมและบรรจุขยะลงในถุงดำ มัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บรวบรวมในถังขยะสีเขียวหรือน้ำเงิน และนำไปกำจัดตามมาตรฐาน และ 3) ขยะประเภทเศษอาหาร ให้คัดแยกขยะประเภทเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ๆ รวบรวม ใส่ภาชนะรองรับที่จัดไว้เฉพาะ จากนั้นนำไปหมักทำปุ๋ยต่อไป กระบวนการหมักที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นและระยะเวลา สามารถทำลายเชื้อโรคได้ และสำหรับการจัดการเตียงสนามกระดาษที่ไม่ใช้งานแล้วมีแนวทางการกำจัด ดังนี้ เตียงสนามกระดาษ เมื่อเลิกใช้งานแล้วหรือชำรุดเสียหาย ให้ทำการฆ่าเชื้อโรค โดยการเช็ดถูด้วยน้ำยาหรือสารฆ่าเชื้อโรค เช่น แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ และพักรอไว้ 1-2 วัน จากนั้นให้ถอดแยกชิ้นส่วน เก็บรวบรวมและเคลื่อนย้ายไปจุดพักรวม และประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปกำจัดเป็นขยะทั่วไป หรือให้ผู้รับซื้อขยะรีไซเคิลมารับไปรีไซเคิล
“ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานจัดเก็บขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องรู้จักวิธีการป้องกันตนเองขณะปฏิบัติงาน ดังนี้ 1) ให้สวมถุงมือขณะปฏิบัติงานทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการคุ้ยเขี่ยหรือเปิดถุงขยะ 2) สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือขยะจากสารเคมีมาสัมผัสร่างกายได้ 3) ขณะปฏิบัติงานให้สวมหน้ากากป้องกันตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก ตา เพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อได้ง่าย และ 4) หลังการปฏิบัติงานทุกครั้ง ให้ทิ้งถุงมือ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในภาชนะที่ปิดสนิทหรือถุงพลาสติก โดยมัดปากถุงให้แน่น แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ และหลังเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน ผู้ปฏิบัติงานต้องอาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาดทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
กรมอนามัย / 13 สิงหาคม 2564
- 454 views