คณบดีศิริราชฯ เผยโควิดสายพันธุ์เดลตาแนวโน้มอาการรุนแรง ยก CDC สหรัฐออกประกาศเตือนเร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง ขณะที่ไทยกำลังดำเนินการ หากทุกมาตรการเข้ม ได้รับความร่วมมือทุกส่วน คู่ขนานกับการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย คาด ก.ย.-ต.ค. น่าจะควบคุมได้ แต่หากไม่ได้ต้องประมินมาตรการใหม่ ส่วนสถานการณ์วัคซีนทั่วโลกยังไม่พอ! ไทยจะมีไฟเซอร์มาปลายปี 20 ล้าน เชื่อยื้อได้ถึงปีหน้าจนกระทั่งมีวัคซีนรุ่น 2
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการให้ข้อมูลสถานการณ์โควิดผ่านระบบออนไลน์ ถึงกรณีหลายประเทศเริ่มพบความรุนแรงของสายพันธุ์เดลตา ว่า ขณะนี้ CDC สหรัฐอเมริกา ได้ออกแนวปฏิบัติ เกี่ยวกับสายพันธุ์เดลตาในสหรัฐ ว่า มีความรุนแรงขึ้น และขอให้เร่งฉีดวัคซีนให้เร็ว เนื่องจากการฉีดวัคซีนยังไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น และแนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ขณะเดียวกันโดยในอเมริกายังพูดว่า สายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้น และก่อปัญหา 80-87% จากเดิมต้นเดือน มิ.ย.พบเพียง 8-14% โดยสายพันธุ์นี้แพร่กระจายเร็ว และมีแนวโน้มในการก่อปัญหาสุขภาพที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์เริ่มต้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ศิริราชเปิดตัวอย่าง 7 ประเทศกับมาตรการจัดการโควิดสายพันธุ์เดลตา)
00 เดลตารุนแรงขึ้น ไทยต้องเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงก่อนอันดับแรก
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยควรรับมืออย่างไร ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งวัคซีนยังครอบคลุมเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ประเทศไทยเร่งฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คนอ้วน ซึ่งถ้าน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัมก็ฉีดได้เลย รวมไปถึงเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอดก็มีการดำเนินการให้ ซึ่งมีการดำเนินการแล้วในระดับหนึ่ง
“สิ่งสำคัญตอนนี้สเต๊ปแรกต้องเร่งฉีดวัคซีนให้คนสูงอายุ คนป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มคนเหล่านี้ก่อน เมื่อฉีดได้สูงจุดหนึ่งจึงค่อยมาให้กลุ่มอื่นๆ ซึ่งถึงตอนนั้นก็ไม่ต้องคำนึงถึงอายุ เพียงแต่ขณะนี้อายุสำคัญ เพราะตัวเลข 60-70% ของผู้เสียชีวิตเป็นคนอายุเกิน 60 ปี ดังนั้น วัคซีนขณะนี้ยังครอบคลุมเชื้อเดลตาได้อยู่ ซึ่งซีดีซีระบุว่า การฉีดวัคซีนยังสามารถลดความรุนแรงกับการเสียชีวิตได้อยู่ แต่โอกาสการลดการแพร่กระจายลดลงไปเยอะ เพราะอย่างสหรัฐก็ออกมายอมรับเรื่องนี้เช่นกัน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
00 อย่าประมาทแม้ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ต้องเข้มใส่หน้ากากอนามัย เหตุยังเสี่ยงเกิดสายพันธุ์ดื้อวัคซีน
เมื่อถามกรณีคนที่ฉีดวัคซีนแล้วกับที่ไม่ฉีดวัคซีน การเปลี่ยนแปลงของไวรัสจะแตกต่างหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องติดตาม สมมติมีการติดเชื้อ 100 คน และฉีดวัคซีนแล้ว 60 คน แต่อยู่ๆบอกว่าเลิกใส่หน้ากากอนามัย จะไปเที่ยว ไปสถานบันเทิง ซึ่งวัคซีนตัวนี้ยังครอบคลุมไวรัสอยู่ แต่หากไม่ใส่หน้ากากอนามัยและโชคร้ายมีการกลายพันธุ์ของไวรัสของคนกลุ่มหนึ่ง วัคซีนตัวเดิมจัดการไม่ได้ ขณะเดียวกัน 100 คนดังกล่าวไม่ใส่หน้ากากแล้ว ไวรัสตัวนี้จะไปกระจายในคนที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย และวัคซีนที่ฉีดไปก็คุมไม่ได้ ในเวลาไม่นานจะเกิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งหากโชคดี สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์แบ่งตัวช้าก็ไม่น่ากังวล แต่หากไปแบ่งตัวเร็ว หรือเข้าเซลล์เร็วก็จะเกิดการแพร่ระบาดเร็ว และเกิดปัญหาสายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีน หรือ vaccine resistant variant หรือเรียกว่าไวรัสหลุดไปจากระบบภูมิคุ้มกันที่วัคซีนไปกระตุ้นนั่นเอง
“หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องสู้รบกัน 2-3 อย่าง ซึ่งต้องกลับมากระชับมาตรการ ซึ่งหลายประเทศเริ่มทำกันแล้ว ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การบูเสตอร์โดส แม้องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำเต็มที่ เพราะทั่วโลกหลายคนยังไม่ได้รับวัคซีน แต่กรณีมีความจำเป็น วัคซีนเข็มที่ 3 จะไปกระตุ้นภูมิฯ ซึ่งหากเราทำได้ ก็จะสู้รบกันได้ จนกระทั่งถึงปีหน้า ที่วัคซีนรุ่น 2 น่าจะออกมาแล้ว” คณบดีศิริราชฯ กล่าว
00 มาตรการไทยยังต้องติดตาม เพราะการจัดการโควิดเปลี่ยนไปได้ตลอด
เมื่อถามว่ามาตรการในการจัดการโควิด19 ของประเทศไทย ณ ตอนนี้ถือว่าถูกทางหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า มาตรการทั้งหลายเวลาจัดการโควิด19 เป็นมาตรการที่ต้องติดตาม และต้องมีการปรับเปลี่ยน เหมือน CDC สหรัฐ เมื่อฉีดได้ดีก็เริ่มจะให้ยกเลิกการใส่หน้ากากอนามัย แต่เมื่อระบาดขึ้นอีก 11 สัปดาห์ให้หลังก็ต้องกลับมาใส่หน้ากากใหม่อีกครั้ง ทุกประเทศเหมือนกัน ดังนั้น มาตรการที่ออกตอนนี้ต้องติดตามดู หากตัวเลขไม่ลงอย่างที่ควรจะเป็น ก็ต้องมาเข้มมาตรการ แต่หากตัวเลขเริ่มนิ่ง และเราป้องกันปัจจัยรอบข้างได้ และเร่งฉีดวัคซีนไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดปรากฎการณ์คุมไวรัสได้ ซึ่งอาจผ่อนมาตรการลงได้ในเวลาที่เหมาะสม
“ส่วนประชาชนให้ความร่วมมือก็ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีรายงานให้เห็น เช่น ทำกิจกรรมบางอย่าง ที่รวมคนกันจำนวนมาก จนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ยังมีโรงงานที่อยากทำบับเบิ้ล แอนด์ ชิล แต่อาจยังทำไม่ได้มาก ซึ่งเรายังมีคลัสเตอร์อีกมากที่อาจควบคุมได้ไม่เต็มที่ แต่สังคมโดยรวม อย่างกทม.เท่าที่เห็นก็เหมือนการ์ดไม่ตก เพราะจะเริ่มเห็นกราฟการติดเชื้อใหม่ในกทม. มีแนวโน้มความชันเริ่มลดลง คือ จำนวนการเพิ่มเริ่มลด เรียกว่าไม่ได้เพิ่มเร็วในอัตราที่เคยเพิ่มขึ้นเร็ว ดังนั้น หากรักษาระยะแบบนี้ได้ และเร่งฉีดวัคซีนไปเยอะก็จะช่วยได้ ซึ่งปัจจุบันเราฉีดได้ประมาณ 22% ของทั้งประเทศ แต่ก็คิดว่าจะจัดการได้อยู่” คณบดีศิริราชฯ กล่าว
00 โควิดไทยยังไม่ถึงจุดพีค ต้องประเมินสถานการณ์-มาตรการเข้มหากทำได้ ก.ย.-ต.ค.อาจดีขึ้น
เมื่อถามว่ากราฟการระบาดของไทยจะลดได้เมื่อไหร่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า บางพื้นที่ยังไม่ทำตามมาตรการ เช่น การพบปะ การจัดกิจกรรมในโรงเรียน หรืออื่นๆ ซึ่งเมื่อเกิดคลัสเตอร์ใหม่ และระบบจัดการไม่ดีจะยุ่ง หากทุกคนกระชับได้จริง เชื่อว่าเดือน ก.ย.-ต.ค. คู่ขนานกับการฉีดวัคซีน ถ้าได้ตามเป้าหมายทะลุ 25% ภายในส.ค.ก็น่าจะได้ และจะไต่ยอดไปเรื่อยๆ ดังนั้น ช่วง ก.ย.-ต.ค. น่าจะเห็นจุดที่วัคซีนมากพอ คู่ขนานกับมาตรการต่างๆ ก็จะเห็นตัวเลขลดลง แต่ต้องไม่มีสิ่งใดๆเข้ามาก่อให้เกิดการแพร่กระจายมากขึ้น
“ถ้าตัวเลขการระบาดลดได้จริง และปลายปีมีไฟเซอร์ 20 ล้านโดสเข้ามาในประเทศไทย ผมเชื่อว่าเราจะยื้อไปจนถึงมีวัคซีนรุ่น 2 ในปีหน้าได้ ซึ่งจะเชื่อมโยงได้ทัน แต่หากมีอะไรมากระทบอีก ก็ไม่อยากนึกว่า จำนวนจะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงจุดพีค เพราะตัวเลขของกราฟ ไม่ว่าในกทม. หรือต่างจังหวัด ยังขึ้นอยู่ เพียงแต่บางพื้นที่ขึ้นด้วยความชันน้อยลง แต่ยังไม่วิ่งลง” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญเราต้องดูสถานการณ์ทั่วโลกคู่ขนานกับประเทศไทย ไม่เช่นนั้นเราจัดการไม่ได้ หากทั่วโลกยังร้อน ทั้งวัคซีน ทั้งยา ก็ต้องแย่งกัน และยิ่งตอนนี้สิ่งที่หลุดไปจากความคาดการณ์แต่เดิม คือ สายพันธุ์เดลตา ไม่อยากเรียกว่า ไวรัสล้างโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก หลายประเทศย้อนกลับมาคุมใหม่หมด อย่างตัวอย่างของสหรัฐ หรืออิสราเอล หากเราไม่ช่วยกัน หากแต่ละประเทศแพร่ระบาดมากๆ และโชคร้ายมีสายพันธุ์ใหม่อีก ตอนนั้นจะยิ่งเดือดร้อน ตอนนี้จึงต้องเร่งหยุดการแพร่กระจายให้เร็วที่สุด
00 ขณะนี้วัคซีนทั่วโลกผลิตไม่เพียงพอความต้องการ แต่เชื่อไทยจะยื้อได้จนถึงต้นปีหน้ารอวัคซีนรุ่น 2
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงความเพียงพอของวัคซีน ว่า ในเรื่องของวัคซีนนั้น ช่วงเวลานี้ไปจนถึงปลายปียังมีการแย่งวัคซีนในแต่ละประเทศ ซึ่งวัคซีนไม่เพียงพอ อย่างการผลิตให้มากๆไม่สามารถทำได้ทัน ขณะเดียวกันยังถูกซ้ำเติมด้วยสายพันธุ์ที่กระจายเร็ว ซึ่งวัคซีนรุ่นแรกๆ อาจคุมได้แต่ประสิทธิภาพลดลง สุดท้ายพูดถึงเข็ม 3 ขณะที่วัคซีนไม่พอก็เป็นประเด็น จึงเป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำเข็ม 3 เพราะอยากให้ทั่วโลกได้รับวัคซีนให้เยอะพอ แต่ก็ขึ้นอยู่กับบริบท ความจำเป็นของของแต่ละประเทศ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 11 views