สธ.ชี้พร้อมรับฟังความคิดเห็น ร่างพ.ร.ก.จำกัดความรับผิดบุคลากรสาธารณสุขรักษาผู้ป่วยโควิด19 เผยกฎหมายคุ้มครองครอบคลุมบุคลากรสาธารณสุข ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะแขนงต่างๆ อาสาสมัครสาธารณสุข บุคคลหรือคณะบุคคลต่างๆที่มีส่วนในการจัดหาวัสดุทางการแพทย์ วัคซีน ย้ำแต่การคุ้มครองต้องเป็นไปด้วยความสุจริต และเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ เบื้องต้นหากประกาศใช้มีผลย้อนหลังตั้งแต่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โควิด19

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวถึง ร่าง พ.ร.ก. จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด19 ว่า จากการระบาดของโควิด19 ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้เข้ามาดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่แน่นอนว่าในภาวะฉุกเฉิน ความจำกัดต่างๆ ย่อมมีเรื่องที่ดูแลได้ไม่ทั่วถึง การที่จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยการมีภูมิต้านทานในการป้องกันการถูกฟ้องร้อง จะทำให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งมีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพ สภาวิชาชีพต่างๆ และทางสมาคมรพ.เอกชนเสนอให้มีกฎหมายลักษณะนี้

00 ตั้งคณะทำงานร่างกฎหมาย หวังคุ้มครองบุคลากรทำงานโควิด ครอบคลุมทั้งหมด ทีมบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ วัคซีน

“เบื้องต้น สธ.ได้ตั้งคณะทำงานยกร่าง โดยมอบหมายให้ สบส. เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งวิชาชีพ ทั้งกฎหมาย เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ทำงานในช่วงระบาดให้ทำงานอย่างเต็มที่ โดยร่างกฎหมายนี้ ครอบคลุมใครบ้างนั้น หลักสำคัญคือการจำกัดความรับผิดของบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด19 บุคลากรที่จะได้รับการคุ้มครอง คือ บุคลากรสาธารณสุข ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะแขนงต่างๆ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างๆที่มาช่วย บุคคลหรือคณะบุคคลต่างๆที่มีส่วนในการจัดหาวัสดุทางการแพทย์ วัคซีน เพราะมองว่า กระบวนการรักษามาตั้งแต่ต้นทางการจัดหาเครื่องมือเครื่องไม้ การเตรียมสถานที่ การรักษาด้วยยา การบำบัดต่อไป” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า สถานที่ใดบ้างที่จะคุ้มครอง 1. สถานพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชน 2.การปฏิบัติงานนอกสถานที่ เช่น รพ.สนาม รถฉุกเฉินที่ต้องออกไปรับผู้ป่วย หรือการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เฉพาะ เป็นต้น ส่วนการดูแลการคุ้มครองนั้น โดยบุคลากรที่กล่าวอ้างถึงต้องทำในสถานพยาบาล หรือนอกสถานพยาบาลที่เรากำหนด และการดูแลรักษาต้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินขณะนี้ รวมทั้งการดูแลการคุ้มครองไม่ใช่ทุกกรณี ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กรอบ โดยการกระทำนั้นต้องทำโดยสุจริต

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การมีกฎหมายมาคุ้มครองให้ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัย และทำงานได้เต็มที่ เพื่อดูแลประชาชนได้มากที่สุด ก็จะทำให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่ติดขัด และยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งทุกวิชาชีพเห็นด้วยกับเรื่องนี้

เมื่อถามถึงกรณีบุคลากรที่ไม่ต้องรับผิดตามร่างกฎหมายนี้ มีตัวอย่างบุคลากรกลุ่มใด หรือทำงานแบบใด นพ.ธเรศ กล่าวว่า  กฎหมายคุ้มครองตามเงื่อนไขกำหนด ทั้งบุคลากรในสถานพยาบาลทำงานโควิด และบุคลากรปฏิบัติงานนอกโรงพยาบาล อย่างในโรงพยาบาลสนาม เป็นสิ่งแวดล้อมที่เราจัดขึ้น เพื่อรองรับคนไข้ที่มีจำนวนมาก บางครั้งเครื่องมืออาจมีข้อจำกัด เรื่องสถานที่ ที่ไม่เหมือน รพ. 100% เรื่องทิศทางต่างๆ ทั้งแนวทางการรักษาที่เปลี่ยนไปตลอด หรือแม้แต่วัคซีน ความรู้ก็ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นมากในการมีกฎหมายนี้มาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากร  ดังนั้น หากไม่ตรงเงื่อนไขก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง

ขณะที่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า ในเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งทุกอย่างเป็นความรู้ใหม่ ก็เรียนรู้ไปด้วยกัน หลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันข้อจำกัดของบุคคล ของสถานที่ รวมทั้งบุคลากรก็มี และแตกต่างกัน ถึงแม้ร่างกฎหมายจะบอกว่า ไม่ต้องรับผิด แต่ความเป็นจริงบุคลากรทุกคนรับผิดชอบทุกคน

 

 00 สบส.รับฟังข้อคิดเห็นทุกส่วนกรณีร่างพ.ร.ก.จำกัดรับผิดบุคลากรฯ เผยมีผลย้อนหลังตั้งแต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นพ.ธเรศ  ให้สัมภาษณ์ Hfocus เพิ่มเติม ว่า  ร่างพ.ร.ก.ดังกล่าว ยังเป็นเพียงร่างกฎหมาย ซึ่งทางคณะทำงานยินดีรับผิดความคิดเห็นจากทุกฝ่าย จากนั้นก็จะนำข้อคิดเห็นต่างๆมาปรับปรุงตัวร่าง และเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้พยายามทำให้ดีที่สุด และทันสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งหากทำช้าก็อาจไม่เป็นผลดี

เมื่อถามว่าไทม์ไลน์ตั้งเป้าว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อไหร่ และมีผลย้อนหลังตั้งแต่ช่วงไหน นพ.ธเรศ กล่าวว่า จะดำเนินการให้เร็วที่สุด และจะมีผลตั้งแต่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์โควิด

เมื่อถามว่ากลุ่มบุคลากรใดจะไม่เข้าข่ายร่างกฎหมายนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ต้องไปดูตามเงื่อนไข แต่หลักๆต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างสุจริต ซึ่งหากมีใครร้องเรียนมาก็จะเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และมีการตั้งทีมสอบสวน หากพบว่าไม่เข้าข่ายเงื่อนไขคุ้มครอง ก็จะไม่ได้อยู่ในกรอบของกฎหมายที่จะออกในอนาคต

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org