สถานการณ์โควิดไทยติดเชื้อกว่า 2 หมื่นรายต่อเนื่อง เสียชีวิตวันนี้พุ่ง 212 คน พบผู้สูงอายุ ป่วยโรคเรื้อรังสูงสุดถึง 93% ผอ.กองระบาดฯเผยป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงทั้งสูงอายุ 60 ปี-โรคเรื้อรัง-หญิงตั้งครรภ์ ตั้งเป้า 29 จ.ล็อกดาวน์ต้องฉีดมากกว่า 70% จังหวัดอื่นๆมากกว่า 50%ภายในเดือนส.ค.นี้ ส่วนการตรวจ ATK ในกรุงเทพฯ ตรวจ 100 คนจะมีผลบวกหรือติดเชื้อประมาณ 10 คน
เมื่อเวลา 11.30น. วันที่ 7 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงประเด็น : อัปเดตสถานการณ์วัคซีนโควิด 19 ผ่านระบบออนไลน์ ว่า ทั่วโลกมีแนวโน้มขาขึ้นพบติดเชื้อรายใหม่ถึง 668,464 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 9,923 คน คิดเป็น 2.12% โดยสหรัฐค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในสหรัฐมีการระบาดของเดลตา ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศอื่นๆก็เช่นกัน โดยต้องติดตามเพิ่มเติมว่าการฉีดวัคซีนมากกว่า 50% ในประชากรกลุ่มประเทศยุโรปช่วงลดตัวเลขติดเชื้อ และเสียชีวิตลดลงมากแค่ไหน ซึ่งแนวโน้มฝรั่งเศสก็เริ่มลดลง ทั้งนี้ ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้ว 4,320 ล้านโดส
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ค่อนข้างมีสัญญาณเชิงบวก โดยพบผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านแล้ว 21,108 ราย ซึ่งใกล้เคียงผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 21,839 ราย แสดงว่าระบบบริการพยายามเต็มที่ที่ทำให้ผู้ป่วยทุกรายที่อาการหนักได้รับการรักษาเร็วขึ้น ซึ่งหากสามารถหมุนเตียงเร็วขึ้นก็จะทำให้การรักษาครบถ้วนยิ่งขึ้น โดยกลุ่มหายป่วยอยู่ในรพ.สนาม และรพ.ประมาณ 18,834 ราย และหายป่วยที่อยู่ในเรือนจำ 455 ราย ส่วนหายป่วยที่อยู่ในระบบการรักษาที่บ้าน HI และในชุมชน CI มี 1,819 รายในวันนี้ ส่วนผู้ที่กำลังรักษาโดยรวมอยู่ที่ 213,444 ราย และยังมีผู้ป่วยอักเสบค่อนข้างมาก 5,159 ราย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ในจำนวนนี้ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,060 ราย มียอดผู้เสียชีวิต 212 ราย สะสสม 5,972 ราย
ทั้งนี้ ข้อมูลการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ ATK ซึ่งเป็นการตรวจแบบเร็วทราบผลใน 30 นาที พบว่า ในกรุงเทพฯ สัดส่วนคนที่ได้รับการตรวจมีกี่เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าช่วงนี้สถานการณ์ติดเชื้อคงตัวเฉลี่ย 10% หมายความว่าตรวจ 100 คนจะมีผลบวกหรือติดเชื้อประมาณ 10 คน หากสถานการณ์แบบนี้ และเปอร์เซ็นต์ติดเชื้อลดลงก็จะเป็นสัญญาณที่ดีว่า การฉีดวัคซีนเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการติดเชื้อจากครอบครัวหนึ่งไปสู่ครอบครัวหนึ่ง หรือลดการติดเชื้อในบ้านได้มาก อย่างไรก็ตาม สำหรับการตรวจ ATK ที่ผลเป็นบวกทั่วประเทศพบ 6,026 ราย(ข้อมูล ณ วันที่ 6 ส.ค.64)
อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเลขการเสียชีวิตวันนี้ที่ค่อนข้างมากจำนวน 212 ราย อยู่ในกรุงเทพฯ 99 ราย อยู่ในปริมณฑล 46 ราย ภาคใต้ 18 ราย ส่วนภาคอีสาน 13 ราย ภาคเหนือ 11 ราย และภาคกลาง ภาคตะวันออก 25 ราย ทั้งนี้ ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 207 ราย นอกนั้นเป็นเมียนมา จีน อินเดีย เป็นชาย 116 ราย หญิง 96 ราย ทั้งนี้ ในจำนวน 212 ราย เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 67% ส่วนอายุน้อยกว่า 60 ปีมีอยู่ 32% โดยในจำนวนนี้เป็นคนที่มีโรคเรื้อรัง 55 รายหรือ 26% ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 14 ราย หรือ 6% ตั้งครรภ์ 2 รายหรือ 1% หมายความว่าคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรังรวม 2 กลุ่มนี้มี 93% ซึ่งคนเสียชีวิตส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดมีโอกาสป้องกันโรคได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งจะลดความรุนแรง อาการหนักของโรคได้ จึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อน รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปก็ควรได้รับวัคซีนก่อนเช่นกัน
“ในจำนวน 212 ราย มีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน 192 ราย โดยพบว่า มี 172 รายไม่เคยได้รับวัคซีนเลย แสดงว่ากลุ่มใหญ่อย่างผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ได้รับวัคซีนคิดเป็น 89.58% ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 19 ราย หรือ 9.90% แต่วัคซีน 1 เข็มต้องรอ 14 วันอย่างน้อยจึงจะมีภูมิคุ้มกันขึ้นบ้าง ต้องรอให้ครบ 2 เข็มจึงจะเพิ่มขึ้น แต่มีผู้รับวัคซีน 2 เข็มมี 1 รายที่เสียชีวิต โดยสรุปหากกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว คือ 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และอีก 2 กลุ่มคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนก่อนจะป้องกันการเสียชีวิตได้มาก ” นพ.จักรรัฐ กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ระวัง! หากไม่เข้มมาตรการอีก 2 สัปดาห์โควิดระบาดต่างจังหวัดพุ่ง!)
สำหรับตัวเลขคาดการณ์จากโมเดลการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด หากเราเริ่มล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 20 ก.ค.-31 ส.ค. ประมาณ 1 เดือนกว่า มีประสิทธิภาพ 20% และอีกตัวเลขคาดการณ์ล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน ประกอบกับเร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุถึงเป้าหมายใน 1-2 เดือนก็จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 12,000 ราย ขณะที่สถานการณ์จริงที่เราเจอติดเชื้อประมาณ 2 หมื่นราย แสดงว่าสถานการณ์ล็อกดาวน์เรามีประสิทธิภาพตรง 20% ดังนั้น การเร่งฉีดวัคซีนตอนนี้ยังไม่ออกผล จนกว่าจะฉีดจนครบถ้วนได้มากกว่านี้
ดังนั้น เราต้องปรับให้ได้ประสิทธิภาพ 25% มากที่สุด เพื่อลดความรุนแรงของโรคให้ได้ที่สุด โดยขณะนี้ สธ.ร่วมกับหลายหน่วยงาน คือ การค้นหาผู้ติดเชื้อด้วย ATK และต้องมีทีม CCR ในการลงไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และการเดินทางไปรักษาที่บ้าน ที่ภูมิลำเนา ต้องมีศูนย์พักคอยคอยจัดการระบบเตียงปลายทางให้ชัดเจนขึ้น
คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ลดผู้ติดเชื้อ หลักๆ 1.งดรับเชื้อนอกบ้าน ทำอย่างไรก็ได้ไม่ออกไปรรับเชื้อและกลับมาในบ้าน การป้องกันตัวเองจึงจำเป็นที่สุด หากไม่จำเป็นอย่าออก หากออกต้องจำเป็นที่สุด เช่น ไปซื้ออาหาร หากต้องไปทำงานอยู่ต้องป้องกันตัวเองสูงสุด และขอไม่รับประทานอาหารร่วมกันคนอื่น 2.งดการแพร่เชื้อในครอบครัว การกลับมาในบ้าน ต้องแยกทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัว แยกที่นอน แยกส่วนที่มีโอกาสใกล้ชิด เพื่อลดการแพร่เชื้อในครอบครัว หากสงสัยให้ตรวจด้วย ATK เพื่อเข้าระบบดูแลที่บ้าน หากมีอาการให้ประสาน CCRT ในการมาดูแลส่งยา หรืออาการหนักจะเข้าสู่ระบบการรักษาอื่นๆต่อไป
“ในส่วนการเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิต มีการคาดการณ์เช่นกันว่าต้องเพิ่มประสิทธิภาพล็อกดาวน์และมาตรการต่างๆ ซึ่งมีการตั้งธงว่า ผู้สูงอายุ 29 จังหวัดจากการล็อกดาวน์รอบนี้ต้องได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 70% ภายในสิ้นเดือนนี้ และจังหวัดอื่นๆต้องได้วัคซีนมากกว่า 50% ภายในสิ้นเดือนนี้เช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องลดผู้เสียชีวิตให้ได้ โดยสิ่งสำคัญหากเราออกนอกบ้าน ต้องงดแพร่เชื้อผู้สูงอายุในบ้าน และต้องเร่งรีบพาผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่บ้านไปฉีดวัคซีนก่อน เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด” ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 10 views