อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลตรวจสอบเตาเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 พื้นที่กทม. ปทุมธานี และนนทบุรี รวม 189 วัด พบศักยภาพ 1 เตาเผาได้ 4 ศพต่อวัน ขณะที่วัดในกทม.เผาศพแล้ว 3,067 ศพ ซึ่งภาวะปกติเผาได้ 184 ศพต่อวัน ภาวะวิกฤต เผาได้ 368 ศพต่อวัน ปัญหาคือ มีการเผาศพบางวัดเป็นพิเศษ ทำให้การใช้งานสูง ขณะนี้ได้แจ้งข้อมูลกับวัด สถานพยาบาล และพนักงานการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อเป็นข้อมูลให้ญาติทราบเพื่อกระจายการเผาแล้ว

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 6 ส.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวถึงการดำเนินการตรวจสอบเตาเผาศพ ว่า กองวิศวกรรมการแพทย์ของกรม ร่วมมือกับวิศวกรอาสาดำเนินการตรวจสอบเตาเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด 19ในวัดในกทม. ปทุมธานีและ นนทบุรี โดยมีเป้าหมายจำนวน 189 วัด แยกเป็น กรุงเทพฯ 92 วัด ปทุมธานี 55 วัด และนนทบุรี 42 วัด ตรวจแล้ว 31 วัดและมี 4 วัดที่หยุดเผาชั่วคราว เนื่องจากชุมชนและไม่สะดวกเพราะมีพระ สัปเหร่อติดเชื้อ โดยตรวจสอบทั้งโครงสร้างและอื่นๆ พบว่า ศักยภาพของเตาเผาศพ 1 เตาสามารถเผาได้ 4 ศพต่อวัน โดยมีวัดที่เผาได้ 4 ศพต่อวัน 23.5% เผาได้ 3 ศพ 17.6% เผาได้ 2 ศพ 41.2 % และเผาได้ 1 ศพ 17.6% ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเผา คือ เทคโนโลยีของเตาเผา อายุการใช้งาน และสรีระผู้เสียชีวิต

สำหรับวัดที่รับเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ในกทม. 92 แห่ง เผาศพแล้ว 3,067 ศพ ซึ่งสภาวะปกติเผาได้ 184 ศพต่อวัน สภาวะวิกฤต เผาได้ 368 ศพต่อวัน พื้นที่นนทบุรี 42 แห่ง เผาศพแล้ว 1,067ศพ สภาวะปกติเผาได้ 84 ศพต่อวัน สภาวะวิกฤต เผาได้ 168 ศพต่อวัน และปทุมธานี 55 แห่ง เผาศพแล้ว 222 ศพ สภาวะปกติเผาได้ 110 ศพต่อวัน สภาวะวิกฤต เผาได้ 220 ศพต่อวัน ทั้งนี้ กรมได้มีการจัดทำระบบGIS แผนที่แสดงตำแหน่งวัดที่เผาศพโควิด 19 ไว้บนเว็บไซต์กรมและกรมอนามัย

“ปัญหาที่พบคือ มีการเผาศพที่บางวัดเป็นพิเศษ ทำให้มีการใช้งานเตาเผาสูงมาก ซึ่งก็ได้มีการให้ข้อมูลวัดกับสถานพยาบาล และพนักงานการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อเป็นข้อมูลให้ญาติทราบเพื่อกระจายการเผา อย่างไรก็ตาม ได้มีการตรวจสอบข้อมูลบริษัทติดตั้งเตาเผาศพมีจำนนวน 7 บริษัท ซึ่งหากพบปัญหาเตาเผาที่วัดไหนก็จะมีการดำเนินการร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนา(พศ.) “นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดำเนินการเมื่อมีผู้เสียชีวิต แยกเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีเสียชีวิตในรพ. กลไกระบบรพ.มีทีมจัดการศพ และประวัติการรักษาของทีมแพทย์ครบถ้วน การออกหนังสือรับรองการเสียชีวิตมีการออกจากในสถานพยาบาลให้กับญาติดำเนินการเพื่อแจ้งการเสียชีวิตได้ และ2.กรณีเสียชีวิตนอกรพ. ประชาชนจะต้องแจ้งองค์กรสาธารณกุศล หรือโทร 1669 เข้าไปช่วยเหลือ จะต้องดูแลเรื่องบรรจุศพให้ได้ตามมาตรฐาน หลังได้รับแจ้งแล้วเจ้าหน้าที่แจ้งผู้เกี่ยวข้องในการเข้าไปชันสูตร เป็นสถานพยาบาลใกล้เคียงหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจจะมีการบันทึกสภาพศพต่างๆ เก็บข้อมูลหลักฐานต่างๆเพื่อลงสาเหตุการตาย และขอรับหนังสือรับรองการตายจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือผู้ใหญ่บ้าน หลังจากนั้นนำเอกสารที่ได้รับไปแจ้งการตายกับนายทะเบียนที่เขต อำเภอ หรือเทศบาลจะออกใบมรณบัตรให้ภายใน 24 ชั่วโมง หลังเสร็จแล้วสามารถนำใบมรณบัตรไปแจ้งรพ.นำศพออกจากรพ.และนำไปประกอบพิธีทางศาสนา

กรณีการเผาศพ เมรุเผาศพส่วนใหญ่เตาเผาในกทม.และปริมณเป็นแบบ 2 ห้อง คือ เผาที่อุณหภูมิ 760 องศาเซลเซียส และเผาควันที่อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ตรงนี้สิ่งสำคัญคือเน้นยำกระบวนการเผาให้หลีกเลี่ยงเปิดประตูเผาศพเพื่อเขี่ยหรือพลิกศพเหมือนอดีต เพราะจะทำให้อุณหภูมิลดลง ถ้าหากฟุ้งกระจายอาจจะเกิดขึ้นได้ และการเก็บกระดูกเพื่อบำเพ็ญกุศล หลังเสร็จสิ้นการเผาสามารถดำเนินการ เพราะเชื้อโรคทุกชนิดจะตายหมดรวมถึงโควิด19ด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องของอัฐิ

กรณีการฝัง กลไกการฝัง จุดสำคัญคือเน้นย้ำว่าไม่ให้ญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไปเปิดหรือถุงซิบหรือทำให้สลายหรือปริแตก เพราะจะทำให้ของเหลวหรือสารคัดหลั่งรั่วซึมออกมาทำให้แพร่เชื้อได้ จำเป็นต้องฝังทั้งถุงทั้งหมดหรือทั้งโรง และเชื้อจะตายไปเอง เพราะเชื้อจะต้องอยู่กับคนเป็น หากอยู่ในคนตายเชื้อจะตายไปด้วย