กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับภาคีเครือข่าย นำแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องรักษาอาการอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) ด้วยการรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย (HI TTM) ในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและเข้าถึงบริการโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาของชาติด้านการแพทย์แผนไทย ให้เป็นทางเลือกในการรักษาโควิด-19

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากและแพร่กระจายในครอบครัวและชุมชน แนวทางการรักษาแบบ Home Isolation จากวิกฤตเตียงเต็มของหน่วยบริการและทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอต่อการตอบสนองปัญหาการแพร่ระบาดดังกล่าว  ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ คลินิกการแพทย์แผนไทย สภาการแพทย์แผนไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วยเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันวางแผนให้การรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่ต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้านด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย Home Isolation Thai Traditional Medicine (HITTM) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและเข้าถึงบริการโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาของชาติด้านการแพทย์แผนไทยให้เป็นทางเลือกในการรักษาโควิด-19 ให้กับประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ล่าสุดทางกรมกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ทั้ง 158 แห่ง โดยเน้นให้การรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีแม่ข่ายหลักคือ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นแม่ข่าย และมีลูกข่าย คือคลินิกการแพทย์แผนไทย สภาการแพทย์แผนไทย บูรณาการร่วมกันในการรักษาผู้ป่วย

สำหรับแนวทางให้การรักษาผู้ป่วยผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่ต้องรักษาอาการอยู่ที่บ้าน แบ่งเกณฑ์การรักษาออกเป็นดังนี้

กลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการ เน้นให้ยาฟ้าทะลายโจร (ยาผงบด) ยาเสริมรักษาตามสมุฎฐาน ได้แก่ ยาห้าราก 1.0 – 1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ยาเขียวหอม 1.0 กรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการกระหายน้ำ

กลุ่มมีอาการน้อย มีอาการอ่อนเพลีย มึนงง คอแห้ง ไอเจ็บคอ มีน้ำมูก เบื่ออาหาร ปวดเมื่อย อุณหภูมิร่างกาย ต่ำกว่า 37.5 องศาเซลเซียส เน้นให้ยาหลักเป็นยาฟ้าทะลายโจร (ยาผงบด) ยาเสริมรักษาตามสมุฎฐาน ได้แก่ ยาห้าราก 1.0 – 1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ยาจันทน์ลีลา 1.0 – 2.0 กรัม ทุก 3 – 5 ชั่วโมง เมื่อมีอาการไข้ ยาเขียวหอม 1.0 กรัม ทุก 3 – 5 ชั่วโมง เมื่อมีอาการกระหายน้ำ

กลุ่มมีอาการไข้ มีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดเมื่อย ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกาย 37.5 – 38.0 องศาเซลเซียส ให้ยาฟ้าทะลายโจร ยาเสริมรักษาตามสมุฎฐาน ได้แก่ ยาห้าราก 1.0 – 1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ยาจันทน์ลีลา 1.0 – 2.0 กรัมวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ยาประสะจันทน์แดง 1.0 กรัม ทุก 3 – 4 ชั่วโมง  เมื่อมีอาการไข้

กลุ่มหลังติดเชื้อ ไม่มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย อ่อนล้า มึนงง วิงเวียน เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ท้องอืด เน้นยาหลัก คือ ยาหอมนวโกฐ 1 ช้อนชา ละลายน้ำทุก 3 – 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ยาประสะจันทน์แดง 1.0 กรัม ทุก 3 – 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ยามันทธาตุ 1.0 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร และยาธาตุบรรจบ 1.0 กรัม วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร

ทั้งนี้ยังมีตำรับยาที่สามารถรักษาตามอาการ ได้แก่ ยาแก้อาการไอ - ยาแก้ไอ (ผสมกานพลู ผสมมะขามป้อมผสม   มะนาวดอง) ยาประสะมะแว้ง ยาอำมฤควาที ยาปรับธาตุ ได้แก่ ยาตรีผลา ยาแก้อาการหวัด ได้แก่ ยาปราบชมพูทวีป  ยาแก้ท้องผูก ได้แก่ ยาน้ำตรีผลา และยาแก้ท้องเสีย ได้แก่ ยาธาตุบรรจบ เป็นต้น

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่ต้องรักษาอาการอยู่ที่บ้านมั่นใจในการรักษา เนื่องจากทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจะมีการประเมิน การจ่ายยาเพื่อรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยตามแนวทางเวชปฏิบัติ การติดตามอาการโดยแพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์ รวมถึงให้คำแนะนำในการรักษาแบบ Home Isolation อย่างใกล้ชิด