วงถก สช. ร่วมให้มุมมองวิกฤตโควิด-19 ยืนยัน ทุกภาคส่วนล้วนเหนื่อยล้าจากปัญหาโรคระบาด ผลกระทบเศรษฐกิจ-ความขัดแย้ง จำเป็นต้องมีวัคซีนกระตุ้น “ภูมิคุ้มกันทางสังคม” สานพลัง-สร้างความร่วมมือประชาชนควบคู่มาตรการรัฐ ตัวแทน WHO เผยจับตามองไทย เหตุมีวิกฤตอื่นกระทบการควบคุมโรค

 

ดร.สุวจี กู๊ด ที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมสุขภาพและปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ องค์การอนามัยโลก (WHO) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยในเวทีเสวนาออนไลน์ “วัคซีนโควิดมาแล้ว วัคซีนทางสังคมยังจำเป็นอยู่ไหม?” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ระบุตอนหนึ่งว่า บทเรียนของโควิด-19 จากหลายๆ ประเทศนั้นล้วนมีปัญหาเหมือนกัน และปัญหาที่หนักที่สุดคือเรื่องของระบบภูมิคุ้มกันทางสังคม

ทั้งนี้ ระบบภูมิคุ้มกันทางสังคม คือภาพรวมทั้งระบบไม่ว่าจะในเรื่องของความคิด ค่านิยม วัฒนธรรมต่างๆ ของสังคม ซึ่งในวิกฤตโควิด-19 ที่มีความท้าทายมากกว่าเรื่องของโรคระบาด แต่ยังกระทบไปถึงประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ โดยหลายประเทศมองการควบคุมโรคเป็นในเชิงปัจเจกบุคคล แต่มิติทางสังคม ชุมชน และครอบครัวได้หายไป ขณะที่ประเทศไทยยังโชคดีที่มีต้นทุนทางสังคมอยู่ คือรากเหง้าวัฒนธรรม การมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เรื่องของจิตอาสาต่างๆ

ดร.สุวจี กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในช่วงโควิด-19 สิ่งเหล่านี้ได้ถูกท้าทายไปในภาวะที่เกิดการ Disruption มีการหยุดชะงักทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองต่างๆ มีการระบาดของข้อมูลข่าวสาร (Infodemic) ที่ทำให้เกิดความเข้าใจข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เกิดภาวะข่าวลือ การบิดเบือนข้อมูล เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำให้มาตรการสาธารณะที่ออกมาจึงมีผลกระทบและเกิดความวุ่นวาย ทำให้เห็นว่าปัญหาใหญ่ในสังคมไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการควบคุมโรคระบาดเพียงอย่างเดียว

ดร.สุวจี กล่าวอีกว่า หากวิเคราะห์ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ไทยยังมีภูมิคุ้มกันทางสังคมมากจากการที่ยังควบคุมโรคได้ ยังมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเมือง และมีศักยภาพภายในชุมชนที่ช่วยเหลือกัน เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมากมาย แต่ในระลอกสองเมื่อโรคเริ่มแพร่กระจาย มีผลกระทบมากขึ้น เกิดความไม่พอใจในสังคม มี Infodemic ที่บิดเบือนลดทอนความน่าเชื่อถือต่างๆ ส่งผลกระทบสุขภาพจิต รายได้ทางเศรษฐกิจลดลง พร้อมกับภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ค่อยๆ อ่อนลงทุกวัน

“เมื่อมาระลอกสาม สังคมไทยเกิดอาการเหนื่อยล้า ภูมิคุ้มกันทางสังคมถูกกระแทกจากทั้งการระบาดของโรค และการระบาดของข้อมูล cyber bullying มีภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสีย ความโกรธ ความสิ้นหวัง ฉะนั้นแม้วัคซีนป้องกันโรคจะมาแล้ว แต่ถ้าวิเคราะห์ตอนนี้สังคมไทยกำลังป่วยด้วยความไม่พอใจ ความแตกแยกทางความคิด และต้องการวัคซีนทางสังคม ซึ่งในวันนี้ WHO กำลังมองไทยในฐานะประเทศที่ต้องจับตามอง เพราะมีภาวะวิกฤตเรื่องอื่นที่เข้ามากระทบต่อการใช้มาตรการควบคุมโรค” ดร.สุวจี กล่าว

ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าวัคซีนทางสังคมนั้นมีอยู่จริง ด้วยความเข้มแข็งของชุมชน ที่ไม่ว่าเราจะเจอวิกฤตสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือภัยแล้ง แล้วเราสามารถผ่านมาได้ด้วยภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ร่วมกันสร้าง เช่นเดียวกับวิกฤตโควิด-19 ที่เราได้เห็นพลังของชุมชนลุกขึ้นมาร่วมกับภาครัฐในการช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ไม่ว่าเย็บหน้ากากผ้าแจก แบ่งปันอาหาร หรือตู้ปันสุข เหล่านี้ล้วนเป็นภาพของวัคซีนทางสังคมที่เราเห็น

ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เราเห็นตรงกันแล้วว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ได้สร้างความเหนื่อยล้าให้กับด่านหน้า ทั้งบุคลากรการแพทย์รวมไปถึงทุกภาคส่วน ซึ่งบทบาทของ สช. คือการเป็นแพลทฟอร์มของการมีส่วนร่วม ที่จะดึงทุกคนให้เข้ามีส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาได้ โดย สช.จะกระจายสิ่งดีๆ นำตัวอย่างจากพื้นที่ที่ทำได้และขยายไปสู่พื้นที่อื่น เช่น โมเดลของ จ.นครปฐม ที่ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าภาครัฐ ประชาสังคม หรือวิชาการ เข้ามาจัดการโควิดร่วมกันได้ในระดับจังหวัด

“เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโควิด ขณะนี้วัคซีนทางสังคมก็ต้องการบูสเตอร์ ในสถานการณ์ตอนนี้ที่คนติดเชื้อเยอะขึ้น เราก็ต้องการพลังจิตอาสาเข้ามาช่วยเหลือกันเพิ่มขึ้น อย่างการจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อร่วมกันดูแล เสริมมาตรการภาครัฐต่างๆ เป็นต้น โดยการสร้างวัคซีนทางสังคมเพื่อรับมือกับวิกฤตในอนาคตนั้นต้องการ 1. ภาวะผู้นำกลุ่มในการตัดสินใจ 2. สื่อสารถูกต้อง ทันท่วงที ช่องทางเหมาะสม 3. การสนับสนุนจากภายนอก รับกับวิถีชุมชน 4. การใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ 5. กลไกการทำงานด้วยกันทุกภาคส่วน” ดร.วีระศักดิ์ กล่าว

ดร.ศรีวรรณ์ ทาปัญญา ประธานเครือข่ายกรรมการชุมชนดอนเมือง โซน 2 และที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์องค์กร กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ารัฐบาลไม่สามารถคุมโรคได้ มีการติดเชื้อมากขึ้น เมื่อติดแล้วก็ไม่มีที่ไป กำลังเจ้าหน้าที่เองก็ไม่เพียงพอ ซึ่งแน่นอนว่าบุคลากรการแพทย์ที่อยู่ด่านหน้าล้วนอ่อนล้า เช่นเดียวกับคณะกรรมการหรือจิตอาสาที่นับเป็นด่านหน้าของชุมชนที่เริ่มอ่อนล้าและหมดพลังด้วยเช่นกัน ดังนั้นขณะนี้ชุมชนเองก็ต้องการกำลังของจิตอาสา คนในชุมชนที่จะเข้ามาช่วยเสริมพลังให้กับกลุ่มคนที่ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มแรกด้วย

“ถามว่าชุมชนเราจะช่วยเหลือกันเอง จะแจกอาหารให้กันได้ถึงเมื่อไร จะไปหากำลังทรัพย์มาเพิ่มจากไหน บางองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือมาแต่จะพอหรือไม่ ถ้าสถานการณ์แบบนี้ต้องอยู่ไปอีกเป็นปีจะทำอย่างไร ดังนั้นวันนี้สิ่งที่เรียกร้องคือภาครัฐต้องเอาพลังของประชาชนเข้าไปเชื่อมโยงในการร่วมวางแผนรับมือวิกฤต ให้นโยบายข้างบนและการปฏิบัติเป็นไปในระนาบเดียวกัน ซึ่งภาครัฐมีงบ มีกำลังคน มีหน่วยงาน พวกนี้ต้องเอาบูรณาการกับประชาชน” ดร.ศรีวรรณ์ กล่าว

นางนุชจรี พันธ์โสม เลขานุการสภาองค์กรชุมชน เขตวังทองหลาง กล่าวว่า การทำงานของภาคประชาชนที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ ต้องอาศัยความต้องการของพื้นที่เป็นตัวตั้ง และลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตัวเอง โดยไม่ต้องรอพึ่งพาภาครัฐที่ต้องมีกฎระเบียบในการปฏิบัติมาก แต่ประชาชนเริ่มลุกขึ้นมาช่วยกันจัดการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ เพราะเรารู้ว่าต้องการแก้ปัญหาแบบไหน จะจัดการอย่างไรให้ยั่งยืน

“ชุมชนจะไปพึ่งภาครัฐมากไม่ได้ เราต้องปรับตัว เปลี่ยนจากผู้ได้รับผลกระทบ มาเป็นผู้จัดการปัญหา ช่วยกันพัฒนาระบบการส่งต่ออาหาร แบ่งปันสิ่งต่างๆ สร้างความเอื้ออาทร และให้มองว่าเราสามารถใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการสร้างทุกเรื่องได้ เช่น การทำฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงชุมชนเข้าด้วยกัน เพราะเมื่อมีฐานข้อมูลแล้วความช่วยเหลือต่างๆ ก็จะวิ่งเข้ามาได้ง่ายขึ้น” นางนุชจรี กล่าว

ขณะที่ นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในภาวะวิกฤตทุกครั้ง การกำหนดมาตรการใดๆ ที่ออกมาจะมีผลข้างเคียงที่กระทบกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสมอ และทุกครั้งจะมีกลุ่มเปราะบางที่เมื่อเจอปัญหาแล้วจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ฉะนั้นการออกมาตรการใดๆ ก็ตาม จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนกลุ่มนี้ ซึ่งการจะทำได้จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลที่ดีพอให้เรารู้ได้ว่ากลุ่มเปราะบางเป็นลักษณะใด

“หลายมาตรการที่นโยบายออกมาแล้วคิดว่ามันน่าจะดี แต่ในเชิงปฏิบัตินั้นมีปัญหาและไปใช้กับคนบางกลุ่มไม่ได้ เช่น มาตรการ Home Isolation บางบ้านทำไม่ได้จริงๆ เพราะอยู่กันหลายคนในห้องเล็กๆ ซึ่งที่สุดก็ติดเชื้อหมดเพราะบริบทมันไม่ได้ ดังนั้นหากจะทำมาตรการใด สำหรับคนบางกลุ่มรัฐอาจต้องลงไปดูว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ข้อมูลจะเป็นสิ่งสำคัญ” นพ.วงวัฒน์ กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม: กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช. โทร. 02-8329141

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org