กรมอนามัย เผยช่องร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า สามารถขายให้ผู้บริโภคได้ไม่ต้องผ่านไรเดอร์ แต่ต้องจัดระบบเดลิเวอรีเอง มีมาตรการจัดส่ง ไม่สัมผัสผู้บริโภคโดยตรง หากไม่มี! ทำไม่ได้! ต้องใช้ฟู้ดเดลิเวอรีผ่านไรเดอร์เท่านั้น พร้อมขอปชช.เป็นหูเป็นตา หากไรเดอร์ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือรวมกลุ่มสุ่มเสี่ยงก่อโรคระบาด แจ้งจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร เอาผิดมีโทษปรับ 1 พัน สูงสุด 2 หมื่นบาท
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 3 ส.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวออนไลน์ประเด็น “สั่งอาหารเดลิเวอรีอย่างไรให้ปลอดภัย” ว่า การระบาดโควิดครั้งนี้ครอบคลุมไปทุกจังหวัดของประเทศไทย ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นออกมาตรการ เพื่อลดการติดต่อสัมผัสใกล้ชิดของผู้คน ลดการเดินทาง โดยเฉพาะการออกนอกบ้าน ห้าม งด จำกัด ปิดกิจกรรมกิจการต่างๆที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ซึ่งในส่วนร้านอาหาร ก็เป็นส่วนหนึ่งในการจำกัดเช่นกัน จึงส่งผลต่อพี่น้องประชาชน ที่เป็นผู้ประกอบการ คนทำงานได้รับผลกระทบ ในส่วนนี้รัฐบาลจะมีการพิจารณาเยียวยาตามมาตรการสังคม เศรษฐกิจต่อไป ส่วนตัวต้องขออภัยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนเพื่อช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการร้านอาหาร ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2564 ได้กำหนดให้ทุกพื้นที่ปฏิบัติตาม มี 3 ประเด็น คือ 1. การจัดที่นั่งบริโภคในร้านอาหาร 2.ระยะเวลาการให้บริการ และ3.การบริโภคสุรา โดยกำหนดแบ่งเป็น 3 พื้นที่ ดังนี้
-พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 29 จังหวัด ห้ามบริโภคในร้านอาหาร จำหน่ายอาหารแบบนำไปบริโภคที่อื่น ส่วนในห้างสรรพสินค้าจำหน่ายได้เฉพาะเดลิเวอรีเท่านั้น และระยะเวลาให้บริการเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. ห้ามบริโภคสุราในร้าน
-พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด นั่งบริโภคในร้านได้ตามปกติ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. ห้ามบริโภคสุราในร้าน
-พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด นั่งบริโภคในร้านได้ เปิดได้ตามปกติภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ห้ามบริโภคสุราในร้าน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ 29 จังหวัด ต้องเน้นย้ำร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในศูนย์การค้าง ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ จะไม่จำหน่ายในรูปแบบหน้าร้าน แต่ให้สั่งอาหารผ่านการขนส่งอาหารหรือเดลิเวอรี โดยให้เปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. ไม่มีการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง
“มีพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งสอบถามว่า ตัวห้างสรรพสินค้าได้เปิดในส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตในการให้จับจ่ายใช้สอย ซึ่งหากเราไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว และเราจะสามารถซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มในร้านอาหารที่ได้รับการผ่อนคลายได้หรือไม่โดยไม่ต้องไปสั่งผ่านไรเดอร์ ขอชี้แจงว่า หากร้านอาหารในห้างสรรพสินค้านั้นๆ หรือตัวห้างสรรพสินค้าเอง หากสามารถจัดระบบขายอาหารแบบไม่สัมผัสกับผู้บริโภค โดยอาจมีระบบเดลิเวอรีเอง เช่น สั่งออนไลน์ หรือโทรศัพท์ และจัดจุดให้ผู้บริโภครับอาหาร ที่ไม่ต้องไปรอแออัดหน้าร้าน ก็สามารถทำได้ แต่หากศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้า รวมทั้งร้านอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นๆ ไม่สามารถจัดระบบดังกล่าวได้ ก็ไม่สามารถเปิดบริการขายเช่นนั้น แต่ต้องขายด้วยการใช้บริการผ่านฟู้ดเดลิเวอรี หรือไรเดอร์แทน” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวสอบถามกรณี สธ.มีแนวทางหรือมีการจัดระเบียบพนักงานส่งอาหารในการรวมตัวหรือไม่สวมหน้ากากอนามัยอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า พนักงานส่งอาหารจะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มฟูลไทม์ หรือกลุ่มพาร์ทไทม์ โดยกลุ่มฟูลไทม์ ผู้ประกอบการจะมีการกำกับอย่างดี บางท่านฉีดวัคซีนแล้ว แต่ปัญหาส่วนใหญ่จะมาจากส่วนพาร์ทไทม์ และประเด็นที่ได้รับการร้องเรียนคือ จุดที่รอรับอาหาร หรือจุดส่งคำสั่งซื้อ อย่างไรก็ตาม ขอแยกเป็น 2 กรณี โดยกรณีแรก เป็นร้านอาหารภายนอก ต้องขอความร่วมมือแต่ละร้านในการควบคุม จัดระบบ ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ จึงต้องขอให้มีมาตรการจัดระเบียบ ไม่ให้มีการรวมตัวหน้าร้าน ส่วนกรณีที่สอง เป็นร้านอาหารในศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีข้อกำหนดตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2564 ว่า ห้างสรรพสินค้าต้องจัดระบบ และควบคุมกำกับ ไม่ให้ในส่วนของไรเดอร์มารวมกลุ่ม แออัด
“ส่วนจะมีโทษหรือไม่นั้น ตัวข้อกำหนดต่างๆที่ออกตามมาตรา 9 ในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่วมกับในส่วนของพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะไปออกประกาศ โดยกำหนดชัดเจนว่า กรณีอยู่นอกเคหะสถาน หากไม่สวมหน้ากากอนามัย ถือว่ามีความผิด และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ออกระเบียบ ซึ่งออกตามมาตรา 34(6) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้กำหนดความผิดในเรื่องการรวมกลุ่ม และไม่สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งการพูดคุย การสูบบุหรี่ หรือกิจกรรมนันทนาการใดๆ ก็ตาม โดยหากผิดครั้งแรกจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หากครั้งที่ 2 ปรับ 1,000 -10,000 บาท ครั้งที่ 3 ปรับ 10,000 -20,000 บาท” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า ในส่วนนี้เจ้าพนักงานตามกฎหมาย และคณะกรรมการโรคติดต่อของกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดมีหน้าที่ควบคุมกำกับให้เป็นไปตามประกาศ จึงขอให้ความร่วมมือ และหากประชาชนพบพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงเกิดโรคระบาด ให้แจ้งไปที่จังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือหากอยู่ในเขตกทม. ให้แจ้งไปที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
- 47 views