ผู้บริหาร รพ.บุษราคัม เตรียมพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนให้จิตอาสาหายป่วยจากโควิด แต่สมัครใจช่วยงานรพ. คล้ายๆ อสม. ทำงานจิตสาธารณะ ขณะที่การปรับระเบียบเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ 3 เท่าให้บุคลากรปฏิบัติงาน รพ.บุษราคัม เหลือรอลงนามก่อนประกาศใช้มีผลย้อนหลัง 1 ก.ค. 64

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 31 ก.ค. 2564 นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้อำนวยโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวถึงการทำงานของบุคลาการและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ภายในการแถลงข่าวประเด็น “UPdate การให้บริหาร รพ.บุษราคัม” ผ่านระบบออนไลน์ ว่า เจ้าหน้าที่ บุคลากรในรพ.บุษราคัมเกือบ 100% เดินทางมาจากต่างจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่ บุคลากรที่มีการหมุนเวียนเข้ามาช่วยประมาณ 1,800 คนในทุกสาขาวิชาชีพ ตั้งแต่แพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่รังสี นักรังสี เจ้าพนักงานรังสี พนักงานเปล พนักงานขับรถยนต์ หน่วยรับส่งต่อ ฯลฯ

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ รพ.บุษราคัมจำนวน 300 คน โดยเป็นพยาบาล 200 คน มีเครื่องช่วยหายใจที่ต้องดูแล 200 เครื่อง ในส่วนเจ้าหน้าที่บุคลากร ต้องขอขอบคุณพวกท่านที่เสียสละหมุนเวียนมาช่วย ทั้งๆที่ในพื้นที่ของตนก็มีการระบาดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานนอกจากเจ้าหน้าที่ บุคลากรมาช่วยดำเนินการ เรายังมีหน่วยผู้ป่วย ซึ่งหน่วยหนึ่งจะมี 18 คน โดยจะมีอาสาสมัคร เราตั้งชื่อว่าผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่นอนรักษาในจำนวน 17-18 คน โดยผู้ใหญ่บ้าน หรืออาสาสมัครจะช่วยวัดไข้ ดูแล ประสานงานระหว่างแพทย์ พยาบาลและคนไข้

“ต้องขอขอบคุณมากที่พวกท่านมาช่วยตรงนี้ ซึ่งมีจำนวนมาก โดยเราได้ทำประกาศเกียรติคุณให้กับผู้ใหญ่บ้านมาโดยตลอด แม้ท่านป่วยก็ยังมาช่วย นอกจากนี้ก็ยังมีอาสาสมัครทั่วไป เช่น ช่วยทำความสะอาด ล้างห้องน้ำ ช่วยเหลือคนไข้การเคลื่อนไหว เข็นคนไข้ หรือแม้แต่เข็นผู้ป่วยเสียชีวิต ต้องกราบขอบพระคุณทุกท่าน ซึ่งเป็นความเอื้ออาทร เสียสละ โดยไม่หวังอะไรตอบแทน” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

เมื่อสอบถามกรณีจะมีการจ้างงานหรือให้ค่าตอบแทนผู้ป่วยที่หายแล้วแต่ประสงค์อาสาสมัครช่วยงานในรพ.บุษราคัมหรือไม่ นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งอาสาสมัคร มีทั้งผู้ป่วยมาช่วยกันเอง แม้แต่กลุ่มต่างด้าว อย่างเมียนมา 4-5 คน ทำคลิปวิดีโอ ช่วยทำความสะอาดห้องน้ำให้ และพูดว่าช่วยกันรักษาความสะอาด และมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ช่วยเหลือกันอีกด้วย ในส่วนของผู้ป่วยเอง เราก็ไม่ได้อยากไปใช้งาน แต่กรณีผู้ป่วยโควิดมีหลายระดับ อย่างรุนแรงน้อยคล้ายหวัดก็หายแล้ว เพียงแต่รอวันครบออก ซึ่งเขาก็ไปช่วยเหลือในสิ่งที่เขาคิดว่าช่วยได้ แต่ก็มีอาสาสมัครหลายท่านมาช่วยงาน และยินดีช่วยมาตลอด

“ทางผู้บริหาร รพ.บุษราคัม มองว่า เนื่องจากเขาติดเชื้อแล้ว และมีภูมิต้านทาน เมื่อครบกำหนดกลับบ้าน แต่เขายินดีและอยากช่วยทำงานต่อ หากเขามีความสมัครใจเป็นเช่นนั้น เราควรให้ค่าตอบแทนเขา เพราะเขาหลุดพ้นจากการเป็นคนไข้ เขาหายแล้ว แม้เขาจะช่วยอาสาสมัคร แต่เราจะจัดค่าตอบแทนให้เหมาะสม และจัดที่อยู่ อาหารการกินให้พวกเขาตามที่เขายินดี ซึ่งตรงนี้ไม่น่าเรียกว่า เป็นการว่าจ้าง แต่เป็นการให้ค่าตอบแทนตามสมควร หลังจากครบกำหนดการป่วยแล้ว ซึ่งลักษณะคล้ายๆ การจ่ายค่าป่วยการ ค่าตอบแทนให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.” ผอ.รพ.บุษราคัม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงบุคลากรเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในรพ. บุษราคัมได้รับค่าตอบแทนนอกเวลาราชการแล้วใช่หรือไม่ นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องนี้ โดยภาระงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราจึงมีการปรับค่าตอบแทนนอกเวลาราชการโดยปกติระเบียบค่าตอบแทนกระทรวงฯ สามารถปรับได้ตามภาระงานที่เพิ่มขึ้น บวกกับสถานะทางการเงินในรพ.ที่เพียงพอหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารรพ.ได้ประชุมร่วมกัน และนำเสนอไปยังรพ.พระนั่งเกล้า ซึ่งเป็นรพ.หลัก นำเสนอไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทุบรี และผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 4 ก็ได้แจ้งว่า เมื่อหนังสือมาถึงก็จะอนุมัติตามขั้นตอน โดยจะปรับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 ปรับเป็น 3 เท่า ยกตัวอย่าง หากได้ 100 บาทก็จะเป็น 300 บาท เป็นต้น

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : 

: “หมอกิตติศักดิ์” ชี้ไม่ได้ไล่ “บังซา” ออกจากรพ. แต่ครบกำหนดการรักษามาตรฐานกรมการแพทย์

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org