ปลัดสธ.มีมติให้คณะกรรมการของสสจ.นนทบุรี พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการขึ้นเป็น 2 เท่าให้เฉพาะรพ.บุษราคัม เร่งหาทางออกเสริมกำลังคนในรพ. เหตุภาระงานหนัก คนไข้พุ่ง! แต่เจ้าหน้าที่เริ่มลดลง เนื่องจากพื้นที่ตจว.ก็ระบาดไม่ต่างจากกทม.ปริมณฑล กระทบการส่งบุคลากรภูมิภาคเข้ารพ.บุษราคัม พร้อมแจงข้อเท็จจริงกรณีเบี้ยเลี้ยง
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 21 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ แถลงข่าวการบริหารจัดการโรงพยาบาลบุษราคัมผ่านระบบออนไลน์ ว่า รพ.บุษราคัมเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ถึงตอนนี้ประมาณ 2 เดือนเศษ โดยดูแลผู้ป่วยสะสม (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค.2564) จำนวน 10,395 คน รักษาหายแล้ว 6,955 คน และยังคงนอนรักษาตัวประมาณ 3,300 คน ซึ่งตัวเลขสวิงไปมาตามจำนวนเตียงที่เรามี และขึ้นกับคนไข้กลับบ้านกี่คน รับใหม่กี่คน โดยอัตรากำลังรับเข้าประมาณ 300-400 คนต่อวัน ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ในรพ. 300 คนเศษ เป็นหมอ 50-60 คน พยาบาล 200 คน ที่เหลือเภสัชกร นักรังสี ที่ดูแลด้านเอกซเรย์ ผู้ช่วยเหลือคนไข้ ฯลฯ และยังขอความร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขขอพนักงานฝ่ายแบคออฟฟิสมาช่วยด้านเอกสารอีก 20 คน
นอกจากนี้ ยังมีคนไข้ที่หายจากโรคครบ 14 วัน จะจ้างเป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ พนง.เปล เป็นต้น ขึ้นกับความสมัครใจของผู้ป่วย เพื่อมาช่วยพนักงาน เจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ เรากำลังรับอาสาสมัครจากภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ตัวเลขระบาดก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกรุงเทพและปริมณฑลโดยสัดส่วน 50 ต่อ 50 โดยบางวันตัวเลขในภูมิภาคระบาดสูงกว่ากรุงเทพฯและปริมณฑลรวมกัน
00 ทางออกช่วยบุคลากร รพ.บุษราคัม ภาระงานเพิ่ม! หลังคนไข้ทะลัก แต่เจ้าหน้าที่เท่าเดิมและเริ่มลดลง
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความจำเป็นในเรื่องกำลังคนในรพ.บุษราคัม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรพ. บุษราคัมมาจากภูมิภาคเกือบ 100% แต่ด้วยภูมิภาคเริ่มมีการระบาดเพิ่มขึ้น ทำให้ขณะนี้การส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาค่อนข้างจะลำบาก ประกอบกับมีการงดบิน จึงมีความพยายามในการขอทางภูมิภาค เพื่อให้ดำรงไว้ซี่งบริการของเรา แต่ไม่ว่าอย่างไรกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ รพ.บุษราคัม จะไม่มีการปฏิเสธคนไข้ แม้ภาระของรพ. และสถานบริการในกทม.มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนไข้ติดบ้านติดเตียง หรือหญิงตั้งครรภ์ เรารับดูแลหมด เพื่อให้พวกเขาได้เข้าสู่การรับบริการในระบบสาธารณสุข ดังนั้น ในช่วงหลังๆ ภาระงานของรพ.บุษราคัม เดิมวางการดูแลคนไข้ในระดับปานกลาง หรือสีเหลือง แต่ที่ผ่านมา อย่างเดือน ก.ค. มีการระบาดรุนแรง เราได้ดูแลคนไข้อาการหนัก หรือกลุ่มสีแดง
ปัจจุบันเรามีคนไข้ต้องใช้ออกซิเจนถึง 500 คนในจำนวนที่นอนรพ.ประมาณ 3,300 คน ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ (Oxygen High Flow) ถึง 170 คน ในจำนวนนี้จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 6-9 คนต่อวัน คือ ต้องใส่ทั้งท่อช่วยหายใจ และเครื่องช่วยหายใจ โดยรพ.บุษราคัม มีการใช้เครื่องไฮโฟลว์สูงสุดในประเทศไทย
“ภาระงานเหล่านี้ จากเดิม 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรามีเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ ประมาณ 50-60 เครื่อง ปัจจุบันมีถึง 160 เครื่องต่อวันในการดูแลคนไข้ การใส่เครื่องช่วยหายใจ ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนเดิม 1-2 คนตอนนี้ 9 คน ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาอาการคนไข้รุนแรงมากขึ้น และเราไม่ปฏิเสธคนไข้ ทำให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งมีบุคลากรเท่าเดิม และมีทีท่าน้อยกว่าเดิมต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความหนักหน่วง ในภาระงานที่มากขึ้น และบุคลากรเท่าเดิม มีแนวโน้มน้อยลง จึงทำให้เกิดความกดดัน เกิดความเครียด กระทบต่อการสื่อสารที่อาจไม่ทั่วถึง จึงได้มีการทบทวนประเด็นต่างๆที่สะท้อนมาจากทุกช่องทาง หรือทางสื่อโซเชียลฯ โดยทางรพ.ก็ได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์อาวุโส ว่าจะปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง ทั้งเครื่องมือ หรือระบบการบริการให้สะดวกขึ้น เนื่องจากจำนวนมากยิ่งขึ้น ทำให้ความเครียดความกดดันอยู่กับบุคลากรมากขึ้น” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว
00 ปลัดสธ.เตรียมเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการขึ้นเป็น 2 เท่าให้รพ.บุษราคัม
ส่วนประเด็นที่สื่อโซเชียลฯระบุถึงการเบิกจ่ายค่าตอบแทนต่างๆนั้น เป็นไปตามระเบียบราชการ ซึ่งรพ.บุษราคัม เป็นรพ.ลูกข่าย ที่มีแม่ข่ายคือ รพ.พระนั่งเกล้า ระเบียบจ่ายค่าตอบแทนทุกประเภทที่ต้องจ่ายจากพระนั่งเกล้าก็เป็นไปตามนั้น แต่ระเบียบจากต้นสังกัด ก็เป็นไปตามระเบียบราชการทั้งสิ้น
“ส่วนภาระงานที่หนักขึ้นใน ก.ค. ทางท่านปลัดสธ. มีดำริดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ โดยอนุมัติเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ ขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจตามภาระงานที่มากขึ้น” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามสอบกรณีค่าตอบแทนนอกเวลาราชการขึ้นเป็น 2 เท่าใช้ในบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานช่วยโควิดเฉพาะรพ.บุษราคัม หรือทั่วประเทศ นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ค่าตอบแทนนอกเวลาราชการดังกล่าวหมายถึงให้กับเจ้าหน้าที่ บุคลากรที่มาปฏิบัติหน้าที่ใน รพ.บุษราคัม เท่านั้น ซึ่งจะมีการพิจารณาผ่านคณะกรรมการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี โดยอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการจังหวัด เพื่อเป็นขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ของรพ.บุษราคัม ส่วนอื่นๆนอกรพ.ก็อยู่ภายใต้ความเห็นของหน่วยราชการ หรือหน่วยบริการนั้นๆ
00 เตรียมทางออกกำลังคนรพ.บุษราคัม
เมื่อถามว่า ขณะนี้รพ.บุษราคัมยังรับคนไข้ได้ใช่หรือไม่ นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า รพ.มีเตียง 3,700 เตียงโดยประมาณ ซึ่งตอนนี้ครองเตียงอยู่ประมาณ 3,300 เตียง ยังรับต่อวันได้ 300-400 คน เพราะตัวเจ้าหน้าที่จะสามารถดูแลได้ด้วย ขณะเดียวกันก็จะมีคนไข้กลับบ้านตามระยะเวลากำหนด
เมื่อถามถึงกรณีที่รพ.บุษราคัม ต้องใช้กำลังคนจากภูมิภาค 100% แต่ตอนนี้ภูมิภาคก็มีการระบาด จะมีปัญหาในเรื่องกำลังคส่งเข้ามาหรือไม่ นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกำลังคน ยกตัวอย่างพยาบาลปัจจุบันมี 210 คน เจ้าหน้าที่พยาบาลต่อวัน จะทำงานแบ่งเป็น 3 ผลัด ผลัดละ 70 คนให้บริการดูแลคนไข้ 3,500 คน แสดงว่า 70 คนก็จะเหนื่อยมาก จึงต้องเอา 140 คนที่เหลือนำมาเสริม แต่จะมีเจ้าหน้าที่ที่อยู่เวรประจำครบแล้วแต่ต้องอยู่พีเรียดอื่น ซึ่งภาระก็หนักขึ้น ดังนั้น หากจะเพิ่มต้องดึงคนมาเสริมอีก โดยวันหนึ่งต้องอยู่เวรมากกว่า 1 พีเรียด จริงๆไม่ใช่แค่รพ.บุษราคัมเท่านั้น แต่เป็นภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศในปัจจุบัน เพราะเป็นภาระงานที่เกินกว่างานปกติของเรา ส่วนวิชาชีพอื่นก็เช่นกัน
“เมื่อพื้นที่ภูมิภาคก็ระบาด บ้านของตัวเองก็ลุกเป็นไฟ แต่เมืองหลวงก็เช่นกัน ดังนั้น ทุกท่านที่เป็นบุคลากรสาธารณสุขมีสำนึกในการช่วยเหลือประเทศชาติอยู่แล้ว จึงมีการอาสามาช่วย โดยบุคลากรที่อยู่ในภูมิภาคที่จะมาช่วยในบุษราคัมก็จะทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับต้นสังกัดด้วย นอกจากนั้น ก็จะใช้วิธีคนที่อยู่ในกระทรวงฯเอง ทั้งพนักงานแบคออฟฟิสวันละ 20 คนมาช่วยงานเอกสาร ลดภาระงานของหมอ พยาบาลได้ หรือการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนไข้อาจไม่ต้องเป็นหมอ พยาบาล และเราก็รับสมัครคนไข้ครบ 14 วัน ให้มาทำงานต่อได้ หรือเขาประสงค์จะมาช่วยเหลือ เราก็จะมีค่าจ้าง ก็มาช่วยด้วยเช่นกัน อย่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การพลิกตัวคนไข้ที่มีอาการหนัก อย่างพยาบาลคนเดียวทำไม่ไหว หรือแม้แต่การช่วยทำความสะอาด” ผอ.รพ.บุษราคัม กล่าว
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า อย่างพยาบาล ผลัดหนึ่งจะทำงาน 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ จริงๆ 10 วันเป็นวันทำการ นอกนั้นก็เป็นโอที แต่ก็อยู่ช่วงเวลาคนไข้มากน้อยแค่ไหน เจ้าหน้าที่จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้ลดน้อยลง อย่างเมื่อ 2 วันก่อนมีพยาบาล 250 คนตอนนี้เหลือ 210 คนก็มีภาระงานมากขึ้น
00 ข้อเท็จจริงเบี้ยเลี้ยงเป็นไปตามระเบียบราชการ
ผู้สื่อข่าวถามกรณีเบี้ยเลี้ยง 8 บาท นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า เราเป็นราชการ ทุกอย่างต้องทำตามราชการ ค่าเสี่ยงภัยก็เป็นงบประมาณแผ่นดิน จัดสรรมาโดยมติ ครม. จัดสรรเป็นงวดๆ ไม่ใช่เดือนต่อเดือน และค่าเสี่ยงภัยก็เหมือนกันทั่วประเทศ ส่วนค่าตอบแทนอื่นๆ อย่างการเดินทางจากที่บ้านมาที่ทำงาน อยู่ที่การเบิก ซึ่งมีรอบเบิก ตัวเลข 8 บาทน่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างการสื่อสาร เพราะมีระเบียบการเบิกจ่ายของปี 2560 โดยส่วนนี้ได้มอบให้ทางการเงินของรพ.พระนั่งเกล้า ให้ไปสอบทวนเรื่องนี้ ว่าหากมีส่วนใดที่เป็นสิทธิประโยชน์โดยตรงของเจ้าหน้าที่ ขอให้ดำเนินการอย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม โดยปกติหากทำงานเดือนนี้ มีเอกสารถูกต้อง ก็จะได้ค่าตอบแทนในเดือนถัดไป
เมื่อถามกรณีหากภูมิภาคระบาดหนักขึ้น จนไม่สามารถสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาช่วยที่รพ.บุษราคัม ทางรพ.จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงฯไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์นั้น เราจะพยายามทำเต็มที่ จะดูแลทั้งในส่วนภูมิภาค และสนับสนุนกทม.
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 129 views