ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.-สสส. ร่วมลงพื้นที่ "ชุมชนนิมิตรใหม่เมืองมีน" เขตคลองสามวา สำรวจมาตรการ "Home-Community Isolation" หนึ่งในชุมชนต้นแบบ 23 แห่ง ผนึก รพ.ปิยะเวท ให้การดูแล-มอนิเตอร์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้าน สสส.หนุนมาตรการชุมชน สร้างความมั่นคงระยะยาว

 

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2564 ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้แทนชุมชน และเครือข่ายสลัมสี่ภาค ร่วมกันลงพื้นที่ชุมชนนิมิตรใหม่เมืองมีน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงาน "การดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้านหรือที่ชุมชน Home/Community Isolation"

 

ผศ.ภญ.ยุพดี เปิดเผยว่า มาตรการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) และมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน (Community Isolation) เป็นมาตรการเสริมซึ่งนำมาใช้ในพื้นที่ที่เตียงเต็ม โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล ที่จะออกแบบให้เหมือนเปลี่ยนบ้านเป็นโรงพยาบาล ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชน จะได้รับการดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาลเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่ พร้อมมีแพทย์ดูแล มีอุปกรณ์ ยา อาหารต่างๆ ให้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลปิยะเวท และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ในการจัดตั้ง Community Isolation หรือการดูแลตนเองในระบบชุมชนแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงกว่า 1,200 คน ที่ยังอยู่ในระหว่างการรอเตียง และกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ในชุมชน 23 แห่ง ซึ่งผู้ติดเชื้อจะถูกลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในของ รพ.ปิยะเวท และนัดวันเอกซเรย์ปอด โดยทางโรงพยาบาลจะจัดรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ไปตรวจผู้ป่วยในชุมชนเพื่อวินิจฉัยภาวะปอดอักเสบให้เร็วที่สุด และตรวจซ้ำทุก 3 วัน

 

"กระบวนการทั้งหมด สปสช.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยสนับสนุนค่าอาหารวันละ 1,000 บาท และค่าอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนตามจริงไม่เกิน 1,100 บาทต่อราย รวมทั้งค่าบริหารจัดการอื่นๆ และค่ารถ ค่าเอกซเรย์ ค่า SWOP และค่าตรวจ RT-PCR ตามหลักเกณฑ์" นพ.จเด็จ กล่าว

 

นพ.วิทิต กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลมีความพร้อมทำงานร่วมกับชุมชนในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งการค้นหาผู้ป่วยจากในชุมชน ซึ่งบางรายอาจมีการไปตรวจด้วยตนเองมาแล้ว แต่โรงพยาบาลต้องขอตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าบางรายตรวจหาเชื้อจากแอนติเจนซึ่งได้ผลเป็น false positive หรือบางรายก็ตรวจจากคลินิกหรือห้องแล็บเอกชนที่ไม่ได้รับรอง ทำให้ผลตรวจไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าตรวจจากโรงพยาบาลรัฐด้วยวิธี RT-PCR ก็จะรับเข้าเป็นผู้ป่วยในเลยโดยไม่ต้องตรวจซ้ำ

 

ด้าน ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนสร้างระบบ Home Isolation และ Community Isolation ร่วมกับ สปสช. มูลนิธิพัฒนาที่อยุ่อาศัย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และภาคีเครือข่าย ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด 30 ชุมชน ใน กทม.และปริมณฑล โดยตั้งแต่เริ่มโครงการมีผู้ป่วยได้รับการดูแลประมาณ 180 คน ทั้งผู้ป่วยในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อช่วยลดวิกฤตปัญหาโรงพยาบาลเตียงไม่พอ และช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์

 

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย 1. พัฒนาระบบจัดการของชุมชน โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้ดูแลผู้ป่วย เครื่องอุปโภคบริโภค และการวางระบบดูแลผู้ป่วยที่ต้องแยกกักตัวในบ้าน รวมถึงจัดทำศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยที่แยกกักตัวในชุมชน 2. พัฒนาศักยภาพแกนนำด้านสุขภาวะในชุมชน จัดอบรมการดูแลผู้ป่วยในศูนย์พักคอยเบื้องต้น เพื่อให้มีความรู้ด้านการบริบาลผู้ป่วย 3. สนับสนุนการทำต้นแบบชุมชน ทั้งระบบภายในสำหรับดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวในชุมชน และระบบภายนอกที่เชื่อมต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยกับหน่วยงานต่างๆ

 

"นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาเตียงไม่พอ และลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ในยามวิกฤตครั้งนี้ เรายังสนับสนุนการจัดการตัวเองในระยะยาว ด้วยการสนับสนุนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร การปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หารายได้เสริมในชุมชน และการสนับสนุนให้เกิดระบบครัวกลางและการแบ่งปันอาหารภายในชุมชน" ดร.สุปรีดา กล่าว