ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ส่งสัญญาณถึงสมาชิกกรณีฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 หรือ บูสเตอร์ โดส ขอให้ขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละท่าน โดยพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโควิด 19 และความพร้อมของวัคซีนที่จะได้รับ

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 เฟซบุ๊ก ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เผยข้อความจากกรรมการบริหารถึงสมาชิก ระบุถึงจุดยืนเรื่องการกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3

โดยเนื้อหา คือ

RCPT Letter จากกรรมการบริหารถึงสมาชิก

ปีที่ 2 ฉบับที่ 14 วันที่ 16 กรกฎาคม 2564

ราชวิทยาลัยฯ สนับสนุนใช้วัคซีนโควิด 19 booster

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยแถลงจุดยืนเรื่อง วัคซีนโควิด 19 ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เพื่อสนับสนุนให้ใช้วัคซีนที่มีข้อมูลประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เพียงพอในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ ป้องกันการล่มสลายของระบบบริการรักษาพยาบาล และสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ต้องทำหน้าที่อย่างหนักและต่อเนื่องในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19

ต่อมาได้มีนโยบายจาก ศบค. ออกมาชัดเจนแล้วว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนบริษัท Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว จะได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทาน โดยเป็นวัคซีนบริษัท AstraZeneca หรือวัคซีนบริษัท Pfizer

การที่ควรจะได้รับการกระตุ้นเข็มที่ 3 เนื่องจาก พบว่าภายหลังการได้รับวัคซีนบริษัท Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว พบว่า Nab ลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 1 – 2 เดือน หลังเข็มที่ 2 จึงน่าจะมีการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ซึ่งควรเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม โดยเฉพาะในสถานการณ์ระบาดของสายพันธ์เดลต้า การกระตุ้นด้วยวัคซีนบริษัท AstraZeneca มีรายงานจากประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่มากในประเทศไทยที่แสดงว่าการกระตุ้นภูมิต้านทานในผู้ที่ได้รับวัคซีนบริษัท Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว ต่อทั้งสายพันธ์อัลฟ่าและเดลต้าได้ดี และน่าจะเป็นวัคซีนที่สามารถได้รับการฉีดกระตุ้นได้เร็วที่สุด

ส่วนการกระตุ้นด้วยวัคซีนบริษัท Pfizer มีรายงานในประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่มากในต่างประเทศ ที่พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีเช่นกัน และมีการใช้แล้วในประเทศตุรกี แต่ยังไม่มีรายงานผลให้ทราบ นอกจากนั้นยังไม่ชัดเจนว่าเราจะได้รับวัคซีนบริษัท Pfizer เมื่อไหร่ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการรายงานเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนของทั้งสองบริษัท

การตัดสินใจฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดใดจึงขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละท่าน โดยต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโควิด 19 และความพร้อมของวัคซีนที่จะได้รับด้วย

 

********************************************

นอกจากนี้ ได้ประกาศขอเชิญสมาชิกและบุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วมสัมมนาวิชาการ เรื่อง Immunomodulators: Does it a game changer for COVID-19-associated ARDS? ผ่านระบบ ZOOM MEETING ในวันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564 เวลา 12:00 - 13:30 น.

เนื้อหางานสัมมนาเป็นการพูดถึงข้อมูลในปัจจุบัน และประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ยากลุ่ม immunomodulators ในการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการทางปอดรุนแรง

โดยวิทยากรที่ทรงคุณวุฒิได้แก่ รศ.นพ.ฮิโรชิ จันทาภากุล รศ.พญ.รณิษฐา รัตนะรัต รศ.พญ.ยุดา สุธีรศานต์ โดยมี รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล เป็นผู้ดำเนินการบรรยาย

สามารถลงทะเบียนตามลิงก์นี้ฟรี

www.shorturl.asia/1cmBM