หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมฯ รพ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ กับการปฏิบัติงานสู้โควิด-19 ของเภสัชกรร่วมกับหลากหลายวิชาชีพ พร้อมขอเภสัชฯ ใช้ทุนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานโดยเร็ว

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขหลากหลายวิชาชีพ ต้องปฏิบัติงานเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคในระดับต่างๆ เภสัชกร เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่ทำงานตรงนี้ ภญ.จันทร์จรีย์ ดอกบัว เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลปทุมราชวงศา เล่าถึงการบริหารจัดการเรื่องของระบบยาและเวชภัณฑ์ยา การบริหารจัดการวัคซีนที่ใช้ในแต่ละพื้นที่ และการบริหารจัดการระบบนำส่งยาของผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็น 3 ประเด็นหลักที่เราดำเนินการในช่วงนี้

ภญ.จันทร์จรีย์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 สำหรับการบริหารจัดการเรื่องของระบบยาและเวชภัณฑ์ยา ในส่วนของผู้รับบริการที่ติดเชื้อโควิดที่รุนแรงและเข้าข่ายต้องใช้ยา “ฟาวิพิราเวียร์” มีระบบการจัดการตั้งแต่ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เมื่อแพทย์สั่งใช้ยาที่ได้รับการอนุมัติการใช้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในระดับจังหวัด จะมีแบบฟอร์มในการเบิกยาดังกล่าวและแนบแบบฟอร์มพร้อมบันทึกข้อความการเบิกยาไปเบิกยาที่โรงพยาบาลจังหวัด เมื่อได้รับยามาแล้ว เภสัชกรจะต้องทำการตรวจสอบยา และจัดทำฉลากยาที่สามารถทำให้เกิดการบริหารยาที่ถูกต้องและตรวจสอบก่อนทำการส่งมอบยาให้กับผู้ให้ยา และเมื่อผู้ป่วยได้รับการจำหน่ายกลับบ้าน กินยาครบตามกำหนดแล้ว เภสัชกรจะต้องทำการรวบรวมข้อมูลแบบฟอร์ม ตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร นำส่งโรงพยาบาลจังหวัดต่อไป ทั้งนี้ทางเราจะต้องเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการตลอดเวลา และทันท่วงที

“นอกจากนี้ เภสัชกรไม่ได้ทำหน้าที่แค่จัดหายา แต่ต้องมีการติดตามคนไข้ด้วยว่าหลังจากใช้ยา มีอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ ส่วนตอนนี้ยาที่เราได้รับการสนับสนุนอีกรายการที่ใช้กับผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการไม่รุนแรงคือ “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งเราต้องขอขอบคุณกรมแพทย์แผนไทยอย่างสูงที่ให้การสนับสนุน อย่างไรก็ตามที่ปริมาณยาที่เราได้รับอาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน” ภญ.จันทร์จรีย์ กล่าว

ประเด็นที่ 2 คือระบบบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่เภสัชกรที่ต้องบริหารจัดการในเรื่องของวัคซีนทั้งหมดที่เราได้รับจากจังหวัด เราได้รับการจัดสรรจำนวนวัคซีนตามปริมาณที่ทีมจังหวัดกำหนดมาให้ ซึ่งเราจะต้องดูในเรื่องของวัคซีนที่ได้รับมา จำนวน ล๊อตนัมเบอร์ คุณภาพของวัคซีน ระบบลูกโซ่ความเย็นตั้งแต่กระบวนการเบิกวัคซีนจากคลังวัคซีนของจังหวัดจนกระทั้งขนส่งมายังโรงพยาบาลเรา และในวันที่ฉีด เราจะต้องดำเนินการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง 2-8 องศา ตลอดระยะเวลาที่จัดเก็บจนกระทั่งถึงเวลาฉีดผู้มารับบริการ

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะจะส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัย และเมื่อประชาชนเข้ามารับวัคซีนแล้ว เภสัชกรจะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูล เป็นที่ปรึกษาและยังต้องติดตามอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง หลังจากที่ฉีดไปแล้ว 30 นาทีร่วมกับทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาล รวมถึงการให้คำปรึกษาผ่าน Line Application ในกลุ่มต่างๆร่วมด้วย

ในส่วนของเภสัชกรที่ลงพื้นที่ในชุมชน พบว่า ประชาชนมีความกังวลในเรื่องของวัคซีน เนื่องจากปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ ที่เผยแพร่มีทั้งข่าวปลอมบ้าง ข่าวจริงบ้าง ประชาชนจึงมีคำถามอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นตัวเภสัชกรที่ลงชุมชนเองและทีมสหวิชาชีพหน่วยงานปฐมภูมิที่อยู่หน้างาน ทำหน้าที่ให้ความรู้ในเรื่องของวัคซีน เช่นข้อควรรู้ต่างๆเกี่ยวกับวัคซีน การเตรียมตัวก่อนฉีด เป็นต้น รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในเรื่องของวัคซีนอีกด้วย

ประเด็นที่ 3 ระบบการนำส่งยาของผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีโอกาสในการติดเชื้อสูง จึงจำเป็นต้องมีระบบนี้ขึ้นมาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลและทำให้ประชาชนได้เข้าถึงยาที่จำเป็น ผู้บริหารมอบให้ทีมสหวิชาชีพจัดระบบการนำส่งยา โดยเริ่มต้นจากการประชุมทีมทั้งในส่วนของโรงพยาบาลและรพ.สต เพื่อทำการวางแผนและบริหารจัดการในการนำส่งยาให้ถึงมือผู้ป่วย ซึ่งมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละวิชาชีพชัดเจน ตัวเภสัชกรเองจะดูแลในเรื่องของระบบยาทั้งหมดตั้งแต่เรื่องของความครบถ้วนถูกต้องของยาผู้ป่วยแต่ละราย การจัดทำฉลากที่สามารถสื่อสารให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างถูกต้อง การมีฉลากเสริมต่างๆ การคุณภาพยาในขณะนำส่งยา ตลอดจนการมีระบบการตรวจสอบยาที่ผู้ป่วยได้รับโดยจะมีแบบติดตามการใช้ยาของผู้ป่วยแนบไปในถุงยาเพื่อให้ผู้นำส่งยาติดตามการใช้ยาให้กับเราได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เราคำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัย ความถูกต้อง ให้กับประชาชนเป็นหลัก

นอกจากนี้ เรายังมีระบบติดตามการใช้ยาของผู้ป่วยว่ามีปัญหาหรือไม่ หลังจากที่ยานำส่งถึงที่บ้านแล้ว จะมีแบบตรวจสอบยาที่นำส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบยาให้อีกครั้ง และมีการสุ่มโดยทุกสัปดาห์จะมีเภสัชกรทีทำงานในส่วนปฐมภูมิลงไปนำส่งยา และเยี่ยมบ้าน ตามรอบระบบยาที่นำส่ง โดยเราได้ทำร่วมกับทีมสหวิชาชีพทั้งหมดที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ 1. ความเพียงพอ คุณภาพของวัคซีน ระบบการจัดสรรวัคซีนในแต่ละพื้นที่และระบบการบริหารจัดการวัคซีนที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้คนที่ทำงานปลายน้ำเกิดความยุ่งยากในการดำเนินงานจนบางครั้งต้องเลื่อนการฉีดวัคซีน อาจส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสน นอกจากนี้จากข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้รับวัคซีน อยากจะขอให้รพ.พัฒนาระบบการคัดกรองผู้รับบริการ ก่อนเข้ารับบริการฉีดวัคซีน ซึ่งควรมีเกณฑ์ที่สามารถดักจับและประเมินอาการทางหัวใจและหลอดเลือดได้เบื้องต้น ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังที่เข้ารับการรับวัคซีนจากรพ.ประจำที่ให้การรักษา ควรให้ทางรพ.วิเคราะห์และประเมินประวัติและอาการของผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนก่อน หากผู้ที่จะรับวัคซีน ตรวจพบอาการผิดปกติหรือรอยโรคใดๆ ควรให้ไปทำการรักษาอาการนั้นให้หายก่อนเข้ารับวัคซีน 

2. การรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องวัคซีน ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งสมุนไพรต่างๆที่ประชาชน ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาและนำมาใช้ไม่ถูกต้อง

3. ปัญหาที่ประชาชนไม่ยอมมาฉีดวัคซีน ไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีน เสพข่าวเยอะ รับรู้เยอะจนทำให้เกิดความกลัว เป็นต้น

“ส่วนตัวในฐานะที่เป็นตัวแทนชมรมเภสัชชนบทและทีมเภสัชกรหลายๆท่านไม่สนับสนุน Mix Use ควรใช้ชนิดเดียวกัน ก่อนกระตุ้นชนิดที่แตกต่างในเข็ม 3 ควรนำ Vaccine ที่เป็นmRNAซึ่งมีประสิทธิภาพมีประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์มาใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกัน และควรเร่งการจัดหาวัคซีนสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า18 ปี เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้จะเป็นอนาคตที่จะสร้างชาติต่อไป” ภญ.จันทร์จรีย์ กล่าว

นอกจากนี้ บางพื้นที่ยังมีบุคลากรเภสัชกรที่ขาดแคลน เนื่องจากบางพื้นที่บุคลากรได้ย้ายออกไปแต่ยังไม่ได้มีเข้ามาทดแทน ยังรอเรื่องของการจัดสรรบุคลากรอยู่ จึงทำให้เภสัชกรบางพื้นที่เกิดการขาดแคลนบุคลากร ในการทำงานครั้งนี้

“อยากให้เร่งการจัดสรรเภสัชกรใช้ทุนเข้ามาในพื้นที่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ควรเพิ่มปริมาณให้เพียงพอสำหรับทุกพื้นที่ ซึ่งวาระแห่งชาติตอนนี้จะเป็นในเรื่องของวัคซีน ต้องอาศัยเภสัชกรหรือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขอื่นๆ ที่อยู่ในหน้างานและเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนให้มีความปลอดภัย จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอในการเผชิญกับโควิดในครั้งนี้” ภญ.จันทร์จรีย์ กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org